19 กันยา กับบาดแผลทางใจ 15 ปีเชื่อมสะพานคนทำงานเพื่อสังคม

“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.8

ปี 2523 ห้องเรียนเล็ก ๆ ภายในสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกดัดแปลงให้เป็นสำนักงานของ คอส. หรือ ‘โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม’ ที่นี่มักคับแคบและคึกคักไปทุกครั้งที่มีคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมารวมตัวอยู่พร้อมๆ กัน

อาจด้วยยุคสมัยแห่งการแสวงหาและท้าทายเป็นกระแสคลื่นตื่นตัวไปทั่วโลกพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคมภายในบ้านเมืองของเรา ที่นำพาให้เกิดการตื่นตัว อยากรู้ อยากเห็น อยากทำ ด้วยความปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

จากกิจกรรมเล็ก ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย สู่หมู่บ้าน ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ได้เห็น ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ความเป็นไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้าน ชุมชน ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเดิม ๆ ของตนเอง

จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ก่อเป็นสายธารที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 40 ปี จากโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) ในแวดวงนักกิจกรรมทางสังคมและอาสาสมัคร น้อยคนที่จะไม่รู้จัก “มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม” หรือ ‘มอส.’ องค์กรซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างพลังประชาชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม ตั้งแต่ ปี 2529 เป็นต้นมา

The Active คุยกับ “เอ๋” ศิริพร ฉายเพ็ชร หนึ่งในอดีตผู้ประสานงานของ มอส. ปัจจุบันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้การทำงานเพื่อผู้อื่น สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

:: คนรุ่นใหม่ก่อนรัฐประหาร 2549 มีบทบาทอย่างไร ? ::

ในช่วงเวลาของอดีต ศิริพร ในฐานะฝ่ายอาสาสมัคร ของ มอส. มีหน้าที่หลักในการฝึกอบรมอาสาสมัคร นักพัฒนาให้ลงไปทำงานในพื้นที่จริงกับเครือข่ายภาคพลเมือง และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs และอีกด้านหนึ่งซึ่งน่าสนใจ คือ การสร้าง “นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” โดยมีที่มาจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นโยบายปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในขณะนั้น, ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้คนมากมาย และหลายคนถูกกระทำ ไม่ได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มอส. จึงลุกขึ้นมาผลิตนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยใช้ต้นทุนจากนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 

เวลานั้น ศิริพร คิดว่า จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เห็นความจริง ? แล้วใช้ความรู้ ความสามารถที่เรียนมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์และโครงสร้างความไม่เป็นธรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมให้ได้ ทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชน กลุ่มชาติพันธุ์ การถือครองที่ดินของคนรากหญ้าที่พวกเขาไม่เคยเห็น ให้เหล่าคนรุ่นใหม่ได้มีหัวใจที่อยากช่วยเหลือคนมากขึ้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน ชาวบ้าน และ NGOs ได้ทำงานเชื่อมประสานกัน

การเข้าร่วมชุมนุม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เมื่อปี 2548 – 2549 ของภาคประชาชนในครั้งนั้น ไม่ใช่การจัดตั้ง แต่ทุกกลุ่มมาพร้อมกับปัญหาในเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เมื่อคนรุ่นใหม่ได้ลงพื้นที่ จึงเกิดพลังของการทำงานเป็นเครือข่าย รวบรวมประเด็นปัญหา และเรียกร้องสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำ ซึ่งมีพัฒนาการมาจากการจัดเวทีประท้วงแบบดาวกระจายตามต่างจังหวัด เช่น กลุ่มคัดค้านเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ปัญหาการละเมิดสิทธิในภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งคนหนุ่มสาวมีส่วนสำคัญเพื่อนำการขับเคลื่อนนั้น

