“ความจนมันร้าย” ส่งต่อข้ามรุ่นยากหลุดพ้น

ปัญหาความยากจนจะจบลงที่ตรงไหน?

ปีแล้วปีเล่า ที่มีการประกาศว่าความยากจนของคนไทยจะมาถึงคราวสิ้นสุด แต่ภาวะนั้นยังไม่เคยมาถึง 

ท่ามกลางสรรพเสียงที่ปะทะกันไปมา เสียงแผ่วเบาของครอบครัวหนึ่งฉายให้เห็นภาพแทนของความยากจนข้นแค้นที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นบนผืนแผ่นดินไทย

ไร้สถานะ ไร้สิทธิ ต้องไร้อนาคต?

หากชีวิตเกิดมาแล้ว ยากจน – ลำบาก ทุกคนล้วนคาดหวังให้คนรุ่นหลังก้าวไปได้ไกลกว่าตนเองเสมอ 

“มีปัญญาส่งลูกตัวเองได้เรียนแค่ ป.6 เพราะไม่มีบัตรประชาชนไทย รุ่นหลานอยากให้เรียนสูงกว่าพ่อแม่”

นั่นคือความปรารถนาของ ‘แม่คำผ่อง’ และ ‘พ่อสมยงค์’ คู่สามีภรรยาชาวลาวหนีภัยความตายจากการสู้รบภายในประเทศเดินทางข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาทำมาหากิน ณ หมู่บ้านบะไห ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2518 ลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน

ลูกหญิงชายทั้ง 4 คน เกิดและเติบโตบนแผ่นดินไทย แต่มีสถานะเป็นเด็กไร้สัญชาติมาโดยตลอด สิทธิในฐานะพลเมืองถูกจำกัดด้วยชาติกำเนิดและฐานะทางการเงินของครอบครัว 

ในรุ่นของของ ‘แม่คำผ่อง’ และ ‘พ่อสมยงค์’ หลังออกจากศูนย์พักพิงลาวอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี นับจาก พ.ศ. 2520 – 2550  เป็นช่วง 30 ปีของการเดินทางรับจ้างเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ มีลูกเล็กก็พาไปด้วย  “การรับจ้างแรงงานเป็นอาชีพเดียวที่ทำมาตลอดชีวิต” ทำงานหนักมาก นอกจากรับจ้างดำนา ดายหญ้า เก็บมันในพื้นที่แล้ว จะมีนายหน้าพา “แรงงานลาวอพยพ” ไปค้าแรงต่างถิ่น 

ทั้งคู่เคยผ่านการขายแรงงานรับจ้างตัดอ้อย ที่จังหวัดแพร่ ได้ค่าจ้าง 2 มัดได้ 1 บาท (1 มัด มีอ้อยจำนวน 100 เล่ม) นั้นแปลว่า ต้องตัดอ้อยจำนวน 200 เล่ม จึงจะได้เงิน 1 บาท ทำราว 2 เดือน ก็กลับมารับจ้างก่อสร้างในเมืองอุบลราชธานี เคยขายแรงงานฟาร์มไก่ ที่จังหวัดชลบุรี ไปเก็บดอกฝ้ายที่ จังหวัดกำแพงเพชร จนกระทั่งแม่คำผ่องมีลูกคนที่ 4 ก็เริ่มให้พ่อสมยงค์เดินทางคนเดียวไปรับจ้างเก็บเมล็ดกาแฟ ที่เขาทะลุ จังหวัดชุมพร การออกไปขายแรงงานต่างพื้นที่ ได้ค่าแรงน้อยมาก เสี่ยงถูกจับเพราะมีสถานะเป็นลาวอพยพ และด้วยเหตุนี้ ถ้าคนไทยได้ค่าแรง 200 บาทต่อวัน แรงงานลาวอพยพจะได้แค่ 150 บาทเท่านั้น

เพราะครอบครัวของแม่คำผ่องไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เมื่อลูกทั้ง 4 คน คือ ‘จินตนา’ ‘พระมหาวาทะชัย’ ‘ศุภชัย’ และ ‘พัทยา’ เรียนจบชั้น ป.6 พวกเขาก็ต้องจากบ้าน เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ เพราะหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ ไร้งาน ไร้เงิน ลูกของแม่คำผ่องจึงต้องออกเดินทางเข้าหาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็น “คนจนเมือง” ขายแรงงานไม่ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ 

พวกเขาทั้ง 4 คนคือ “ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น” หนึ่งในกลุ่มเด็กไร้สัญชาติที่พ่อแม่เป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การหนีภัยสู้รบ หรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศต้นทาง ฯลฯ สถานะเข้าเมืองที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่ส่งผลให้เด็กทั้งสี่คนตกอยู่ในช่องว่างของการพิสูจน์สิทธิในสถานะทางกฎหมาย หรือ สัญชาติกับประเทศต้นทางของบิดามารดา รวมทั้งไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดน แม้ว่าเด็ก ๆ จะเกิดในประเทศไทยก็ตาม

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบุคคลไร้สัญชาติมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ระบุว่า จำนวนคนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอยู่ราว 539,696 คน ยังไม่รวมเด็กไร้รัฐ อีกกว่า 90,000 คน รวมทั้งลูกของแรงงานข้ามชาติที่ไม่อาจทราบจำนวนได้

รายงาน ‘ชีวิตที่ไม่มีใครเห็น: 48 ปี สถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย (2515 – 2563)’  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Ending Child Statelessness in Thailand: Developing an Accelerated Nationality Review Model through Research and Empowerment of Stakeholders โดยศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เสนอว่า ปัจจุบันกฎหมายและนโยบายของไทยยังมีพบข้อจำกัดบางประการที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในชีวิตของเด็ก เช่น การกำหนดให้เด็กไร้สัญชาติต้องเรียนจบปริญญาตรีจึงจะมีสิทธิขอสัญชาติไทย ปัญหาทัศนคติต่อบุคคลไร้สัญชาติ การใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตของกฎหมาย ทำให้ยังคงมีเด็กไร้สัญชาติที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ หรือหากเข้าถึงกลไกการรับรองสิทธิก็เป็นไปอย่างล่าช้า เช่นเดียวกับลูกของแม่คำผ่องที่เพิ่งได้รับสัญชาติเมื่อ 3 ปีก่อน

สาแหรก ‘คนจนข้ามข้ามรุ่น’ ตัวอย่าง ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’

“มีลูก 4 คน หลาน 8 คน เขาเอามาให้เลี้ยง ลูกคนโตก็มีลูก 4 คน ลูกคนรอง มีลูกคนหนึ่ง ลูกสาวคนที่สาม ก็มีลูกอีก 3 คน ยายก็เคยบอกลูกอยู่ว่า ‘เอามาทำไมเยอะจังเรายิ่งจนอยู่’ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ในเมื่อได้มาแล้ว”

แม่คำผ่องกล่าวอย่างลำบากใจ มองไม่เห็นหนทางว่าชีวิตจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร ท่ามกลางข้อจำกัดมากมายที่กดทับตนเองและครอบครัวอยู่ 

คนจนข้ามรุ่น

ถ้านับ “แม่คำผ่อง” และ “พ่อสมยงค์” เป็นรุ่นแรก ลูกทั้ง 4 คน เป็นคนรุ่นที่สอง และหลานอีก 8 คนเป็นรุ่นที่สาม ชีวิตของครอบครัวนี้ ภาษาอีสานเรียกว่า “ครอบครัวแหว่งกลาง” ไม่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านแถบนี้ ที่มีแต่คนแก่และเด็ก ๆ อาศัยอยู่ด้วยกัน คนวัยหนุ่มสาวออกจากบ้านไปทำงานในเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน

‘จินตนา’ ลูกสาวคนโต อายุ 38 ปี ทำงานร้านอาหารที่ จังหวัดชลบุรี แต่งงานแล้ว มีลูก 4 คน คือ (1) ด.ช.ดบัสวิน หรือ ‘พระโก้’ เกิดปี 2549 อายุ 15 ปี จบ ม.3 โรงเรียนโขงเจียม ปัจจุบันบวชเรียนที่วัดสนมหมากหญ้า อำเภอเขมราฐ (2) ด.ญ.อิสริยาภรณ์ เกิด 2551 อายุ 13 ปี ม.2 โรงเรียนโขงเจียม (3) ด.ญ.บุญญาธิกา เกิด 2554 อายุ 10 ปี เรียนอยู่ ป.5 รร.บ้านบะไห (4) ด.ช. กฤษณะ กุกะสอน เกิด 2558 อายุ 6 ปี  อยู่อนุบาล 3 โรงเรียนบ้านบะไห  จินตนาส่งลูกทั้งสี่คนมาให้แม่ผ่องเลี้ยง โดยส่งเงินมาเดือนละ 3,000 – 4,000 บาท  แต่ช่วง 2 ปีหลังที่มีสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ส่งเงินมาเพียง 2,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

‘พระมหาวาทะชัย’ ลูกคนที่สอง – ลูกชายคนโต อายุ 35 ปี ก่อนบวชนั้นเข้าไปทำงานรับจ้างทุกอย่างในกรุงเทพฯ แต่งงานกับสาวชาวลาว มีลูกชาย 1 คน หย่าร้างแล้วและลูกชายอยู่กับแม่ที่เมืองคงเซโดน ประเทศลาว หลังจากหย่าร้าง เดิมจะบวชเพื่อความสงบชั่วคราว แต่ปัจจุบันผ่านมาได้ 8 พรรษา บวชที่วัดบะไห เคยไปจำพรรษาที่โคราช ประมาณ 2 ปี แล้วมาเรียนบาลี ที่วัดสนมหมากหญ้า อำเภอเขมราฐ เดิมเมื่อครั้งจำพรรษาที่โคราช มีกิจนิมนต์ ได้ปัจจัยมาจุนเจือพ่อแม่บ้าง แต่ปัจจุบันไม่มีเลย เพราะพระที่จำวัดอยู่ด้วยกันจำนวนกว่า 100 รูป ทำให้พระวาทะชัยไม่ได้รับกิจนิมนต์เลย

ศุภชัย ลูกชายคนเล็ก อายุ 33 ปี ทำงานรับจ้างกรีดยาง ที่ปักษ์ใต้ (แม่ผ่องจำจังหวัดไม่ได้) แต่งงานแล้ว 2 ครั้ง เมียคนแรก มีลูกชาย 1 คน ลูกอยู่กับแม่ แต่งงานเมียคนที่ 2 ปัจจุบันทำงานกรีดยางด้วยกัน มีลูกสาว 1 คน คือ ดญ.พนิดา ส่งมาให้แม่ผ่องเลี้ยง ขณะนี้ เรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านบะไห ด้วยรายได้ที่จำกัด ศุภชัยจึงไม่เคยส่งเงินกลับมาบ้านเลย 

‘พัทยา’ ลูกสาวคนเล็กสุดท้อง อายุ 30 ปี ทำงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่จังหวัดชลบุรี แต่งงานแล้ว 2 ครั้ง กับสามีคนแรก มีลูกชาย 2 คน คือ (1) ด.ช.ภาคิน เกิดปี 2557 อายุ 7 ปี และ (2) ด.ช.ชัยมงคล เกิดปี 2559 อายุ 5 ขวบ ทั้งสองคนเรียนที่โรงเรียนบ้านบะไห ชั้น ป.2 และอนุบาล 2  การแต่งงานกับสามีคนที่ 2  มีลูก 1 คน คือ ด.ญ.นภาลัย เกิดปี 2564 อายุ 8 เดือน ลูกทั้ง 3 คน พัทยาส่งมาให้แม่ผ่องเลี้ยงดู โดยส่งเงินมาให้เดือนละ 3,000 บาท ระยะหลังสถานการณ์โควิด เงินที่ส่งมาก็ลดลงบ้างบางเดือน

คนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำ

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ “ยายก็คิดไม่ออกเหมือนกัน อาจจะจนไปตลอดชีวิตของยายนั่นแหละ” แม่คำผ่องยอมจำนนกับสภาวะการส่งต่อความจนที่เกิดขึ้น

ภาพตัวแทน “ครัวเรือนเปราะบาง” ร่วงหล่นจากตาข่ายความช่วยเหลือ

แม่คำผ่องใช้จ่ายเงินที่ลูกส่งมาให้เฉลี่ยเดือนละ 5,000 – 6,000 บาท สำหรับเลี้ยงชีพ 9 ชีวิต (หลานชายคนโต – เณรโก้ บวชเรียนไม่ต้องดูแล) ค่าใช้จ่ายหลักคือการซื้อข้าวสารเดือนละ 2 กระสอบ ค่าขนมหลาน ๆ ไปโรงเรียน หลานคนที่เรียนมัธยมได้ 60 บาทต่อวัน หลานที่เหลือเรียนอนุบาลถึงประถมได้ค่าขนม 10 บาทต่อวัน เพราะมีข้าวกลางวันกินที่โรงเรียน เงินที่เหลือก็เป็นค่ากับข้าว นาน ๆ จะซื้อขนมให้หลานกิน หากเงินไม่พอจะขอหยิบยืมเพื่อนบ้าน พอให้มีใช้เดือนชนเดือน และเมื่อลูกส่งเงินมาให้ก็รีบนำไปใช้คืน หากจะให้อยู่ได้ ไม่ลำบากมากนัก คือ 10,000 บาทต่อเดือน  

แม่คำผ่องและพ่อสมยงค์ ถือบัตรประชาชนไทยสถานะบุคคลหมายเลข 0 เพิ่งได้มาราว 2-3 ปี ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐไทยได้เลย นอกจากสวัสดิการสุขภาพและการรักษาพยาบาล

การเลี้ยงเด็กวัยกำลังโต 8 คนไม่ใช่งานง่าย ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบของใครก็ตาม แต่ครอบครัวของแม่คำผ่องต้องประสบกับอีกปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมให้หนักหนาขึ้นไปอีก เมื่อพ่อสมยงค์เส้นเลือดในสมองแตก เนื่องจากไม่ได้กินยาลดความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง

“ตอนโควิดมาระลอกแรก ผมกลัว ไม่ได้ไปโรงพยาบาลเอายามากิน ก็เลยขาดยาทำให้เส้นเลือดในสมองแตก นอนติดเตียง 6 เดือน 7 เดือนแล้ว เริ่มรำคาญและลำบากแล้ว” 

“ผมไม่ใช่คนขี้เกียจคร้าน ยายก็ติดเลี้ยงหลาน ผมก็นอนอยู่บนเตียง ลำบาก ผมร้องไห้ในใจ สงสารยาย สงสารหลาน กลัวเลี้ยงหลานไม่โต ผมจะตายก่อน” 

พ่อสมยงค์รันทดท้อต่อชะตากรรม เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ปรารถนาความตายให้รู้แล้วรู้รอดไม่อยากเป็นภาระให้ลูกหลาน

ปัญหาที่ซ้อนทับกันชั้นแล้วชั้นเล่า โยงใยเกี่ยวพันกันอย่างไม่อาจแยกขาด ดังที่ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนจนแบบชี้เป้าหมาย (Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แสดงให้เห็นผ่านการจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI: Multidimensional Poverty Index) ที่พิจารณาจาก 5 มิติ คือ จนสุขภาพ จนความเป็นอยู่ จนการศึกษา จนรายได้ จนการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยที่คนจน 1 คน มีปัญหาได้มากกว่า 1 ด้าน 

พูดให้ง่าย คือ “คนจนเป้าหมาย” ตามนิยามของ TPMAP คือ คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจนจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และลงทะเบียนว่าตัวเองจนอีกด้วย จากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง

น่าเศร้าที่ความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นของครอบครัวแม่คำผ่อง จำเป็นต้องฝ่าด่านอุปสรรคแทบทุกมิติที่กล่าวมาข้างต้น 

และ ‘ธวัช มณีผ่อง’ อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในนักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยําในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสาน มั่นใจว่า ครอบครัวแม่คำผ่อง “ร่วงหลุด” จากฐานข้อมูลคนจนเป้าหมาย TPMAP ข้างต้น

“เพราะดูจากตะแกรงที่ร่อนคือฐานข้อมูลความจำเป็น (จปฐ.) และการลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐก็หลุดหมด ซึ่งหมายความได้สองนัยยะคือ (ก) มีคนยากจนลักษณะเดียวกับครอบครัวแม่คำผ่องไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของรัฐ และ (ข) ภาครัฐและภาควิชาการต้องช่วยกันทำให้ตะแกรงของฐานข้อมูลคนจนถี่ขึ้น ดึงพวกเขากลับมาเกาะเกี่ยวกับหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการของรัฐให้ได้”

ยังต้องไปติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนในกลุ่ม “ครัวเรือนเปราะบาง” หมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ครอบครัวยากจนที่มีเด็กเล็ก แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีปัญหาที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มดังกล่าวอย่างเร่งด่วน จริงจัง และต่อเนื่องผ่านกลไกของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) รวมทั้งกลไกการช่วยเหลือขององค์กรปกครองท้องถิ่นระดับต่าง ๆ 

ความจนข้ามรุ่น คนจนเมือง

“ครอบครัวนี้จะส่งผ่านต่อความยากจนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่เห็นเลยว่าจะหลุดพ้นความจนได้อย่างไร เพราะคน 10 ชีวิตประกอบด้วยผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนป่วยติดเตียง เด็กกำลังเรียน 7 คน แต่คนหารายได้มีแค่สองคน น้ำหนักภาระที่ลูก ๆ ของแม่คำผ่องแบกอยู่มากเกินกว่ารายได้และศักยภาพที่เขามี ดังนั้น รัฐต้องเข้ามาช่วย เช่น ขณะนี้ สวัสดิการรักษาพยาบาลเข้ามาดูแลอาการติดเตียงให้แล้วก็จริง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำไมแม่คำผ่องกับพ่อสมยงค์ถึงไม่ได้เบี้ยคนชรา ทำอย่างไรเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึงหกปีจะได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท น้องฮันนี้วัย 8 เดือนควรได้ดื่มนมที่มีคุณภาพไม่ใช่ดื่มนมโรงเรียนที่พี่ ๆ พากลับมาจากโรงเรียน หรือเด็กวัยเรียนที่เหลืออีก 5 คนสามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ได้อย่างไร”

ถ้าแก้ปัญหาให้ครอบครัวแม่คำผ่องได้ จะช่วยแก้ปัญหาให้อีกหลายร้อยครอบครัวแหว่งกลางในอีสานอีกมากมาย

ปรับมุมมองแก้มายาคติความจน

เมื่อผู้คนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดนานวันเข้า ก็ย่อมทำให้ความฝันของพวกเขาเล็กลงตามไปด้วย รายงานของธนาคารโลกปี 2561 ชี้ให้เห็นว่า การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมระหว่างรุ่นในสังคมไทย สำหรับเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนที่นับเป็นชนชั้นครึ่งล่างของสังคมไทย มีโอกาสที่จะขยับฐานะมาอยู่ครึ่งบนได้เพียง 35% เท่านั้น อีก 65% ที่เหลือต้องอยู่ในชนชั้นเดิมไม่ต่างจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเขา แต่ในทางกลับกัน เด็กไทยที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยครึ่งบน มีโอกาสจะขยับฐานะลงไปอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทยเพียงแค่ 20% เท่านั้น

‘จินตนา’ ลูกสาวคนโตของแม่คำผ่อง ทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารที่จังหวัดชลบุรี กว่า 25 ปีของการสู้ชีวิตในเมืองใหญ่ ขายแรงงานมอบความสุข และความสะดวกสบายให้ผู้อื่น เธอกลับยังคงไม่เห็นว่าชีวิตของครอบครัวจะหลุดพ้นจากความยากจนได้แต่อย่างใด 

“เรียนจบ ป.6 แล้วก็เข้ากรุงเทพฯ เลย ทำงานขายผ้าที่โบ๊เบ๊ค่ะ เมื่อก่อนหนูก็ส่งกลับบ้านประมาณ 8,000 บาทหรือ 5,000 บาท แต่พอโควิดมาบางทีก็ไม่ถึง 5,000 บาทด้วยซ้ำ แม่บอกว่าเข้าใจ แต่เราก็รู้ว่าไม่พอ น้อยใจตัวเอง จากที่เคยมีให้แม่เยอะ แล้วให้น้อยลง แล้วลูกล่ะ รู้อยู่แล้วว่าพ่อกับแม่ยอมอดมื้อกินมื้อเพื่อหลาน”

จินตนากล่าวด้วยน้ำเสียงสะเทือนใจ 

“เกิดมาทำไมจน ทำไมไม่รวยเหมือนคนอื่นเขา แม่ทำไมจนจัง ทำงานแต่ยังเล็ก ๆ ทำไมไม่สบายอยู่บ้านเหมือนคนอื่นเขา อยากอยู่กับลูกก็ไม่ได้อยู่”

‘พัทยา’ ลูกสาวคนเล็กของแม่คำผ่องเล่าถึงชีวิตของตัวเองที่ไม่เคยได้ใกล้ชิดกับคำว่าสุขสบาย เธอเป็นแม่ของเด็ก 3 คนที่ต้องจากลูกน้อยมาทำงานหลังคลอดเพียงไม่กี่วัน เพื่อกลับไปทำงานที่ฟาร์มไก่ในจังหวัดชลบุรี รับค่าจ้างรายวัน วันละ 325 บาท ส่งกลับมาให้ครอบครัว เดือนละ 3,000 บาท 

“เราต้องสู้เพื่อลูกค่ะ ถ้าหมดหนี้หนูจะกลับไปอยู่กับลูก หนูก็บอกลูกว่า ถ้าแม่มีเงินเยอะค่อยมาอยู่กับแม่ ลูกก็ถามว่าอีกนานไหม เราบอกไปว่าอีกไม่นานหรอก ปลอบใจลูก แต่คงอีกนาน!!” พัทยาเน้นเสียงบ่งบอกถึงความขมขื่นที่ต้องโกหกลูกทุกครั้งที่โทรศัพท์คุยกัน

โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทยผลิตซ้ำรูปแบบ “ครอบครัวแหว่งกลาง” เช่นนี้อีกนับล้าน พ่อแม่ต้องจากลูกไปทำงานในเมือง ผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูหลานในชนบทอันห่างไกล ไร้สาธารณูปโภค ไร้ที่ดินทำกิน ในวันหยุด หลานตัวเล็ก ๆ ของแม่คำผ่องต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการมาหยอดน้ำกรดเก็บขี้ยางในสวนยางพาราของเพื่อนบ้าน แลกกับรายได้วันละ 50 บาท แทนที่จะได้มีโอกาสเล่นสนุก อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยอย่างเด็กในวัยเดียวกัน

คนจนเมือง ความจนข้ามรุ่น

‘รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง ย้ำว่า สังคมที่สร้างความมั่งคั่งให้คนส่วนน้อย ในขณะที่คนทำงานหนักที่สุดกลับยากจน มันผิดปกติ

แม้รัฐไทยมีความพยายามแก้ปัญหาคนจน แต่ก็ยังไม่ตรงจุด โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยํา อำนาจเจริญ โดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสํานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอํานาจเจริญ พบว่าจากการวิจัยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญที่มีคนยากจนมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ได้ค้นพบว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐสํารวจข้อมูลด้วยตัวชี้วัดด้านรายได้และรายจ่าย แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยอื่น ที่บ่งชี้ถึงความจน สาเหตุที่ส่งผลต่อความจน และความซับซ้อนของปัญหาความยากจน ส่งผลให้การแก้ปัญหามุ่งไปที่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของคนจน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้ช่วยให้ความจนหมดไป เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน แต่กลับยืดระยะเวลาความจนให้ยาวออกไป หรือรวมถึงลักษณะการดำเนินโครงการของภาครัฐที่กลายเป็นงานประจำระยะยาวของข้าราชการ เป้าหมายจึงเป็นการทำให้งานเหล่านี้ยังคงอยู่ไปเรื่อย ๆ ขาดการประสานงานกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ไม่ได้มุ่งขจัดความยากจนที่รากเหง้าปัญหาอย่างแท้จริง 

หากย้อนรายงานการศึกษาของธนาคารโลก ในปี 2544  สถานการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน ระบุว่า ความยากจนส่วนใหญ่ ยังกระจุกตัวอยู่ในระดับหมู่บ้าน ดังนั้น การพื้นที่ทางภูมิศาสตร์โดยพุ่งเป้าไปยังจังหวัดและหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดน่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดความยากจน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเป้าหมายหลักในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้กับความยากจน 

ดังนั้น แนวทางแก้ไขจากงานวิจัยในพื้นที่ เช่น จังหวัดอำนาจเจริญ และอีก 10 จังหวัดยากจนในประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโครงการเดิมในระดับหมู่บ้านที่เคยเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยทำให้ครัวเรือนยากจนมีข้าวสารสำหรับบริโภคตลอดทั้งปี ปรับระเบียบรองรับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนให้ถือหุ้นในนามกลุ่มได้ เพื่อนำเงินปันผลมาใช้ช่วยเหลือครัวเรือนยากจนอย่างต่อเนื่อง อีกโมเดลคือการใช้อาสาสมัครในชุมชนช่วยดูแลครัวเรือนยากจน วิเคราะห์ข้อมูลเป็นรายครัวเรือน เพื่อเข้าใจเงื่อนไข ปัญหาและความต้องการทั้งด้านทุนการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ 

หนทางตัดวงจรคนรุ่นใหม่เป็นคนจนเมืองรุ่นต่อไป

ข้อมูลจากยูเนสโก ปี 2558 ระบุว่าเยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุด 20% สุดท้ายของประเทศไทย มีเพียง 8% เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ สำหรับเด็กชายในชนบท การบวชเรียนจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้เรียนหนังสือ มีโอกาสขยับฐานะทางสังคมได้มากขึ้น

‘พระมหาวาทะชัย’ เป็นลูกชายคนรองของแม่คำผ่อง ตัดสินใจพึ่งร่มกาสาวพัสตร์ ที่วัดสนมหมากหญ้าในอำเภอเขมราฐ โดยมีสามเณรโก้ ผู้เป็นหลานชายมาบวชเณรอยู่ด้วย เพื่อเรียนต่อทั้งปริยัติ และ กศน. เทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  

“ทางบ้านไม่มีเงินส่งเรียนชั้น ม.1 เขาก็ตัดสินใจว่าจะมาบวช เณรโก้เขากลัวน้องสาวไม่ได้เรียน ตอนนั้นแม่ของเขาทำงานคนเดียว ช่วงโควิดก็ยิ่งส่งเงินมาน้อย ยายก็บอกว่าไม่ไหวถ้าเรียนกันทั้ง 2 คน เขาก็ตัดสินใจว่าจะมาบวชกับหลวงน้า เพื่อให้น้องได้เรียนต่อ ด้วยความเสียสละ” พระมหาวาทะชัยเล่าถึงจุดเปลี่ยนของเณรโก้ แล้วจึงเล่าต่อถึงช่วงชีวิตของตัวเองที่เคยเป็นกรรมกรก่อสร้างหลังจากเรียนจบ ป. 6  “ความฝันเรามันยาก เราไม่มีบัตรประชาชน ต้องทำงานแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ”

อย่างที่กล่าวแต่ต้น ชีวิตของครอบครัวแม่คำผ่อง ไม่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านแถบนี้ ที่มีแต่คนแก่และเด็ก ๆ อาศัยอยู่ด้วยกัน คนวัยหนุ่มสาวออกจากบ้านไปทำงานในเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน วิถีชีวิตที่เคยหาอยู่หากินในการหาปลาในแม่น้ำโขง ก็ได้ปลาลดน้อยลง ส่วนการเก็บหาอาหารในป่าหรือยากขึ้น ผืนป่าและที่ดินถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์

‘ตาล จันทรสุข’ ชาวบ้านตามุย อำเภอโขงเจียม เป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นคนจนเมือง เคยเข้าไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ นานปีจะกลับบ้านสักครั้ง จนในที่สุดก็ตัดสินใจกลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิด “เมื่อก่อนได้เงินแต่อยู่ห่างกัน ไม่รู้วันไหนจะได้มาหาลูกหาเมีย มันไม่มีความสุข หากิน หาอยู่ หาเงินหาทอง ถึงได้มาเราไปซื้อกินก็หมด เล่นหมด สู้กลับมาอยู่บ้านเราดีกว่า มาสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ จะได้ 10 บาท 20 บาทก็ได้กินด้วยกัน เหลือเราก็เก็บไว้ อยากให้ลูกอยู่กับพื้นที่ เราต้องได้ใช้ชีวิตเราเอง” ตาลและเพื่อนบ้านในชุมชนบ้านตามุย จึงพยายามช่วยกันสอนเด็ก ๆ ในชุมชนให้หากินจากทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง 

‘น้ำเค็ม’  ลูกของตาลเรียนอยู่ชั้น ป.5 เรียนรู้การขับเรือและหาปลาในแม่น้ำโขงจากองค์ความรู้ที่รับถ่ายทอดมาจากพ่อ พวกเขาเรียกห้องเรียนที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาแห่งนี้ว่า “โฮงเฮียนฮักแม่น้ำของ”

‘คำปิ่น อักษร’ ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนฮักน้ำของเล่าว่า ทุกที่คือพื้นที่การเรียนรู้ทักษะชีวิต

“เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ จะได้ปลาหรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราอยากมาเห็นพัฒนาการของเด็ก ๆ พอเขาเห็นเพื่อนบางคนลงน้ำไปหาปลา เพื่อนบางคนขับเรือเป็น ก็เป็นการกระตุ้นเชิงบวก เสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหา ทักษะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่โรงเรียนในภาครัฐ อาจจะมีบ้าง แต่ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เหมือนอย่างโฮงเฮียนฮักน้ำของ เราไม่ได้มองว่าจะต้องมานั่งสอนนั่งเรียน แต่แทรกอยู่ในวิถีปกติ ในหลายเรื่อง หรือแม้กระทั่งกับเด็กเล็กที่พาเขาเก็บดอกไม้ จัดดอกไม้ ความอ่อนโยนมีผลต่อจิตใจด้วย แล้วค่อยต่อความคิด ชวนคิดชวนคุยชวนสอนกันไป”

คำปิ่นอธิบายอีกว่า ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโฮงเฮียนฮักน้ำของ เป็นการประกอบสร้างตัวตนของเด็ก ๆ ให้แกร่งขึ้นตามความถนัดของแต่ละคน เป็นพื้นฐานที่ต่อยอดเป็นอาชีพได้ อย่าง ‘น้ำเค็ม’ มีความสนใจด้านงานช่าง ก็จะหนุนเสริมส่งให้เขาไปเรียนงานช่าง ด้วยความหวังว่าเขาจะนำทักษะเหล่านั้นกลับคืนมาสู่ชุมชนได้ในอนาคต

เพราะแม้จะยังไม่มีใครรู้ว่าความยากจนข้ามรุ่นจะจบลงเมื่อไร ทุกรุ่นที่เกิดก่อนหน้าก็พยายามเฝ้าทะนุถนอมเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ให้งอกงามเติบโตได้สูงใหญ่กว่ารุ่นที่แล้วมาเสมอ แต่เมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ เหล่านี้จะเติบโตแผ่กิ่งก้านได้ไกลแค่ไหน หากผืนแผ่นดินไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมไว้ให้พวกเขามากเพียงพอสำหรับความผันผวนของโลกที่ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างขึ้นทุกวัน 

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แทบจะเป็นฉันทามติใหม่ในสังคมไทยว่า รัฐสวัสดิการ คือทางออกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้คน 99% ได้ลืมตาอ้าปากได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องวิงวอนร้องขอการสงเคราะห์จากรัฐ หรือกราบกรานพึ่งพิงผู้ใหญ่ใจบุญ

“การสงเคราะห์เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนอ่อนแอ และทะเลาะกัน… การสงเคราะห์เงินเยียวยาจากรัฐไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึง และทำให้เกิดการตัดสินว่าคนจนรอรับแต่เงินช่วยเหลือ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งที่คนจนเรียกร้องและต้องการเพื่อประโยชน์ระยะยาว คือ รัฐสวัสดิการ” คำกล่าวของ ‘นุชนารถ แท่นทอง’ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ช่วยย้ำให้เห็นถึงอนาคตที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยใฝ่ฝัน

‘ภาคภูมิ แสงกนกกุล’ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้อย่างน่าสนใจว่า รัฐสวัสดิการเป็นกระบวนการในการหาข้อตกลงร่วมของทุกฝ่าย เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตามความฝัน ความหวังในนิยามของผู้คนที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย รวมทั้งยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างในสังคม แก้ไขกฎหมาย เพิ่มความเป็นธรรมในการแข่งขัน ลดการควบรวมกิจการ ให้ความสำคัญแก่บริการสาธารณะร่วมกันไปด้วย 

“เรื่องนี้มีความซับซ้อนมาก ยิ่งถ้าดูประวัติศาสตร์อย่างในยุโรปกว่าจะสร้างมันขึ้นมาได้ต้องค่อย ๆ ผลักดันเป็นร้อยสองร้อยปีกว่าจะเป็นได้เหมือนทุกวันนี้ แล้วเมื่อสวัสดิการเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่หยุดอยู่กับที่ ต้องมีการปฏิรูปสม่ำเสมอเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงของสังคม”

“คำว่าสวัสดิการของรัฐ มันไม่ใช่รัฐสวัสดิการ สวัสดิการของรัฐคือคนทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นทุกคน ทุกคนอยากได้สวัสดิการที่ดีขึ้น เป็นเรื่องปกติ… แต่รัฐสวัสดิการไม่เหมือนกัน เพราะมันคือรูปแบบรัฐอย่างหนึ่งที่คุณต้องเอาคนทุกคนมาตกลงกันว่าจะเอารูปแบบไหน ทุกคนมีความฝันได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณไม่มีแนวทางหรือแนวนโยบายที่ชัดเจนว่าจะปฏิบัติอย่างไร สุดท้ายแล้วความฝันนั้นก็เป็นความฝัน ไม่เกิดเป็นความจริง”

คำถามสำหรับการก้าวไปสู่วันที่ความยากจนข้ามรุ่นหมดไปจากประเทศไทย จึงไม่ใช่คำถามว่า “เราจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ไหม” แต่ “เราจะเป็นรัฐสวัสดิการได้อย่างไร” 

คนจนข้ามรุ่น

หลายเดือนแล้วที่พระลูกชาย และเณรหลานชายไม่ได้กลับบ้าน ทั้งสองจะมาดูแลปรนนิบัติและช่วยฟื้นฟูร่างกายของพ่อสมยงค์

การล้มป่วยติดเตียงซ้ำเติมความยากจนให้แสนสาหัส ถ้า “กรรม” หมายถึงการกระทำทั้งชาติก่อนและชาตินี้ พวกเขาเชื่อว่าการดูแลพ่อ-แม่ ความขยัน อดทน การตั้งใจศึกษาเล่าเรียน  จะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ แต่พวกเขาก็เชื่ออย่างนี้ผ่านช่วงชีวิตของคนในครอบครัวมาแล้วถึงสามรุ่น 

แล้ว “ความยากจนข้ามรุ่น” จะจบลงได้ด้วยอะไร


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active