ถอดบทเรียน sandbox ระบบสุขภาพ กทม.

โจทย์ยาก : เชื่อมโยงประวัติคนไข้จาก ‘ปฐมภูมิ’ สู่ ‘ทุติยภูมิ’

“นครชัยศรีคลินิกเวชกรรม” เขตดุสิต กทม. เป็น “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ที่มีคนไข้มามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 70 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง

คนไข้หลายพันคนที่มีบันทึกการรักษาอยู่ที่คลินิกนี้ ยังถูกเก็บข้อมูลผ่าน เวชระเบียนหรือสมุดบันทึกประวัติการรักษาของคนไข้ ที่ยังต้องถูกบันทึกลงในแผ่นกระดาษ  และไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในพื้นที่ sandbox ระบบสุขภาพกทม. ในโซนของ “ดุสิตโมเดล” ได้ ทำให้การส่งตัวคนไข้ที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ต้องใช้เวลานัดหมายไม่ต่ำกว่าหนึ่งสัปดาห์

โดยทั่วไป “คลินิก” ถือเป็น “หน่วยบริการปฐมภูมิ” แพทย์ที่ประจำเป็นแพทย์อายุรกรรม หรือ หมอทั่วไป การรักษาที่เกินขอบเขตจะประสานส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง ที่อยู่โรงพยาบาล ซึ่งเป็น ‘หน่วยบริการทุติยภูมิ’ เพื่อที่จะปรับยารักษา ตรวจเลือด ตรวจแล็บที่พิเศษต่างจากที่คลินิกมี 

จากนั้นจะมีการส่งกลับ หรือ Refer Back มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีการส่งต่อไปมาเช่นนี้ ในสถานการณ์จริง ขั้นตอนการส่งตัวค่อนข้างลำบาก

“เราทำใบส่งตัวไม่นานหรอกค่ะ แต่การนัดที่มีคนเยอะ ต้องมา 1 ครั้ง ที่คลินิกแล้วก็ต้องไปที่โรงพยาบาลอีก 1 ครั้ง ถ้ามีการเลื่อนนัด ก็คือคนไข้ก็ต้องกลับมาอีก แล้วก็ไปที่โรงพยาบาลอีกรอบ” 

ธัญญารักษ์ ยุทธศักดิ์คำแหง ผู้จัดการคลินิก นครชัยศรีคลินิกเวชกรรม 
รศ.พญ.สว่างจิต สุรอมรกูล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล พูดคุยกับ ธัญญารักษ์ ยุทธศักดิ์คำแหง ผู้จัดการคลินิก นครชัยศรีคลินิกเวชกรรม  ถึงการใช้แอปพลิเคชั่น V-Refer เพื่อเชื่อมข้อมูลการรักษา

เพื่อไม่ให้หน่วยบริการปฐมภูมิต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรก ที่คณะแพทย์จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล สังกัด กทม. ลงพื้นสำรวจถามความต้องการในฐานะ “เพื่อนร่วมวิชาชีพ” และพยายามนำแอปพลิเคชัน V-Refer มาแก้ปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลไม่ยังไม่ถึงกัน

รศ.พญ.สว่างจิต สุรอมรกูล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล  อธิบายว่าระบบ V-Refer จะเป็นตัวช่วยหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อดึงข้อมูลจากระบบปฏิบัติการของเขา เพื่อจะส่งไปที่วชิรพยาบาล ว่าที่ทางคลินิกปฐมภูมิส่งคนไข้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล นั้นมีประวัติการรักษาเป็นอย่างไร ได้รับยาอะไรอยู่บ้าง และเมื่อไปรักษาที่วชิรพยาบาลแล้ว Refer back ส่งตัวกลับมาในระบบ V-refer คลินิกปฐมภูมิก็จะเห็นข้อมูลว่า ที่โรงพยาบาลรักษาอะไรไปบ้าง 

“เราจะเห็นข้อมูลซึ่งกันละกัน ประโยชน์สูงสุดก็จะตกอยูกับคนไข้ว่ารักษาอะไรจากทั้ง 2 ทาง จะติดตามการรักษาอย่างไรต่อ จะทำอะไรต่อบ้าง” 

พญ.สว่างจิต กล่าว

แต่จนถึงเวลานี้แม้ในพื้นที่นำร่องปฏิรูประบบสุขภาพ กับความพยายามให้การเชื่อมต่อข้อมูลออนไลน์ก็ยังไม่ถึงกับสมบูรณ์ 100% 

สำหรับ Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. ที่เริ่มต้น 2 แห่ง คือ “ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์” กับ “ดุสิตโมเดล” ครอบคลุม 9 เขตจาก 50 ใน กทม.เป็นเพียงการนับหนึ่งปฏิรูประบบสาธารณสุข กทม. เท่านั้น ปัญหาทุกวันนี้คือ คนกรุงเทพฯ ยังเข้าถึงบริการสาธารณสุข น้อยกว่า คนต่างจังหวัดครึ่งต่อครึ่ง แม้จะมีทรัพยากรที่มากกว่า 

อย่างไรก็ดี สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ยอมรับตรงไปตรงมาว่าหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีอยู่เกือบ 300 แห่งนั้น ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งหากจะบริการให้ทั่วถึงกับประชากรทั้งหมด จะต้องมีหน่วยบริการปฐมภูมิมากกว่า 700 แห่ง และยังต้องหาโรงพยาบาลแม่ข่ายใน 6 โซนทั่ว กทม. เพื่อการส่งต่อการรักษาด้วย 

จากแผนที่จะเห็นเลยว่าโรงพยาบาลรัฐ (จุดสีแดง) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใจกลางเมือง และโดยเฉพาะโซนกรุงเทพเหนือ ไม่มีโรงพยาบาลสังกัด กทม. อยู่เลย (รพ.ภูมิพล สังกัด กองทัพอากาศ, รพ.ราชทัณฑ์ อยู่ในเรือนจำคลองเปรม) 

นอกจากโรงพยาบาลแล้ว หน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุข69 (จุดสีเขียว) จากแผนที่จะพบว่า โซนกรุงเทพตะวันออก มีศูนย์บริการสาธารณสุข ค่อนข้างเบาบาง แต่ประชากรบริเวณนั้นก็เบาบางกว่าใจกลางเมืองเช่นกัน 

เช่นเดียวกับ คลินิกชุมชนอบอุ่น ที่รับสิทธิ์บัตรทอง (จุดสีฟ้า) ในโซนกรุงเทพตะวันออก ก็เบาบางเช่นกัน ขณะที่ยังพบกรณีผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองนอกเขตกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถใช้สิทธิ์รักษาในคลินิกปฐมภูมิ พื้นที่ กทม.ได้ แม้สปสช.จะบอกว่าสิทธิ์บัตรทองรักษาได้ทุกที่ อีกด้วย 

ครบ 100 วันของการปฏิรูประบบสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร หลังจากที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ชนะการเลือกตั้ง 1.3 ล้านเสียง ได้ประกาศเจตจำนงรื้อระบบสุขภาพ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง กับคีย์เวิร์ดที่เป็นเป้าหมายสำคัญ 

“ประชาชนในกรุงเทพมหานคร จะต้องเข้ามาใช้บริการสาธารณสุข ได้ในคลินิกปฐมภูมิใกล้บ้าน หากเกินขีดความสามารถ จะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทุติยภูมิทันที” 

แม้เป้าหมายดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่า ยังไม่เกิดขึ้นทั่วกรุงแบบพลิกผ่ามือ แต่หลังจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา 7 ชุด ขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิว่าจะสามารถ ปฏิรูประบบสุขภาพกรุงเทพมหานครได้หรือไม่โดยอาจจะเริ่มต้นจากการเชื่อมต่อข้อมูลจากหน่วยบริการ ‘ปฐมภูมิ’ ไปยัง ‘ทุติยภูมิ’ ให้ได้ก่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS