‘ไรเดอร์’ ค้านลด ‘ค่ารอบ’ ร้องรัฐคุมสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มด่วน

เผยโดนลดค่ารอบ จาก 62 บาทในปี 2564 แต่ปีนี้เหลือแค่ 30 – 43 บาท อึ้งบางจังหวัดได้แค่ 15 บาท จำใจวิ่งงานนาน 16 ชม./วันเพื่อให้อยู่รอด ชี้ระบบงานพ่วงทำเครียด งานไร้คุณภาพ หวังต้นสังกัดรับฟังเสียง

วันนี้ (5 มี.ค. 67) กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม รวมตัวกันที่หน้าอาคาร T-ONE ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท LINEMAN เพื่อต่อต้านการลดค่ารอบที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแพลตฟอร์ม LINEMAN และร่วมสะท้อนปัญหาชีวิตงานบนท้องถนน ที่พวกเขามองว่ามีแต่ความเสี่ยง ไร้การคุ้มครองที่เป็นธรรม จนเกิดกระแส #แรงงานทิ้งแพลตฟอร์ม เพราะหลายคนทนไม่ไหวกับสภาพการทำงานที่เป็นอยู่ หวังทางภาครัฐเข้าคุ้มครองสิทธิ กำหนดราคากลางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้พอเลี้ยงปากท้องต่อไปได้

ศักดิ์ดา กลิ่นเกษร แรงงานแพลตฟอร์ม เปิดเผยกับ The Active ว่า ในปัจจุบัน ค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียง ถูกปรับลดเหลือรอบละ 30-43 บาท จากปี 2564 ที่ได้ค่ารอบถึง 62 บาท ขณะที่บางพื้นที่ต่างจังหวัดอย่าง จ.สระบุรี ถูกปรับลดจาก 22 บาท เหลือรอบละ 15 บาทเท่านั้น ด้วยระดับค่าแรงที่ต่ำมาก ทำให้ใน 1 วัน จากที่เคยวิ่งงาน 8 ชม. ได้เงิน 2,000 – 3,000 บาท ตอนนี้ต้องพยายามวิ่งงานถึง 14-16 ชม. เพื่อให้ได้เงินสัก 1,000 บาท หรือบางวันก็ได้ไม่ถึงด้วย

ศักดิ์ดา ระบุว่า ตนมีภาวะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์นัก ต้องใส่เหล็กที่ขา คล้ายกันกับไรเดอร์รายอื่นที่มีภาวะพิการในบางจุด เช่น หูหนวก ต่อให้ออกจากงานแพลตฟอร์มเพื่อหางานอื่นที่มั่นคง ก็ทำได้ยาก เพราะเงื่อนไขร่างกายไม่เอื้อต่อการสมัครงานอื่น จึงต้องจำยอมทำงานบนแพลตฟอร์มเพื่อเลี้ยงชีพให้กับตนเองและครอบครัว ส่วนตัวยังรักในงานมาก แต่ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ทำให้ตนประสบกับคุณภาพการทำงานที่ไม่ดีนัก

“(แรงงานแพลตฟอร์ม) บางคน ไม่ได้มีตัวเลือกในงาน บางคนอายุก็มากแล้ว หรือวุฒิการศึกษาไม่ถึง ก็ยากจะไปทำงานอย่างอื่น เขาก็หวังทำงานนี้ให้หาเลี้ยงชีพไปได้”

ศักดิ์ดา กลิ่นเกษร

ศักดิ์ดา กลิ่นเกษร แรงงานแพลตฟอร์ม

ค่ารอบ ค่าตอบแทนต่ำ เป็นประเด็นสำคัญที่กลุ่มไรเดอร์ ออกมาเรียกร้องให้ทางต้นสังกัดเข้ามาพิจารณาอย่างเป็นธรรม เพราะภาระงานที่หนัก ต้องเสี่ยงภัยบนท้องถนน มลพิษและฝุ่นควัน บางรายยอมจ่ายประกันกับทางต้นสังกัดเพื่อให้ได้รับสิทธิคุ้มครอง เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุไป จนพวกเขาไม่สามารถทำงานได้ รายได้ที่ไว้จุนเจือครอบครัวก็จะยิ่งถดถอยมากขึ้น

กลุ่มไรเดอร์ยังสะท้อนถึงปัญหาของแพลตฟอร์มที่มีระบบงานพ่วง โดยบังคับให้ไรเดอร์ 1 คนต้องรับออเดอร์ควบจากลูกค้าสองจุด ระบบดังกล่าวจะเอื้อให้แพลตฟอร์มสามารถรับออเดอร์จากผู้ใช้ได้มากขึ้น แต่ทางไรเดอร์จะต้องอยู่บนท้องถนนนานมากขึ้น ใช้เวลานานกว่าอาหารจะถึงมือลูกค้า จนหลายครั้งก็ต้องเป็นที่รองรับอารมณ์จากผู้ใช้งานอีกด้วย

“ระบบงานพ่วงนี้ กลับไม่ได้ให้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่า ออเดอร์ที่รับพ่วงมาจะถูกลดค่ารอบลงประมาณ 35 – 50% แม้ว่าไรเดอร์จะต้องใช้เวลาขับนานมากขึ้นก็ตาม และยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อลูกค้าไม่ได้จ่ายค่าอาหารถูกลง ร้านค้าต้องจ่ายค่า GP ในอัตราเดิม แต่มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น แล้วผลประโยชน์นั้นตกอยู่ที่ใครกัน ?”

ศักดิ์ดา กลิ่นเกษร

ทางกลุ่มไรเดอร์ เตรียมยื่นข้อเรียกร้องให้ทางต้นสังกัดปรับค่ารอบให้เป็นธรรม และปรับแก้ไขกฎการรับงานให้มีความเป็นมิตรต่อแรงงานมากขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ยึดถือค่ารอบในราคาเดิม เนื่องจากราคาค่ารอบเดิมถือว่าเป็นราคาที่น้อยมากอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก

  2. ยกเลิกการจองรอบขับในแต่ละโซนพื้นที่ และในแต่ละช่วงเวลา หรือที่เรียกกันว่า ‘มังกร’ ให้ไรเดอร์ทุกคนได้รับงานที่เสมอภาคกัน ใครใกล้ร้านค้า คนนั้นควรได้ รับงานและงานที่เข้ามาไม่ควรมีระยะทางเกิน 1.5 กม. ถ้าหากไม่มีไรเดอร์รับ งานนั้น ระบบควรหาไรเดอร์บริเวณนั้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ถึงจะขยายระยะทางเพิ่ม

  3. ให้ไรเดอร์สามารถเลือกประเภทรับงานได้ เพราะไรเดอร์บางคนไม่ถนัดในงานส่งคน ถ้าไรเดอร์ปฏิเสธรับงานส่งคน ทำให้เปอร์เซ็นต์การรับงานลดลง และอาจทำให้โดนแพลตฟอร์มแบนไม่ให้รับงาน

  4. ยกเลิกงานพ่วง เพราะลูกค้าต้องใช้เวลาในการรออาหารที่นานขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว อีกทั้งลูกค้าจ่ายเงินค่าส่งเท่ากัน แต่ไรเดอร์ได้รับค่ารอบลดลง 35-50% และต้องใช้ระยะทางในการขับเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เบื้องต้น ชลพรรธน์ เกียรติสุขอำไพ รองประธานสมาคมไรเดอร์ไทย เปิดเผยว่า อย่างน้อยความคืบหน้าในวันนี้ ขอให้ทาง LINEMAN ชะลอการประกาศลดอัตราค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ก่อน แล้วต่อจากนี้ก็ให้เป็นการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มและทางบริษัทต้นสังกัด ว่าจะหาทางไปต่ออย่างไร เพราะส่วนตัวเชื่อว่าแรงงานแพลตฟอร์มทุกคนรักในงานที่ตัวเองทำ แต่กฎเกณฑ์ที่ทางบริษัทเพิ่งประกาศใหม่มีความเข้มงวดอย่างมาก แต่อีกด้านไรเดอร์ก็ต้องรับงานพ่วงพร้อมกันหลายงาน เสี่ยงคุณภาพงานตกหล่น นำไปสู่การทำผิดกฎโดยไม่ได้ตั้งใจ และถูกแบนจากแพลตฟอร์มอีก ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ส่วนนั้นหายไปทันที 

แรงงานบางคนชีวิตมีเงื่อนไข มีภาระผูกพัน แม้ค่ารอบจะลด กฎจะเข้มงวดแค่ไหน เสี่ยงถูกแบนโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ต้องพยายามทำรอบให้ถึง ไม่งั้นจะไม่มีเงินมาหาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว ขอแค่เพียงพื้นที่ให้เสียงของไรเดอร์ส่งไปถึงต้นสังกัด เพื่อปรับคุณภาพการทำงานให้เป็นธรรมมากขึ้น

“เราอยากทำงานให้ เราอยากบริการลูกค้า อยากบริการประชาชน แต่เราขอแค่ค่ารอบให้สอดคล้องกับค่าครองชีพจริง ขอแค่อยู่ได้บ้างนะครับ แต่ทุกวันนี้มันอยู่ไม่ได้”

ชลพรรธน์ เกียรติสุขอำไพ
ชลพรรธน์ เกียรติสุขอำไพ แรงงานแพลตฟอร์ม

ด้าน บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงว่า การปรับค่ารอบเริ่มต้นหรือโบนัสต่าง ๆ นั้นมีเจตนาหลักที่จะจูงใจ และเพิ่มจำนวนไรเดอร์ในช่วงเวลาและสถานที่ที่มีจำนวนคำสั่งซื้อมากกว่าจำนวนไรเดอร์ ทั้งนี้ก็มีจุดประสงค์เพื่อให้จำนวนงานในแพลตฟอร์มเติบโตขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับไรเดอร์ทุกท่านในระยะยาว ทางต้นสังกัด ยืนยันว่าเจตนาการปรับโครงสร้างในครั้งนี้มิใช่เพื่อลดรายได้ของไรเดอร์

นอกจากนี้ทาง LINEMAN ได้เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้มีการปรับปรุงระบบจัดสรรงานเพื่อลดระยะเวลาในการรออาหาร จำกัดขอบเขตรัศมีการจัดสรรงานเพื่อให้ไรเดอร์วิ่งงานในระยะทางที่ไม่ไกลเกินไป ปรับปรุงขั้นตอนการยื่นเรื่องขอเคลมค่าอาหารให้สะดวกยิ่งขึ้นผ่านแอปฯ และจะมีการนำเสนอประกันอุบัติเหตุรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมไรเดอร์ทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยแจ้งรายละเอียดให้ทราบเร็ว ๆ นี้

สำหรับปัญหาของระบบงานพ่วง ทางบริษัทชี้ว่า ปัจจุบันระบบงานพ่วงเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมจัดส่งอาหารทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการในช่วงเวลาที่มีคำสั่งซื้อสูง และได้ดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษามาตรฐานในการจัดส่งอาหาร เช่น ปรับปรุงระบบจัดสรรงานเพื่อลดระยะเวลาในการรออาหาร ปรับปรุงระบบจัดสรรงานเพื่อจ่ายงานพ่วงที่มีจุดรับอยู่ในทิศทางเดียวกัน พัฒนาวิธีการคำนวณคะแนนความพึงพอใจจากลูกค้า โดยไม่นับคะแนนความพึงพอใจ หากมีเหตุจากงานพ่วง รวมไปถึงการฝากซื้อสินค้าอื่นๆ นอกรายการมาคำนวณ เพื่อความเป็นธรรมต่อไรเดอร์

ทั้งนี้ ประเด็นของแรงงานแพลตฟอร์ม มีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงด้วยกัน อาทิ กระทรวงแรงงานในมิติการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกา “การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานค่าตอบแทนบนแพลตฟอร์มอีกด้วย

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกมายืนยันว่า ภาครัฐจะเร่งหาทางออกเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานธุรกิจแพลตฟอร์ม ส่วนเรื่องการผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานอิสระ ที่จะครอบคลุมถึงแรงงานกลุ่มไรเดอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงแรงงานเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณา โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้ให้ความคุ้มครองเรื่องสัญญาจ้างไว้ด้วยแล้ว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานให้กับลูกจ้างกลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active