ในช่วงแรกคู่ขัดแย้งคือรัฐบาล แต่เมื่อมีขบวนการเรียกร้องที่ถลำลึก ความแตกแยกภายในกลุ่ม NGOs ก็เกิดขึ้น เมื่อเวทีพันธมิตรฯ “ประกาศรับนายกฯ มาตรา 7” จากเหยื่อของนโยบาย กลายเป็นการไม่เคารพในอำนาจประชาชน เธอยอมรับว่าในฐานะคนหนึ่งที่ไปเข้าร่วมพันธมิตรฯ เหมือนเป็นการมัดมือชก เพราะเธอเชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน จากการเรียกร้องทุกอย่างที่ผ่านมา จึงไม่สามารถยอมรับแนวทางนั้นได้

“เราไม่ควรทิ้งมวลชน ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ เป็นคำพูดที่เราไม่ศรัทธา” 

ศิริพร จึงถอยออกจากการชุมนุมพันธมิตรฯ ตั้งแต่บัดนั้น แต่สิ่งที่กลายเป็นรอยร้าว คือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเธอที่เคยทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 และร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาทุกอย่าง กลับเอาอำนาจของตนเองไปยื่นให้กับผู้อื่น โดยไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นมีผลประโยชน์อะไร และเมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 ขึ้น ก็กลายเป็นแผลเป็นทางใจที่ไม่เคยได้รับการรักษา ถอดบทเรียนอย่างจริงจัง จนเป็นความขัดแย้งที่อยู่ในใจของคนทำงานภาคประชาชนตลอดมา

แต่เมื่อยังต้องทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นร่วมกัน ในขณะที่ความคิดและความไว้ใจไม่หลงเหลืออีกต่อไป ศิริพร บอกว่า ตอนนั้น, ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เพราะเมื่อเป็นความคิดทางการเมือง จึงไม่ง่ายที่จะทำงานร่วมกัน และเธอต้องทำงานในฐานะองค์กรสนับสนุน ที่ต้องเกี่ยวข้องกับทุกกลุ่ม กลายเป็นความหนักใจ และเป็นจุดหักเหสำคัญให้ศิริพรเลือกหยุดบทบาทและเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ 

เมื่อไปอยู่ต่างประเทศ คือการถอยหลังออกจากขบวนฯ องศาการมองเรื่องต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไป ทั้งมุมและการมองของ ‘เอ๋ มอส.’ ทำให้เห็นสถานการณ์ในไทยได้ชัดขึ้นกว่าเดิม หากจะกล่าวว่า รัฐประหารปี 2549 คือรอยร้าว แต่เหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในปี 2551 และการล้อมปราบประชาชนในปี 2553 คือการแตกหักเป็นเสี่ยง ๆ อย่างที่ไม่มีวันเป็นเหมือนเดิม ต้องเห็นคนที่เคยทำงานร่วมกัน ไปสนับสนุนรัฐบาลที่ล้อมปราบประชาชน ไปเข้าร่วมการบิ๊กคลีนนิ่งแยกราชประสงค์ เป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก 

:: กลับมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่ ::

ศิริพร กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 และเห็นขบวนการภาคประชาชนต่างคนต่างทำ สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมตกต่ำอย่างที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น คือ การทำงานเครือข่ายประชาชน ขาดการรับช่วงต่อ นักพัฒนาสังคมรุ่นหลัง ๆ ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ขาดความเป็นเพื่อน ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด เพราะวิกฤตการเมืองทำให้สภาพต่างคนต่างอยู่นี้เกิดขึ้น จึงคิดว่า มอส. ต้องกลับมาทำงานกับคนรุ่นใหม่ และเครื่อข่าย NGOs อีกครั้ง คือ ฟื้นพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นใหม่อย่างมีจุดยืน

จึงเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สามารถมาทำงานร่วมกันได้ โดยที่ไม่ต้องฆ่ากัน เคารพในความแตกต่างหลากหลาย เชื่อในกระบวนการประชาธิปไตย และมองไปข้างหน้าร่วมกันว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร โครงการนี้เปิดรับอาสาสมัครในรุ่นแรก ได้รับความสนใจมาก เพราะมีคนอยากเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ปัญหาต่าง ๆ ได้เห็นข้อเท็จจริง และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ศิริพร ยังเปิดเผยว่า “ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นรุ่นแรกของโครงการนี้ด้วย 

ผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 มาแล้ว 15 ปี คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นหลายคน เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในยุคปัจจุบัน แต่จากการที่เธอได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่จัดตั้งขึ้นด้วยแนวคิดและจุดยืนจากฐานความเป็นประชาธิปไตย ศิริพร ยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้อยู่ในยุคของตัวเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก็สามารถเข้าใจการเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะสภาพการเมืองในยุคนี้ทำให้เขาขาดช่วงชีวิตที่สำคัญในวัยเรียนเยอะมาก เขาไม่สามารถนำความคิดและความรู้ของเขาอธิบายเชื่อมต่อกับปรากฏการณ์สังคมอื่นได้ เช่น เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยคืออำนาจของประชาชน แต่ในวังวนการเมืองที่เขาเห็นคือตรงกันข้าม

และรัฐประหารครั้งล่าสุด ปี 2557 ยังทำให้คนหนุ่มสาวถูกลิดรอนชีวิต เขาไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง รวมถึงคุณภาพชีวิตในวัยเรียนที่หายไป และคนรุ่นใหม่คิดและเลือกได้ว่าผลจากการรัฐประหารมีผลอย่างไรต่อตัวเขา ต่อชีวิตและประสบการณ์ของเขา

:: ภูมิใจหรือไม่ คนที่เคยผ่านกระบวนการกับเรามีบทบาทสำคัญในวันนี้ ? ::

“เป็นเรื่องยากที่จะพูดว่าภูมิใจ”

ศิริพร ขยายความว่าไม่อยากเก็บเกี่ยวความสำเร็จใด ๆ เพราะยังมีคนอยู่ในคุก เธอไม่ภูมิใจกับผลกระทบที่พวกเขาต้องเผชิญ

แต่เราบอกให้เขายืนหยัด และเชื่อว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน และประชาชนเป็นพลังสำคัญในการสร้างประเทศร่วมกัน และที่สำคัญ เราต้องเห็นคนเท่ากัน หากอยากเห็นประเทศนี้ดีได้กว่านี้ ต้องมีทางเลือกอะไรอีกบ้าง ความตระหนักที่เกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่เช่นนี้ต่างหาก คือสิ่งที่ภูมิใจ

วันนี้ ‘เอ๋ มอส.’ พาน้อง ๆ จาก “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” จำนวนหนึ่งมาก่อตั้ง “สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม” หรือ “SYSI”: Society of Young Social Innovators เพื่อเปิดทางเลือกให้คนรุ่นใหม่สร้างสังคมใหม่ โดยไม่จำกัดบทบาทเป็นแค่ NGO เหมือนสมัยก่อน เขาสามารถลุกขึ้นเป็นผู้ประกอบการทางสังคม นักรณรงค์ทางสังคม เป็นนักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ ฯลฯ เพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ทางสังคม ที่ยังขับเคลื่อนเป็นเครือข่าย และสร้างตัวคูณคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจประชาธิปไตยต่อไป

และงานสร้างทางเลือกใหม่ให้สังคมที่เธอกับน้อง ๆ กำลังลงแรงแข็งขันคือ การทำแคมเปญ ‘YouthWel Hackathon’ เปิดพื้นที่และสร้างตัวคูณให้คนรุ่นใหม่ตั้งแต่ชั้นมัธยมสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ เพื่อทวงคืนคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ “คนเท่ากัน” ผ่านสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

ชวนติดตามบทสัมภาษณ์เต็มของ ศิริพร ฉายเพ็ชร : 19 กันยา กับบาดแผลทางใจ 15 ปีเชื่อมสะพานคนทำงานเพื่อสังคม ผ่านทุกช่องทางของ The Active เร็ว ๆ นี้


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้