“คนจนข้ามรุ่น” จากชีวิต “คำผ่อง” ถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ก้าวให้พ้นความจนดักดาน

  • ครอบครัวของ “คำผ่อง โยธาราช” เป็นหนึ่งในตัวละครที่ปรากฏในสารคดีชุด “คนจนเมือง” เล่าเรื่อง “คนจนข้ามรุ่น” ของชาวบ้านบะไห ในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตัวละครที่มีอยู่จริงของหญิงสูงวัยที่ต้องดูแลสามีป่วยติดเตียง และหลาน ๆ อีก 8 ชีวิต นั่นหมายความว่าหญิงวัย 66 ปี คนนี้ ต้องดูแลคนในบ้านทั้งหมด 9 คน
  • ภาระพึ่งพิงทั้ง 9 ชีวิต “คำผ่อง” ใช้ได้เพียงแรงกายเพื่อดูแลพวกเขา แต่ไม่สามารถออกไปหาเงินได้เองเหมือนในอดีต “ลูก ๆ ของเธอ” จึงเป็นผู้ทำหน้าที่นั้นแทน ต้องอยู่ไกลบ้านเพื่อใช้แรงกายแลกเงิน ส่งกลับมาใช้จ่ายเลี้ยงดูพ่อของพวกเขาและหลาน ๆ ของคำผ่อง แต่ละเดือนไม่มากมายนัก เพราะวิกฤตโควิด-19 ที่ซ้ำเติม จากที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว วิกฤตนี้จึงกระทบถึงทุกชีวิตไปด้วย
  • การปรากฏคำว่า “คนจนข้ามรุ่น” ใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนยังคงมีรูรั่วใหญ่ จำนวนคนจนที่ลดลง อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดของความสำเร็จ
  • ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในฐานะผู้ที่เคยถูกเชิญให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ ดังกล่าว มองว่า การที่สภาพัฒน์ ใช้คำว่า “คนจนข้ามรุ่น” สะท้อนว่ามองเห็นปัญหาที่เวียนวนและเป็นนิมิตหมายอันดี แต่เท่านั้นจะเพียงพอหรือไม่ ต่อการแก้ปัญหาความยากจน ?

“คนจนข้ามรุ่น” จากยายคำผ่อง ถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 

จากข้อมูล (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) พบว่า สิ่งที่ครอบครัวของคำผ่องเผชิญอยู่ คือ 1 ใน 512,600 ครัวเรือน หรือร้อยละ 13.5 ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก หรือหมายความว่า เรามีครอบครัวคนจนข้ามรุ่นแบบคำผ่องอยู่อีกจำนวนมากในประเทศไทย และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความยากจนอย่างเฉียบพลัน

ในปี 2563 สัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12.7 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 14.9 ในไตรมาสที่ 2 การระบาดของโควิด-19 นอกจากจะนำไปสู่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งจะส่งผลให้โอกาสของการหลุดพ้นจากกับดักความยากจนยากยิ่งขึ้นแล้ว ยังอาจจะทำให้จำนวนครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเพิ่มขึ้นด้วย

“ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น”  หน้าตาเป็นยังไง? 

ในแผนฯ ฉบับนี้ ยังมีการวิเคราะห์ลักษณะของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น พบว่าส่วนใหญ่ ไม่มีเงินออม การศึกษาต่ำ และอัตราการพึ่งพิงสูง โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม (ร้อยละ 60.3) รองลงมาคือ ความขัดสนทางการศึกษา จากการที่เด็กอายุ 6-14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับครบ 9 ปี (ร้อยละ 36.4) โดยเด็กจำนวนมากต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าเกือบร้อยละ 70 ของหัวหน้าครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น มีการศึกษาเพียงระดับประถมหรือต่ำกว่า และเมื่อพิจารณาโครงสร้างประชากรภายในครัวเรือน พบว่า อัตราส่วนการพึ่งพิงของเด็กและผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานสูงถึงร้อยละ 90 และสัดส่วนของสมาชิกวัยเรียนอายุ 6-14 ปี มีมากถึงร้อยละ 25.8 

ทั้งนี้ อาชีพของหัวหน้าครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นส่วนใหญ่ คือ อาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 55.4) รองลงมา คือ รับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 24.8) โดยกว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นอยู่ในภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 27) และภาคเหนือ (ร้อยละ 21) 

การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพของเด็ก จากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ยังจะส่งผลทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานทักษะต่ำหรือแรงงานกึ่งมีทักษะเท่านั้น  ดังนั้น เป้าหมายของการพัฒนาตามแผนฯ ฉบับที่ 13 จึงเชื่อมโยงและมุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายหลัก 2 เป้าหมาย คือ การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม สนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น ซึ่งรายละเอียดของการไปสู่เป้าหมายมีหลากหลายวิธีการช่วยเหลือ  

คนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำ
ภาพ: สารคดีคนจนเมือง ตอน “คนจนข้ามรุ่น”

การเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมของคนจนข้ามรุ่น ? 

ถ้าดูจากตัวชี้วัดของแผนฯ 13 จะเห็นว่าพุ่งเป้าไปที่ การทำให้เด็กจากครัวเรือนยากจนเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 90 มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และเด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเติบโตไปเป็นแรงงานที่มีทักษะ หรือสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และ ทุกครัวเรือนที่มีสถานะยากจนข้ามรุ่นในปี 2566 ต้องหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นภายในปี 2570 

ในมุมมองของ ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในฐานะผู้ที่เคยถูกเชิญให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าว ระบุว่า การที่สภาพัฒน์ ใช้คำว่าคนจนข้ามรุ่น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการมองเห็นปัญหาที่เวียนวนและเป็นนิมิตหมายอันดี แต่การจะแก้ปัญหาคนยากจนต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายที่เกิดขึ้นในชนบทซึ่งสลับซับซ้อน และคนจนเมืองมีความสัมพันธ์กับคนจนชนบท เพราะคนจนไม่ได้พึ่งพาภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีหลายขาทางเศรษฐกิจ ที่คนจนสร้างขึ้นมาเพื่อขยับฐานะในเมือง  

“สภาพัฒน์ หรือหน่วยงานทุกหน่วย ต้องเห็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายที่เกิดขึ้นในชนบทอย่างสลับซับซ้อน ให้ความสำคัญ เพราะเครือข่ายนี้เองที่ทำให้เขาขยับจาก เส้นความยากจน (Poverty line) มาเป็น คนเกือบจน (Near poor) ชาวนาขยับมาเป็นผู้ประกอบการและไปทำงานในเมือง สะสมทุนมาใช้ในภาคการเกษตร มีงานวิจัยในโลกมากมายมหาศาล ที่พูดถึงว่าการสนับสนุนผู้ประกอบการ  จะกลายเป็นหนทางลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน”

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ศาสตราจารย์อรรถจักร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการในชนบทเกิดขึ้น จากความเปลี่ยนแปลงในชนบทตั้งแต่ปี 2540 ชาวนาสามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อ แหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและเริ่มผันตัวเองจากชาวนากลายเป็นผู้ประกอบการนาจ้างเกือบ 100% ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ประกอบการอื่น ๆ ร่วมในการผลิต เช่น รถไถ รถเกี่ยวฉีดยา นอกจากนี้คนจนในชนบทไม่ได้ยึดอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว เขายังไหลบ่าเข้าสู่การทำงานในเมืองไปเป็นผู้ประกอบการในเมือง ในนามคนหาบเร่แผงลอย สะสมทุนในภาคนี้เพื่อมาทำการเกษตร ทั้งหมด คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นโดยการสร้างสรรค์ของพี่น้องคนจน ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจนในเมืองและชนบทด้วย ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการที่จะเข้าใจวิถีชีวิตที่พัฒนาขึ้นอย่างมีพลังสร้างสรรค์ร่วม 20 – 30 ปี  หากไม่ถอดบทเรียนหรือไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงจุดนี้ ก็จะตกบ่วงกับดักความจนไปอีกนาน 

เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมองดูการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปของคนจน จะพบว่า บ่วงกับดักไม่ใช่ศักยภาพส่วนบุคคลของการเลื่อนสถานะ แต่คือโอกาสที่รัฐหยิบยื่นให้ไม่ตรงจุด และยังเบียดขับคนจนที่พยายามขยับฐานะให้จนมุม รวมถึงระบบคิดที่หยั่งรากฝังลึก ว่าการหลุดพ้นความจนขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคลไม่ใช่ปัญหาในระดับโครงสร้าง   

“บนกระบวนการฝังรหัสหมายว่าคนจนสกปรก ขี้เกียจ หาบเร่แผงลอยทำให้เมืองสกปรก การฝังรหัสหมายที่ใส่ลงไปมันก็เข้าไปสู่แผนนโยบายของรัฐ เช่น ถ้ามีแผงหาบเร่แผงลอยก็เขี่ยออกไปเพื่อทำให้เมืองสวยงาม กระบวนการนี้มันดำเนินตลอดตั้งแต่เรามีแผนพัฒนาฯ เป็นต้นมา วิธีคิดแบบนี้ฝังแน่นมาก ทำให้ทุกนโยบายพี่น้องมีโอกาสเลื่อนชนชั้นยากมาก พี่น้องสลัมคนจนเมืองรุ่นแรก เข้ามาอยู่กรุงเทพมหานคร ก่อนปี 2510 สามารถขยับตัวเองขึ้นมาได้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย แต่เมื่อเริ่มขยายเมือง ก็บีบทำให้คนจนเมืองในรุ่นถัด ๆ มาขยับตัวไม่ได้ การหากินในเมืองถูกปิดมากขึ้น สุดท้ายไปไม่รอด กลับไปบ้านของตัวเองจะไปทำอะไร ในเมื่อที่ดินก็ไม่มี”

ความจนข้ามรุ่น คนจนเมือง
ภาพ: สารคดีคนจนเมือง ตอน “คนจนข้ามรุ่น”

ศาสตราจารย์อรรถจักร์ ยังหวังว่า  การนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวคำผ่อง คนจนข้ามรุ่น จะกระตุกเตือนคนในสังคมให้มองเห็นชีวิตร่วมของคนในสังคม ว่าคนจนไม่ได้ขี้เกียจ พยายามต่อสู้ชีวิตทุกอย่าง เพียงแต่ว่าโครงสร้างล้มเหลว และขึ้นอยู่กับเส้นแบ่งสังคมที่มองไม่เห็น  การสงสารสงเคราะห์รายบุคคลแม้จำเป็น แต่ชนชั้นกลางที่สงสารควรตระหนักว่า นี่เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ต้องร่วมกันคิดว่าจะแก้ปัญหาโครงสร้างการถือครองที่ดินอย่างไร จะเอื้อประโยชน์ต่อคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างไร  จะกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร 

“ในหมุดหมายที่ 9 แผนพัฒนาฯ ซึ่งพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มสำรวจคนจนที่อยู่ 40% ล่างที่จนลงอยู่ตรงไหน ชีวิตเขาทำอะไรบ้างที่ผ่านมา ดีขึ้น เลวลงกี่เปอร์เซนต์ สนับสนุนบนฐานที่เขาปรับตัวสร้างสรรค์ขึ้นมา ถ้าสภาพัฒน์เริ่มต้นที่ความเหลื่อมล้ำและกระจายดี ๆ ศึกษาระดมคนมาช่วยกัน สภาพัฒน์ จะเป็นกลไกสำคัญที่สร้างอนาคตในสังคมไทย”

ท้ายที่สุดในทัศนะของนักวิชาการอาวุโสเชื่อว่า หากคนจนมีโอกาสเลื่อนสถานะ ความหวังความฝัน ความปรารถนาในชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนไปด้วย และแน่นอน พวกเขาต้องการความมั่นคง ความปลอดภัย และการเติบโตในชีวิตเช่นเดียวกับทุกคน เพื่อส่งต่อชีวิตที่มีคุณค่าให้บุตรหลานของพวกเขาเอง 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส