เลือกตั้ง’66 นโยบายไหนโดนใจคนรุ่นใหม่

การเลือกตั้งปี 2566 กลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter) ถือว่ามีผลต่อคะแนนเสียงไม่น้อย และสิ่งที่พรรคการเมืองต้องหันมาให้ความสำคัญ โดยสัดส่วนของกลุ่ม First Time Voter อายุระหว่าง 18-22 ปี  สำหรับเลือกตั้งครั้งนี้ มีอยู่ราว ๆ 4 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน หรือ ประมาณ 7% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ

และถ้าเจาะลงไปตามพื้นที่ จังหวัดที่มีสัดส่วนของกลุ่ม First Time Voter มากสุด คือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี 12% ยะลา 11.53% และ นราธิวาส 11.38%  ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนน้อยที่สุด คือ ลำพูน 5.48% ลำปาง 5.76 และ แพร่ 5.80% เท่านั้น แต่คำถามคือแต่ละพรรคการเมืองให้ความสำคัญ หรือเปิดพื้นที่สำหรับนโยบายที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ มากน้อยแค่ไหน เพราะอาจหมายถึงทิศทางที่สามารถกำหนดอนาคตของประเทศได้เช่นกัน The Active รวบรวมนโยบายที่แต่ละพรรคใช้หาเสียงในครั้งนี้

*หมายเหตุ รวบรวมเฉพาะคำค้นหาที่ระบุเกี่ยวกับการศึกษา การจ้างงาน พื้นที่สร้างสรรค์ สิทธิมนุษย์ชน ของนักเรียน เยาวชน คนรุ่นใหม่ ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจมีนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงเป็นการรวบรวมจนถึงวันที่ 14 มี.ค.66 ซึ่งแต่ละพรรคอาจมีการนำเสนออีกครั้ง

พรรครวมไทยสร้างชาติ – โครงการปลดหนี้ด้วยงาน  นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยกตัวอย่าง ข้อถกเถียงเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ประเด็นการยกหนี้ให้เลยดีหรือไม่ โดยสนับสนุนแนวคิดใช้ความรู้ ดูแลสังคม ชุมชน หมู่บ้าน ตามโครงการที่รัฐตั้งขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้ด้วยเงินแต่เป็นการจ่ายหนี้ด้วยงาน

พรรคพลังประชารัฐ – สวัสดิการการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดสรรโครงการอาหารกลางวันฟรี มีทางเลือกที่หลากหลายในการศึกษาให้เหมาะสมกับศักยภาพและบริบทของสังคม และสวัสดิการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพตอบโจทย์แรงงานสมัยใหม่

พรรคเพื่อไทย – นักศึกษามีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะ ความสามารถ  ปริญญาตรีเริ่มต้น 25,000 บาท  เรียนไป ทำงานมีรายได้ตั้งแต่ 6,000 บาท รวมถึงการอุดหนุนค่าอินเทอร์เน็ต รถเมล์ฟรี

พรรคก้าวไกล – เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง  ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน   คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปี สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน  ลดค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อ ฝึกงานมีเงิน เรียนจบมีงาน เพิ่มค่าแรง 450 บาทต่อวัน  คุ้มครองเสรีภาพทางศิลปะ รัฐไม่แทรกแซง เพิ่มงบฯ สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 10 เท่า จาก 500 ล้าน เป็น 5,000 ล้านบาท และเพิ่มพื้นที่ผลิตและโชว์งานสร้างสรรค์

พรรคประชาธิปัตย์ –  นมโรงเรียน 365 วัน เรียนฟรีถึงปริญญาตรีสาขาที่ตลาดต้องการ อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุดทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน “CODING FOR ALL” ขยายโอกาสให้เด็กนักเรียนทุกคนต้องได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง

พรรคชาติไทยพัฒนา – เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษา ให้เยาวชนทำงานเป็น มีรายได้ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมโลก

พรรคชาติพัฒนากล้า – สร้างเด็กไทย 3 ภาษา  ทุนธุรกิจสร้างสรรค์ สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ไม่จำกัดวุฒิและวัย

พรรคภูมิใจไทย – พักหนี้ กยศ. 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท

พรรคไทยสร้างไทย – เด็กค้นหาตัวตนได้เร็ว เน้นกระบวนการสอนให้สามารถหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์เองได้ สร้างเด็กให้สามารถปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ อีกทั้งจำเป็นต้องลดภาระเวลาและเงิน และผลักดันให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น และสนับสนุนให้เด็กมีจิตใจโอบอ้อมอารี แบ่งปัน ,ปฏิวัติระยะเวลาการศึกษา โดยลดเวลาเรียนลง 3-4 ปี เพื่อให้เด็กสามารถเรียนจบภายในช่วงอายุ 17-19 ปี ทำให้เป็นภาระพ่อแม่น้อยลงสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานทดแทนผู้สูงวัยได้เร็วขึ้น, ปฏิวัติหลักสูตรการเรียนให้ทันสมัย กระชับ และยืดหยุ่น ตอบโจทย์เด็ก ให้มีทักษะและประสบการณ์ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ระดับประถม

พรรคเพื่อชาติ – ผลักดันเงินเดือนอาชีวะ เทียบเท่าปริญญาตรี ยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพ  ลดเด็กหลุกจากการศึกษาเพราะปัญหาเศรษฐกิจ กยศ. ปลอดดอกเบี้ย จบแล้วมีงานทำ  ปฏิรูป กศน. ตอบสนองอาชีพเกิดใหม่ โรงเรียนปลอดภัย ลดระบบแพ้คัดออก และยกเลิกชุดนักเรียน

พรรคเสรีรวมไทย – เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี และยกเลิกหนี้ กยศ. พร้อมสนับสนุนภาคการศึกษาจ่ายตรงให้มหาวิทยาลัย 25,000 บาท ปีละ 2 การศึกษา เป็นเงิน 50,000 บาท ต่อคนต่อปี

พรรคคลองไทย –  การศึกษาฟรีตั้งแต่ประถมถึงปริญญาเอก ออกกฎหมายมายกเลิกหนี้ กยศ. และที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

แล้วคนรุ่นใหม่ อยากฝากอะไรถึงพรรคการเมือง

The Active ยังได้นำนโยบายข้างต้น รวมถึงข้อเสนอไปถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ คาดหวังอะไรก่อน- หลังการเลือกตั้ง

“อยากให้มีพื้นที่ที่รับฟังเสียงและเกิดการติดตาม นำเสียงของเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง จังหวัดต่างๆ รวมถึงประเทศ”

“เด็กทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน ฉะนั้นเด็กพิการทุกคนควรจะมีโอกาสที่ได้มาเล่นและเรียนรู้ร่วมกัน”

“เราต้องการสร้างค่านิยมใหม่เกี่ยวกับศิลปะในประเทศไทย ว่า การเป็นศิลปินไม่ใช่ศิลปินไส้แห้ง”

“อยากให้มีนโยบายเกี่ยวกับค่าครองชีพ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อัตราเงินเดือนอาจจะไม่สูงมาก แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง”

“การฝึกงานเราควรจะได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับพวกเรา ไม่ใช่ทำงานให้เพื่อแลกกับการสอนงาน เพราะเรามีค่าใช้จ่ายตลอดการ

ฝึกงาน”

“เด็กจบใหม่หลายคนว่างงาน เราอยากเห็นนโยบายของหน่วยงานที่เปิดรับคนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมทงานจริง ๆ”

เมื่อจำแนกจากเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ อาจแบ่งความต้องการออกเป็น 3 นโยบายหลัก ๆ ได้แก่ 1. นโยบายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณโดยตรง 2. การส่งเสริม และพัฒนาขีดความสามารถในอาชีพ 3. การเปิดพื้นที่และเคารพสิทธิมนุษยชน

เอริกา เมษินทรีย์ เซ็น ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth In Charge

เอริกา เมษินทรีย์ เซ็น ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth In Charge จุดรวมตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจากหลากหลายที่มา หลากหลายความรู้ความสามารถและความสนใจ สามารถเป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประเทศของในอนาคต วิเคราะห์จากนโยบายหาเสียงด้านเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่คาดหวังต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยพบว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาชัดเจนไปในทิศทางเดียวกันคือการให้ความสำคัญกับเสียงของคนรุ่นใหม่ มีกรอบที่ชัดเจนว่าตัวเองอยากที่จะดำเนินนโยบายอย่างไร แต่ยังขาดสิ่งที่สำคัญคือกระบวนการที่จะทำอย่างไรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ จึงอยากจะเชิญชวนให้พรรคการเมือง ชวนเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาพูดคุยอย่างจริงจัง เพราะการจะเกิดกระบวนการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่ม จำเป็นที่จะต้องรับฟังเสียงจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาก ๆ

“ไม่อยากจะให้นักการเมือง ออกมาพูดแค่ว่าตัวเองมีนโยบายเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ แต่อยากให้ชวนคนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมพูดคุยกัน เติมคำในช่องว่างว่า ถ้าเราจะไปสู่อนาคตที่ฝันร่วมกันจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร”

เอริกา เมษินทรีย์ เซ็น

เอริกา ยังยกตัวอย่างรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเยาวชน ผ่านประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ (Better Bangkok Discord)  ที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้ผลักดันข้อเสนอสู่ระดับนโยบาย กทม.เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ลงมือทำ ทดลองแก้ปัญหาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องภายหลังการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่า เมื่อเยาวชนได้เข้าไปร่วมเสนอนโยบายภายหลังการเลือกตั้งจะเกิดความความภาคภูมิใจ และเชื่อมั่นในการทำงานของผู้แทนที่ตนเองเลือกเข้ามา ขณะเดียวกันหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น และเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสนใจเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงาน หรือเป็นผู้ร่วมประเมินการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่า จะเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย

ขณะที่ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับเยาวชน 27 เครือข่าย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย Youth In Charge ร่วมกับ The Active ไทยพีบีเอส สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการศึกษา และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาฉากทัศน์ของประเทศ (Scenario Thailand) ผ่านเวทีสาธารณะเสียงประชาชนเลือกอนาคตประเทศไทย (Post-Election) รวมถึงเวที Charge พลังเยาวชนขับเคลื่อนประเทศ  ชวนกลุ่มเยาวชนที่มีความหลากหลายระดมความคิดเพื่อแนวทางการพัฒนาแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ทั้งแบบนโยบาย และ innovation เพื่อเสนอต่อสาธารณะพร้อมเชิญนักการเมืองให้คำมั่นสัญญากับเยาวชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

วิฑิตา โอชวิช

มนุษย์นอนน้อยแต่นอนนะ มีอีกชื่อคือแฮปปี้เพราะคนต่างชาติเรียกชื่อปลื้มไม่ได้ ผู้ปกครองประชาชนชาวก้อน เชื่อว่าการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นจะทำให้เรามีความสุขด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมให้ความสุขกับตัวเองด้วยนะ