เปลี่ยนผ่านประเทศไทย “อย่าลืม” ลงทุนกับ คนรุ่นใหม่

สัดส่วนของเด็กและเยาวชน  “คนรุ่นใหม่” อายุ 0-24 ปี ในไทย ปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ  คนกลุ่มนี้กำลังเติบโต เป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญของหลายพรรคการเมือง และถูกฝากความหวังให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ  แต่เมื่อดูนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ และสวัสดิการที่เป็นตาข่ายรองรับสำหรับคนกลุ่มนี้  กลับดูสวนทาง

The Active พูดคุยกับ ฟิล์ม-เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี  วัย 29 ปี ที่ผ่านการทำงานขับเคลื่อนประเด็น “คนรุ่นใหม่” ผ่านทั้งในรูปแบบของงานเขียน  การทำวิจัยรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประเทศและทิศทางอนาคตของตัวเอง รวมถึงสื่อสารผ่านหนังสั้น และสารคดีที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาแล้ว 2 เรื่อง  คือ เสียงสะท้อนของวัยรุ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในวาระครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ  และ อีกเรื่อง คือ “ลมหายใจสุดท้ายสามย่าน” บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาวบ้านสามย่านและนิสิตนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิม ก่อนที่จะถูกไล่ที่  ขณะเดียวกัน เขายังเคยเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ในช่วงก่อตั้งพรรค 

“คนรุ่นใหม่” กลุ่มเป้าหมายทางการเมือง ที่ถูก “ใช้” แต่ไม่ถูก “ให้” ?

จนถึงปัจจุบัน ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีในวัย 29 ปี ยังคอยหาแง่มุมใหม่ ๆ ในการพัฒนานโยบายสำหรับประชากรคนรุ่นใหม่ เพราะเห็นว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้แทนราษฏรที่มีค่าเฉลี่ยอายุลดลง จากปี 2562 กล่าวคือมีคนรุ่นใหม่เข้าไปเป็นผู้แทนมากขึ้น แต่ “ฟิล์ม” กลับรู้สึกว่าปัญหาของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกสะท้อนในพื้นที่ทางการเมืองมากนัก

เขาจึงพยายามผลักดันข้อเสนอเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ ผ่านการทำสื่อ และบทความ เพื่อทำความเข้าใจและเสนอแง่มุมใหม่ ๆ ต่อสังคม รวมถึงพยายามสร้างการมีส่วนร่วมให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่ทางการเมือง และสะท้อนแง่มุมกฎหมายต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นมิตรและเป็นธรรมกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“เดิมเราเคยเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ควรมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่านี้  ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีการกำหนดอายุคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ที่ 35 ปี  แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ปี 2475 กำหนดไว้ที่เพียงอายุแค่ 20 ปี  ขณะที่พอเวลาผ่านไป  ช่วงหนึ่งเวลาค้นหาเรื่องเด็กรุ่นใหม่ในกูเกิ้ลก็จะเต็มไปด้วยข่าวร้าย ๆ แต่หากเทียบกับปัจจุบันนี้ข่าวเชิงบวกก็จะมากขึ้น สะท้อนว่าทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อเด็กและคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา”

จนมาถึงปี 2562 หลายพรรคและกลุ่มทางการเมือง ก็เริ่มสนใจกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter)  จำนวนกว่า 7  ล้านคน  คิดเป็น 15% ของ 51 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด กลายเป็นกลุ่มฐานเสียงที่พรรคการเมืองพยายามเจาะเข้าหา และมีปีกของเยาวชนเกิดขึ้นในหลายพรรค ซึ่งเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ 

แต่ทีนี้ต้องมามองต่อว่า เวลาพรรคการเมืองคุยเรื่องคนรุ่นใหม่ เขามีท่าทีแบบไหน บางพรรคการเมือง ‘ใช้’ คนรุ่นใหม่ แต่บางพรรคการเมือง ‘ให้’ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิและอิสรภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะเลือกว่าจะเอาอย่างไร

ฟิล์ม ยังหยิบยกบางส่วนจากงานเขียนของ “ศ.นิธิ  เอียวศรีวงศ์” ที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ยึดโยงตัวเองกับผลประโยชน์เชิงโครงสร้างนโยบายมากเท่ากับ “ผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์”

เห็นได้จากช่วงเลือกตั้งปี 2562  ที่หลายพรรคการเมืองได้หยิบเรื่องนี้ไปใช้  และได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ สอดคล้องกับงานวิจัยที่เขาเคยทำร่วมกับเครือข่ายเด็กและเยาวชน ทำการสำรวจความเห็นคนรุ่นใหม่ราว 7,000 คน เพื่อให้คะแนนผู้ใหญ่และประเทศ รวมถึงออกแบบอนาคตและคุณภาพชีวิตของตัวเอง ในปี 2560 ซึ่งพบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามและรื้อสร้างมายาคติเดิม ทำให้ “สื่อ” และ “พรรคการเมือง” ที่มุ่งเป้าในเรื่องเหล่านี้ได้รับความสนใจและการตอบรับจากคนรุ่นใหม่

แต่เมื่อผ่านมาอีก 4 ปี  ฟิล์มเห็นว่า ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มองเห็นอะไรมากขึ้น หลังจากผ่านสนามการเลือกตั้งและความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้นิยามของ “ผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์” ถูกขยาย และทำให้เรื่องปากท้องถูกรวมเข้าไปเป็นหนึ่งในเรื่องของอุดมการณ์

“คำว่าผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์ มีนิยามกว้างขึ้น พอมีคนบอกว่านโยบายปากท้องไม่มีอุดมการณ์ ผมคิดว่ายุคนี้เราเรียนรู้แล้วว่ามันไม่จริง การขับเคลื่อนให้คนกินดีอยู่ดีก็เป็นเรื่องอุดมการณ์เช่นกัน”

นโยบาย สวัสดิการ และการจัดการงบประมาณสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ “ไม่ตอบโจทย์”   

หากตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เช่น เรื่องสิทธิ เสรีภาพ  แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเฉพาะประชากรกลุ่มนี้  ในมุมมองของผู้ขับเคลื่อนประเด็นคนรุ่นใหม่ ฟิล์ม เห็นว่ายังไม่มีพื้นที่ในการเรียกร้องมากนัก  ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง พ.ร.บ.แรงงาน ที่ควรครอบคลุมไปถึงกลุ่มนักศึกษาฝึกงาน  เรื่องการแก้ไขนิยาม “ผู้เยาว์” ซึ่งเป็นช่องว่างอยู่ 2 ปี ระหว่างการเป็นเด็กซึ่งหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้เยาว์ที่ปัจจุบันหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  รวมถึงการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  

และเมื่อพูดถึงการ “ให้” คนรุ่นใหม่ ฟิล์มชวนขยายความให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ยกตัวอย่าง ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีกองทุนหนึ่ง เรียกว่ากองทุนตั้งตัวได้ น่าสนใจมาก เพราะเป็นการให้ทุนโดยตรงกับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน  เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นรูปธรรมที่บอกถึงการให้อะไรกับคนรุ่นใหม่ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต ลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต”

จากจุดเริ่มต้นของความสนใจการทำหนังสั้น  ฟิล์มกับเพื่อน ๆ เริ่มรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชมรม จนวันนี้มีสมาชิกกว่า 3,600 คน  เขาพบว่าการของบประมาณและการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อกิจกรรมสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่ยากมาก 

ขณะเดียวกันยังพบว่างบประมาณเชิงสวัสดิการเยาวชนของไทย ที่ไม่นับรวมสวัสดิการการศึกษา น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง เยอรมนี ออสเตรเลีย และแคนาดา ถึงประมาณ 200-300 เท่า และมีการบริหารจัดการแบบกระจัดกระจาย สะท้อนถึงปัญหาของการทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน ที่ถูกจัดการโดยคนอีกรุ่น ทำให้ขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย  ฟิล์มและเพื่อน ๆ จึงพยายามผลักดันค่านิยมใหม่ ให้เรื่องของการทำงานพัฒนาเยาวชน ควรให้เยาวชนมีส่วนร่วม 

“เรื่องของการมองเด็ก ก่อนหน้านี้เวลามีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ส่วนใหญ่มักมองว่าเด็กเป็นปัญหา เช่น ติดยา ติดเหล้า ติดบุหรี่ แต่ไม่ได้มองปัญหาที่พวกเขาเผชิญ คือเราทำงานเยาวชนบนฐานคิดที่ว่ารัฐบาลต้องการแบบนี้ ผู้ใหญ่เชื่อแบบนี้ เชื่อว่าเยาวชนต้องมีค่านิยม 12 ประการ ต้องมีสุขภาพดี ต้องเป็นแรงงานที่สำคัญของชาติในอนาคต  แต่เราไม่เคยถามเขาจริง ๆ ว่าเขาเชื่ออะไร”

ฟิล์มเปรียบเทียบให้เห็นภาพของความแตกต่างมากขึ้น โดยยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย ที่มีหลายองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนงานของเยาวชน มีการสำรวจความคิดเห็นของประชากรวัยรุ่นต่อเนื่องทุกปี ทำให้การขับเคลื่อนงานเยาวชนมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มนี้  เช่น บางปีขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจิต  บางปีขยับเป็นเรื่องปัญหาโลกร้อน  ขณะที่งานเยาวชนบ้านเรายังวนเวียนอยู่กับประเด็นเดิม ๆ จึงควรเริ่มขยับสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง “งบประมาณ” สำหรับการพัฒนาเยาวชนในบ้านเรา ฟิล์มมองว่าไทยไม่ถึงขั้นขาดแคลน แต่ปัญหาคือการบริการจัดการที่กระจัดกระจายหลายหน่วยงานมาก เช่น งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ก็ทำงานภายใต้กรอบคิดเรื่องวัฒนธรรม  ไม่ต่างจากกรอบคิดเรื่องสุขภาพ เรื่องแรงงาน และการศึกษา ฟิล์มมองว่า เหมือนเป็นการจับเอาเด็กหนึ่งคนมาแยกส่วนออก ทั้งที่การพัฒนาประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ควรนำมาจัดการแบบเป็นองค์รวม

“งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน กระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน ปีละกว่า 5,200 ล้านบาท  หากนำมารวมกันแล้วบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะได้คนรุ่นใหม่ที่พร้อมรับมือกับโลกที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องภาวะโลกร้อนที่เป็นเรื่องสำคัญ  หรือปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ๆ“

เมื่อคนรุ่นใหม่ ขยับบทบาทการมีส่วนร่วม จากผู้เรียกร้อง มาเป็น “ผู้เล่น” ทางการเมือง  

 “เวลามีคนบอกว่าเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน เลยเข้าใจวัยรุ่น ผมคิดว่าเป็นมายาคติ เพราะวัยรุ่นในยุคก่อนที่ยังเป็นโลกไม่มีสัญญาณ Wi-Fi กับวัยรุ่นในวันนี้ที่มี 5G แล้ว มันต่างกันมาก มันเป็นคนละวัยรุ่นกัน”

ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีคนรุ่นใหม่ ฉายภาพให้เห็นถึงความแตกต่างของ “รุ่น” บนสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละวัยมีความต้องการและข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองมากขึ้น เขายังยกตัวอย่าง ปรากฎการณ์  “Youthquake” แรงสั่นสะเทือนจากคนรุ่นใหม่ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในไทย เมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานทางการเมือง มีการใช้ศัพท์ใหม่ อย่าง “ผู้ประกอบการทางการเมือง” (Political entrepreneur) หมายถึงคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว และเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการ 

แต่ถึงแม้จะเห็นภาพความตื่นตัว และปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่บรรยากาศการเมืองหลังการเลือกตั้ง ฟิล์มเห็นว่าประเด็นที่เกี่ยวกับนักเรียน เยาวชน นักศึกษา และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของคนทุกรุ่น ทุกกลุ่มที่จะเข้าไปช่วยกันขับเคลื่อนและแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเด็กไม่ได้รับความยุติธรรม หรือ ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในโรงเรียน

“เวลาเราพูดถึงเยาวชน ช่วงอายุ 0-24 ปี ซึ่งกินสัดส่วนประชากรถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่เสียงของคนกลุ่มนี้หายไปไหน แน่นอนว่ามีคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องทางการเมือง หรือเข้าไปเป็นนักการเมืองมากขึ้น แต่ปัญหาของคน 30% นี้ไม่ถูกสะท้อนมากนัก  เมื่อถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน มีรัฐบาลใหม่แล้ว ก็ไม่ควรลืมเรื่องนี้”

เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย  พาประเทศไทยไปต่อ “อย่าลืม” คนรุ่นใหม่ 

ปรากฏการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จนถึงวันที่มีรัฐบาลใหม่  มี 3 เรื่องใหญ่ ที่ฟิล์มย้ำว่า “อย่าลืม” เกี่ยวกับการผลักดันการทำงานด้านคนรุ่นใหม่  คือ

#เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น สำรวจความคิดเห็นและความต้องการ ก่อนนำมากำหนดเป็นนโยบายจาก “ล่างขึ้นบน” โดยไม่ไปคิดแทน หรือกำหนดกรอบให้คนรุ่นใหม่ แต่ใช้วิธีการกำหนดนโยบายแบบมีส่วนร่วม รวมถึงการจัดการงบประมาณด้านเด็กและเยาวชน 5.2 พันล้านบาทต่อปี  ที่เป็นงบประมาณที่มาก แต่มีการจัดการแบบแยกส่วน จึงอยากจะเห็นการจัดการ รวบรวมงบประมาณที่กระจายอยู่ในหลายภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ขณะเดียวกัน ฟิล์มยังเห็นว่ามีอีกหลายงบประมาณที่น่าจะสามารถจัดเก็บเพิ่มผ่านกระบวนการทางภาษีได้

“อย่างเช่น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโรงเรียนกวดวิชาเอกชนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ในประเทศที่ให้คุณค่ากับการสอบ โรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจที่หอมหวานเสมอ เขาหากินกับเด็ก ๆ  ควรจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วนำภาษีนั้นมาใช้พัฒนาเยาวชน  หรือแนวทางการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะทำให้ได้งบประมาณกลับคืนมาไม่น้อย ไม่ควรคืนให้กระทรวงกลาโหม แต่ควรนำมาใช้พัฒนาคนรุ่นใหม่แทน”

#สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเจริญเติบโต  เช่น การแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มพื้นที่สาธารณะให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม และทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์  ฟิล์มเห็นว่าปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ขัดต่อการเจริญเติบโต

“เช่น พ.ร.บ.สุขภาพจิต ต้องปรับเกณฑ์ในการบังคับบำบัดให้รัดกุมขึ้นในช่วงเวลาที่บ้านเรามีคนรุ่นใหม่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น  หรือกฎหมายอื่น อย่างการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 18 ปี แต่ขณะที่กลุ่มเยาวชนวัย 15 – 18 ปี สามารถทำงานบางประเภทได้แล้ว และถูกดำเนินคดีอาญาได้ ขณะที่อายุ 17 ปีแต่งงานและเสี่ยงภัยสงคราม ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินได้ ในอนาคตก็น่าจะมีการทบทวนเรื่องการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงได้”   

#ลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพจิต หรือลดแรงกดดันในการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน  ฟิล์มยกตัวอย่างในมุมมองของเขาว่า

“ปัจจุบันประเทศไทยมีงบประมาณลูกเสือ ปีละกว่า 337 ล้านบาท  ซึ่งรวมเงินประจำตำแหน่งครูไว้ด้วย หากปรับงบประมาณที่ใช้บังคับให้เด็กเรียนผูกเงื่อนหรือเรียนร้องเพลงเมาคลีล่าสัตว์ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์จริงไหม  มาใช้สอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้  รวมถึงปรับงบประมาณที่เป็นเงินประจำตำแหน่งครูลูกเสือ ไปให้กับครูที่ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยากับเด็ก ก็อาจช่วยรักษาชีวิตเด็กจากการการฆ่าตัวตายหรือการจมน้ำได้หลายคน”

เมื่อถามถึงความคาดหวัง หลังจากได้รัฐบาลใหม่  ฟิล์มมองว่า ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นระหว่างทาง ก็เท่ากับว่ารัฐบาลมีเวลา 4 ปีเต็ม ในการพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องปากท้องกับเรื่องของอุดมการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน  ถ้าประชาชนกินดีอยู่ดี ก็มีเวลาไปทำอย่างอื่น 

ส่วนเรื่องนโยบายเยาวชน ที่ไม่ได้เป็นนโยบายหลักที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงก่อนเลือกตั้ง  มีพรรคการเมืองที่ชูประเด็นสุขภาพจิต และประเด็นคนรุ่นใหม่หาเสียงอยู่บ้าง ไม่เท่ากับนโยบายหลัก อย่างเรื่องปากท้อง  แต่เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ตามสัดส่วนโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้คนรุ่นใหม่หนึ่งคนต้องแบกรับภาระคนอีก 6 คน  และยังต้องรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ของตัวเองที่มากับโลกอนาคต อย่างปัญหาสุขภาพจิต ภาวะโลกร้อน และทุนนิยมแบบผูกขาด การสร้างตาข่ายรองรับคนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

“การลงทุนกับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราพยายามจะเตรียมเขาเข้าสู่โลกแรงงานเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมให้เขาเข้าสู่ความผันผวนของโลกใบนี้ที่เราไม่รู้ จึงอยากให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

ปัญหาปรัชญาการศึกษา กับแนวคิดเรื่อง สิทธิ

วันนี้ในวัย 29 ปี ผ่านการทำงานสื่อสารความคิดเห็น ฟังเสียงสะท้อนของเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่มาไม่น้อย ฟิล์มบอกกับเราว่า เรื่องนโยบาย และสวัสดิการที่เป็นตาข่ายรองรับคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องสำคัญ  แต่มีอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้เรื่องสิทธิ และคุณภาพชีวิตของพวกเขา คือเรื่อง “วิธีคิด”

ในระบบการศึกษา ที่บ้านเราต่างจากหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ตรงที่ระบบการศึกษาในประเทศเหล่านั้นสนใจเรื่อง “การสร้างสรรค์” และ “การเป็นตัวของตัวเอง” ขณะที่การศึกษาบ้านเราสนใจเรื่อง “การสร้างวินัย” และ “การเป็นไปตามครรลอง” ที่โรงเรียนต้องการ  เรื่องนี้ ฟิล์มเห็นว่าเป็นปัญหาในระดับปรัชญาการศึกษา  และเป็นเรื่องน่าลำบากใจ

“มีคนบอกว่า การศึกษาเป็นกระบวนการ ที่ทำให้เราพร้อมสำหรับการถูกโซตัส  ให้เราเตรียมตัวไปสู่กลไกอำนาจนิยม ให้เรายินยอมเมื่อคนทำผิดกับเราในขณะที่เราเป็นนักเรียน  ให้เรายินยอมเมื่อเจ้านายทำผิดกับเราในขณะที่เราเป็นลูกจ้างเขา อย่างในวงการหนังวันนี้ก็มีปัญหา การละเมิดสิทธิในการทำงาน การทำงานเกินเวลาในกองถ่าย  มันมีมายาคติว่าคนถูกละเมิดควรเรียกร้องอย่างเต็มที่ แต่กลไกการเรียกร้องหรือวัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้คนรู้จักหรือเชื่อการร้องเรียนมันอาจจะไม่มี”

และถ้าจะเริ่มหาจุดเริ่มต้นของ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ดีขึ้น เขาเห็นว่าจะต้องเริ่มที่การปรับวิธีคิดตั้งแต่ในโรงเรียน ให้นักเรียนสะท้อนความเห็นได้ และมีกระบวนการรับฟังความเห็นที่ชัดเจน เช่น หากรู้สึกว่าถูกทำโทษ โดยที่เขาไม่ผิด หรือถูกใช้ความรุนแรง จะมีช่องทางในการร้องเรียนได้

“ถ้าเรามีเด็กที่ถูกทำโทษจากพ่อแม่ โดยที่เขาไม่รู้ว่าเขาผิดอะไร พอโตขึ้นไปหน่อยก็ถูกทำโทษจากคุณครู ต้องเรียนวิชาที่ไม่จำเป็นโดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องเรียนสิ่งเหล่านี้ด้วย  สักพักก็ถูกบังคับเกณฑ์ทหารโดยที่เขาคิดว่าไม่จำเป็น สุดท้ายเขาจะกลายเป็นคนที่จำยอม ประเทศหรือคนที่มีอำนาจมากกว่าเขาว่าอย่างไร เขาก็ต้องว่าตาม ผมคิดว่าเราไม่ต้องการประชากรแบบนี้ แต่เราต้องการประชากรที่ตระหนักรู้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร และลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองและสิทธิของคนอื่น ถ้าเด็กโตขึ้นมากับการศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาที่สอนให้เขาเชื่อในสิทธิ เนื้อตัวร่างกาย สอนให้เขาเป็นคนที่จะปกป้องสิทธิคนอื่นด้วย  ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ”


ติดตามซีรีส์ “อย่าลืม”​

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active