เมื่อ นร.กลายเป็นคอนเทนต์ครู บทสะท้อนความหย่อนยาน ