รัฐประหารเพื่อปฏิรูปสื่อ…ปัจจุบันเป็นอย่างไร?

“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.5

สื่อคงป้องกันการรัฐประหารไม่ได้แต่สื่อต้องยึดมั่นในจริยธรรมและการทำหน้าที่สื่อ ไม่ควรเป็นเครื่องมือของใคร และที่สำคัญ สื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สื่อเป็นผู้สะท้อนปรากฏการณ์และบอกกับสังคมว่าทิศทางที่ถูกต้องเป็นอย่างไรสื่อต้องเป็นทั้งกระจกและเป็นทั้งตะเกียง

‘ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี’ ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มองพัฒนาการสื่อผ่านยุคสมัย 15 ปี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฐานะหนึ่งในผู้ร่วมยกร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 หรือ Thai PBS ภายใต้เจตนารมณ์เพื่อสร้างสื่อที่ปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุน เป็นไปได้จริงแค่ไหน และมองความท้าทายของสื่อในยุคปัจจุบันอย่างไร?

เสรีภาพสื่อถูกคุกคาม ถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง

ชวรงค์ ในฐานะสื่อมวลชนอาวุโส ผ่านร้อนผ่านหนาว เหตุการณ์ทางการเมืองมาหลายสมัยเล่าให้เราทราบถึงบรรยากาและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนช่วงก่อนรัฐประหาร ปี 2549 ว่าในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ชวรงค์ มีบทบาทในองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” หรือ ในปัจจุบันก็คือ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” นั่นเอง ผ่านไป 15 ปี ในวันนี้ชวรงค์ ยังเป็นประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คนแรก หลังจากมีการเปลี่ยนชื่อและบทบาทขององค์กร

สมัยนั้นมีความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะแทรกแซงสื่ออยู่ตลอดเวลา

ชวรงค์ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์กรวิชาชีพอื่น ที่ในสมัยนั้นมีเพียงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์ไทยเท่านั้น ได้มีความร่วมมือเพื่อดูแลการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของสื่อ โดยบรรยากาศก่อนการรัฐประหาร มีความขัดแย้งและการชุมนุมกันมาต่อเนื่อง และพบว่ามีความพยายามจากผู้มีอำนาจในการใช้สื่อของรัฐให้เป็นประโยชน์แก่รัฐบาล 

ก่อนรัฐประหาร ปี 2549 พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เป็นกฎหมายสื่อที่ไม่ได้นำมาบังคับใช้เต็มที่ เนื่องจากมีผลที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลในขณะนั้นก็ยังมีการนำบางมาตรามาใช้ เพื่อข่มขู่สื่อที่นำเสนอข่าวในทางไม่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลด้วย และที่สำคัญคือรัฐบาลทักษิณ ขณะนั้นยังใช้อำนาจทางการเงิน ผ่านการควบคุมดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่มีเม็ดเงินลงโฆษณาในสื่อต่าง ๆ มีการแทรกแซงว่าสื่อใดที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ ทำให้มีหลายแห่งประสบสภาวะทางการเงิน อันเป็นการถูกจำกัดเสรีภาพสื่อในอีกทางด้วย

หรือแม้กระทั่งสื่อโทรทัศน์เอง อย่างสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในสมัยนั้น ก็ยังถูกแทรกแซงจากรัฐบาล เนื่องจากเอกชนรายนี้ เป็นคู่สัญญากับรัฐ จึงมีความพยายามใช้อำนาจกดดันผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในการพิจารณาต่อสัญญา หรือกดดันไปยังเอกชน และเนื่องจากคะแนนความนิยมของช่องนี้จึงถูกแทรกแซงมาโดยตลอดตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านั้นอีกด้วย

‘สื่อ’ กลับมีเสรีภาพมากขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ? 

การจำกัดเสรีภาพสื่อ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะรัฐประหารหยิบยกมาเป็นเหตุแห่งการยึดอำนาจ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แทบจะไม่มีการแตะต้องสื่อหนังสือพิมพ์อีกเลย เนื่องจากรัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีความระมัดระวังอย่างมากในการจำกัดเสรีภาพสื่อ เนื่องจากเป็นประเด็นที่คณะรัฐประหารกล่าวหาไว้ต่อรัฐบาลชุดที่แล้วตั้งแต่ต้น

ในแง่ของการพิจารณาแก้ไขกฎหมายผ่าน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ชวรงค์ กล่าวว่าถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก สำหรับ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เพราะเป็นกฎหมายซึ่งเป็นที่มาของการจำกัดเสรีภาพสื่อ และมีความพยายามแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่กลับมาแก้ไขได้ในรัฐบาลซึ่งมาจากการยึดอำนาจ ที่มีแนวโน้มว่าจะสนใจเรื่องเสรีภาพของสื่อน้อยที่สุด

และนำมาสู่กฎหมายใหม่ที่เรียกว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดของการทำสื่อหนังสือพิมพ์อย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัทสื่อที่ต้องการทำหนังสือพิมพ์ ต้องไปขอใบอนุญาตการพิมพ์จากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสันติบาล นั่นหมายความว่าหนังสือพิมพ์ใดที่วิพากษ์วิจารณ์ การขอใบอนุญาตก็เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่กฎหมายนี้ทำให้เมื่อบริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วน หน่วยงานมีหน้าที่รับจดแจ้งเท่านั้น

สื่อสาธารณะกับความคาดหวังของสังคม

โอกาสของการปฏิรูปและพัฒนาสื่อจึงเกิดขึ้น วงการวิชาชีพสื่อมีความเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมี “สื่อสาธารณะ” เป็นของตัวเองโดยปราศจากการแทรกแซง และการคุกคามของผู้มีอำนาจ รวมถึงกลุ่มทุนที่จะกำกับทิศทางของการนำเสนอ ประกอบกับได้มีงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นหัวหน้าโครงการ

ขณะเดียวกัน เวลานั้นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ประสบปัญหาทางด้านการเงิน จึงไม่ได้เป็นคู่สัญญาต่อกับรัฐ และทำให้มีคลื่นโทรทัศน์เหลืออยู่ และได้รับการบริหารจัดการโดยภาครัฐเอง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ทีไอทีวี” แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องนโยบายการจัดการที่ไม่เชี่ยวชาญ รัฐบาลก็ยังขาดประสบการณ์ว่าจะจัดการอย่างไรกับสถานีโทรทัศน์ที่ดูแลอยู่ว่าจะมีบทบาทอย่างไร 

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้เริ่มยกร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS ขึ้น และได้รับการศึกษารูปแบบ โครงสร้างการบริหาร การประกอบธุรกิจสื่อ และแหล่งเงินทุนว่าจะเข้ามาสนับสนุนให้เป็นอิสระได้อย่างไร จนได้ข้อสรุปว่าจะเป็นเงินจากภาษีรายปี จากภาษีสุราและยาสูบนั่นเอง คลื่นโทรทัศน์ที่ยังเป็นทีไอทีวีอยู่นั้น จึงได้เปลี่ยนมาเป็น Thai PBS ในปัจจุบัน 

ชวรงค์ เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญฯ ในครั้งนั้นเปิดเผยว่าผ่านมา 15 ปี Thai PBS ส่วนใหญ่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจเพื่อให้มีสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระ แต่ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จนักในเรื่องของการสร้างข่าวเชิงสืบสวน เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่เรื้อรัง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า Thai PBS ไม่ทำ แต่เป็นเรื่องความคาดหวังของสังคมที่ต้องรวดเร็ว ทันใจ ต่อการติดตามข้อมูลข่าวสาร

และสิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับกฎหมาย ที่ยังเป็น “องค์กรของรัฐ” ทำให้มีข้อขัดข้องบางประการ เนื่องจาก Thai PBS เป็นองค์กรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และที่สำคัญคือ ผู้บริหารสถานี ตลอดจนกรรมการนโยบาย ก็จำเป็นต้องทำงานให้มากขึ้นในแง่ของการทำความเข้าใจ แม้จะมีอิสระในทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย เพราะเมื่อการเมืองแทรกแซงไม่ได้ ผู้มีอำนาจก็อยากจะแทรกแซง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันมากแค่ไหน 

ความท้าทายของสื่อในยุคปัจจุบัน

ชวรงค์ เล่าว่า “ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง” จากสถานีโทรทัศน์ เพียง 5 ช่อง ก็เพิ่มมากกว่า 20 ช่อง ช่องทางโซเชียลมีเดีย และการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ พฤติกรรมในการบริโภคสื่อจึงเปลี่ยนแปลงตาม สื่อในยุคปัจจุบันนี้จึงต้องมีการปรับตัว เพื่อตอบสนองผู้บริโภคในช่วงวัยที่ต่างกัน สร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ช่วยตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้กับผู้ชมได้ นี่คือโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย

ในยุคที่การเมืองเข้มข้น และเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง สื่อบางแห่ง อาจถูกสังคมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ชวรงค์ มองว่าสื่อที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นของตัวเอง เลือกข้างว่าต้องยืนฝ่ายใด ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหา และไม่ใช่ส่วนหนึ่งที่จะสร้างความแตกแยก หากแต่สื่อที่ไม่ยึดมั่นในหลักจริยธรรม และตีความจริยธรรมเข้าข้างตนเองต่างหากที่จะสร้างความขัดแย้งในสังคม

และในฐานะที่ชวรงค์มีบทบาทในองค์กรวิชาชีพ จึงอยากขอสื่อสารถึงผู้บริโภคสื่อในสังคมว่า แม้องค์กรวิชาชีพจะดูแลสื่อมวลชนด้วยกันเองในระดับหนึ่ง ตัดสินในการทำหน้าที่ว่าถูกหรือผิดต่อกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แต่สิ่งนี้จะไม่มีความหมายใดเลย หากสังคมยังสนับสนุน ในยุคปัจจุบันสังคมต้องมีพัฒนาการ เพื่อรู้เท่าทันสื่อ และสามารถใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง

สื่อจะช่วยป้องกันรัฐประหารได้ไหม ?

ชวรงค์ ตอบว่า “สื่อต้องเป็นทั้งกระจกและตะเกียง” คือสะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่บิดเบือน ไม่ตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้งโดยเป็นเครื่องมือของกลุ่มใด ในขณะเดียวกันต้องบอกกับสังคมว่าทิศทางที่ถูกต้องเป็นอย่างไร การทำหน้าที่ของสื่อก็ต้องมีการยกระดับ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะสื่อมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากกว่าการประกอบธุรกิจนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้