“ครูขอสอน” หวั่นใช้ “ภารโรง” เข้าเวร ไม่แก้ปัญหา ขอจ้าง รปภ. ดูแลโรงเรียน

เชื่อ ครม. ยกเลิก “ครูนอนเวร” ลดภาระครูได้ แต่ยังต้องการความชัดเจนแนวปฏิบัติ แนะภาระครูที่ไม่จำเป็นยังมีอีกมาก ต้องรีบปลด เพื่อให้ได้สอนเด็กอย่างเต็มที่

ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติพิจารณายกเว้น มติ ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 ส่งผลให้โรงเรียน และสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ต้องจัดให้มีการนอนเวร ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2567 เป็นต้นมานั้น

โดยมติ ครม. ที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ ครูหญิง โรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ต.ดอยลาน อ.เมือง จ.เชียงราย ถูกคนร้ายทำร้ายร่างกาย ระหว่างอยู่เฝ้าเวรที่โรงเรียนตามลำพัง ทำให้โลกโซเซียลร่วมกันติดแฮชแท็ก #ยกเลิกครูเวรกี่โมง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มองว่า มติ ครม. 6 ก.ค. 2542 ไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน ที่สามารถจัดจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย นักการภารโรง หรือติดตั้งกล้องวงจรปิด การให้ครูต้องมาอยู่เวร จึงเป็นการเพิ่มภาระครู ที่นอกเหนือไปจากการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ

ขณะที่ข้อเสนอให้คืนอัตรานักการภารโรง 14,000 ตำแหน่ง ครม. ขอให้ กระทรวงศึกษาธิการ ไปจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาในครั้งต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อคืนอัตรานักการภารโรง กว่า 500 ล้านบาท

ล่าสุด โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ ออกคำสั่ง ยกเลิกการอยู่เวรยามรักษาการณ์ความปลอดภัย เวรวันหยุดสถานที่ราชการ ตามนโยบายลดภาระงานครูและบุคคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และตามมติ ครม. ที่ยกเลิกครูเวรแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศยกเลิกครูเวร 100% มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2566 โดยให้จ้างเอกชนเข้ามาดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนได้ ขณะเดียวกันยังมีประกาศจากสำนักการศึกษา ให้สำนักงานเขต จ้างเอกชนเข้ามารักษาความปลอดภัยได้ รวมถึง ข้าราชการที่ทำงานในศาลาว่าการกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องมาอยู่เช่นเดียวกัน เพราะมี รปภ. จำนวนมากคอยดูแลอยู่แล้ว

“ครูขอสอน” ตั้งคำถาม รักษาความปลอดภัยหน้าที่ “ภารโรง” ไหม ?

The Active พูดคุยกับ ปาริชาต ชัยวงษ์ ครูจาก “เครือข่ายครูขอสอน” ซึ่งเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมีเสียงสะท้อนจากครู และบุคลากรทางการศึกษามาโดยตลอด ว่า เวลาส่วนใหญ่ของครู หมดไปกับงาน หรือภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น จ่ายตลาด, ทำอาหารกลางวันให้เด็ก, งานเอกสาร, โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก

สอดคล้องกับงานวิจัยของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้ทำการศึกษาเอาไว้ว่า ใน 1 ปี มีวันเปิดเรียน 200 วัน แต่ครูต้องใช้เวลา 84 วัน หรือ 42% ไปกับงานนอกห้องเรียน ดังนั้นการเติมทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้นมาอีก 1 อัตรา เช่น นักการภารโรง จะช่วยคืนครูให้ห้องเรียน และเอาเวลาไปจัดการเรียนการสอนได้มากขึ้น

ปาริชาต ชัยวงษ์ ครูจาก “เครือข่ายครูขอสอน”

ปาริชาต ย้ำว่า ด้วยหน้าที่ของนักการภารโรง ถือว่าแทบจะทำงานบริการครอบคลุมทุกด้าน ขณะที่โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ จะจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยอีก 1 ตำแหน่ง จึงต้องการความชัดเจนของนโยบาย ว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้หรือไม่

“การจัดสรรนักการภารโรงเข้ามา ไม่แน่ใจว่าเพื่อแก้ปัญหาครูเข้าเวรตั้งแต่แรกหรือไม่ หรือเข้ามาเพื่อลดภาระงานครูตามนโยบายอย่างเป็นระบบ แล้วพอมีเหตุทำร้ายร่างกายขึ้นมาก็เลยให้ทำทุกอย่างไปเลยแล้วกันอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ปัญหาก็จะเพียงแค่ย้ายตำแหน่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนไป สิ่งที่ครูเรียกร้องคือ ให้คนที่มีความสามารถ ได้รับการฝึกซ้อมต่างหาก ที่จะเข้ามาดูแลรักษาความปลอดของภัยครู นักเรียน”

ปาริชาต ชัยวงษ์

อีกประเด็นที่ผู้ปกครองบางส่วน แสดงความกังวลว่า ยังจำเป็นที่เด็กๆ ต้องเข้าไปทำกิจกรรม หรือเข้าไปเล่น ใช้พื้นที่ของโรงเรียนในช่วงวันหยุด หากมีครูอยู่เวร น่าอุ่นใจกว่าอยู่ลำพังกับนักการภารโรงหรือไม่นั้น ปาริชาต กล่าวว่า ปกติแล้วหากเด็ก ๆ มีงานกลุ่มที่จะต้องมาทำกันในวันหยุดจะต้องมีการขออนุญาตเข้ามาก่อนเพื่อจัดครูเวรไว้ดูแล แต่ถึงอย่างนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูผู้หญิงล่าสุดก็จะเห็นได้ว่า ครูไม่มีกำลังพอที่จะปกป้องตัวเองหรือนักเรียนได้ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือการมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ไม่ใช่ให้ครูมาเข้าเวรในวันหยุด

ขณะที่การลดภาระงานครู ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องการความชัดเจนจากผู้กำหนดนโยบาย เช่น การให้ครูเป็นคนเซ็นตรวจรับงานโครงการต่างๆ ภายในโรงเรียน ซึ่งมีความเสียงที่จะเกิดความผิดพลาด และตกเป็นความผิดของครู ดังนั้นจึงต้องค่อยๆ ปลดภาระที่ไม่จำเป็นของครูออกไป เพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่สอน ดูแลเด็กอย่างเต็มที่

ส่องภาระ “นักการภารโรง”

ก่อนหน้านี้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำอยู่ โดยอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 9,000 – 15,000 บาท แต่ถูกยกเลิกไปช่วงปี 2562 โดยรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้ระบบจ้างเหมาบริการเฉพาะเรื่อง เช่น โรงเรียนอยากตัดหญ้า หรือซักผ้าปูที่นอน จะใช้วิธีจ้างแม่บ้าน หรือช่าง ในอัตราขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้เกิดผลพวงตามมา โดยเฉพาะการที่คุณครูเองซึ่งต้องเข้าเวรอยู่แล้ว ตามมติ ครม.เดิม ต้องมาทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยสถานศึกษา และทรัพย์สินไปพร้อมกัน แทนนักการภารโรง และ รปภ.

โดยบทบาทหน้าที่หลักๆ ของนักการภารโรง เช่น

  • ดูแล บำรุงรักษาทรัพย์สมบัติทุกอย่างของโรงเรียนให้ปลอดภัย และใช้งานได้ตลอดเวลา

  • ปฏิบัติงานประจำที่ภายในบริเวณโรงเรียนตลอดเวลา

  • เปิด – ปิด ประตู หน้าต่างของโรงเรียนในวันเปิดทำการทุกวัน

  • ทำความสะอาดอาคารเรียน ห้องน้ำ และบริเวณโรงเรียน

  • บำรุงรักษาไม้ดอก ไม้ประดับ

  • จัดหาบริการน้ำดื่ม น้ำใช้ ให้เพียงพอแก่ครู และนักเรียน

  • ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน

  • ปฏิบัติหน้าที่เวรในวันหยุดตามคำสั่ง และอำนวยความสะดวกให้ครูที่มาปฏิบัติหน้าที่เวร

  • ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ผู้บริหารมอบหมาย

ถ้าดูจากภาระงานทั้งหมด สถานศึกษาบางแห่งจำเป็นต้องมีนักการภารโรง 2 คน หรือมีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่ม 1 คน เพื่อไม่ให้เกิดภาระงานที่มากจนเกินไป และคุณภาพชีวิตที่ดีของนักการภารโรง ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญอีกคนหนึ่งด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active