ส่องโทษวินัย ครูอนาจารเด็ก! เทียบกรณี ครูวงโยฯ จ.กาญจนบุรี

หลังนักเรียนร้อง ถูกบังคับอนาจาร กว่า 40 คน และ ทำร้ายร่างกาย ขณะที่แนวทางพิจารณาโทษ ก.ค.ศ. ชี้ชัด ครู บุคลากรทางการศึกษา ล่วงละเมิดผู้เรียน เป็นความผิดวินัยร้ายแรง โทษไล่ออก

จากกรณีที่ เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ สายไหมต้องรอด พร้อมทีมงาน พาตัวแทนอดีตนักเรียนวงโยธวาทิตของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี เข้าร้องเรียนกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สโมสรตำรวจ ระบุว่า มีนักเรียนถูกครูประจำวงโยธวาทิตที่เพิ่งย้ายมาสอนได้ไม่นานลงโทษด้วยวิธีรุนแรง รวมถึงมีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กมากกว่า 40 คนในห้วงเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา โดยตัวแทนนักเรียนให้ข้อมูลว่า มีเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ อายุตั้งแต่ 14-18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาย และบางครั้งมีการทำร้ายนักเรียนด้วยการใช้ไม้ตีอย่างรุนแรงดังคลิปที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้สั่งการให้ตำรวจ สภ.เมืองกาญจนบุรี รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติออกหมายจับแล้วนั้น

อ่าน อดีต นร.ร้องถูกครูวงโยธวาทิตทำร้ายร่างกาย-ล่วงละเมิดทางเพศ

สำหรับความคืบหน้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี ได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ครูคนดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่ดูแลเด็กวงโยธวาทิต และเด็กในหอพักทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็ก โดยจะได้สั่งการให้หาครูคนอื่นลงไปดูแลแทน พร้อมกับสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีข้อร้องเรียนดังกล่าว 

ด้านครูคนดังกล่าว ยอมรับว่า ลงโทษเด็กด้วยวิธีการใช้ไม้เรียวตีจริง เนื่องจากตรวจพบว่าเด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ขโมยบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกตรวจยึดกลับไป ส่วนกรณีบังคับกระทำอนาจารนักเรียน ยืนยันว่า ไม่เคยทำ ทั้งนี้เรื่องคดีก็ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ

The Active สืบค้นโทษทางวินัยของข้าราชการครู และบุคคลากรทางการศึกษาที่ล่วงละเมิดผู้เรียน พบว่าเมื่อ 27 มิ.ย.66 ที่ ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 7/2566 ที่มี ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เห็นชอบ (ร่าง) แนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ ระบุว่า 

จากการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูที่ผ่านมา ต้องนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติกรณีข้าราชการครูล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษากำหนดไว้ ดังนั้น ในกรณีที่ข้าราชการครูกระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษา จึงปรับบทความผิดฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วหรือเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แล้วแต่กรณี 

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูกระทำผิดวินัย 6 กรณี ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 1306/ว 5 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2543 แจ้งไปยังส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 เนื่องจากพ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำการล่วงละเมิดต่อผู้เรียนและนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรค 3 ก.ค.ศ. จึงพิจารณากำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ โดยพฤติกรรมที่มีระดับความผิดที่ร้ายแรงมาก สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ดังนี้

  1. ใช้อำนาจในหน้าที่บังคับ หรือทำให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาต้องจำยอมให้ร่วมประเวณี เช่น ให้นักศึกษาที่ติด ร แก้ ร โดยยอมให้ร่วมประเวณี
  2. หลอกลวงพาผู้เรียนหรือนักศึกษา ไปเพื่อกระทำชำเรา หรือร่วมประเวณี
  3. ร่วมประเวณีหรือพยายามร่วมประเวณีกับผู้เรียนหรือนักศึกษา หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาบำบัดความใคร่ ไม่ว่าผู้เรียนหรือนักศึกษาจะสมัครใจหรือไม่
  4. กระทำการอนาจารผู้เรียนหรือนักศึกษาคนเดียวหรือหลายคนเป็นประจำ
  5. กระทำการถ่ายภาพหรือคลิปผู้เรียนหรือนักศึกษาที่ไม่สมควรทางเพศ หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาเปลือย หรือเปิดเผยร่างกายที่ไม่สมควร หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะคล้ายคลึงกัน

ส่วนพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษา นอกจากกรณีตามข้อ 1-5 เป็นพฤติกรรมที่มีระดับความผิดที่ร้ายแรงมาก หรือร้ายแรง แล้วแต่กรณี ระดับโทษไล่ออก หรือปลดออก แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ ตามกระบวนการเมื่อการพิจารณาโทษทางวินัยเป็นอันสิ้นสุด เรื่องจะถูกส่งต่อไปยัง คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา (กมว.) เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด หากเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ มีผลถึงขั้นเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ ตามมาตรา 54 (5) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active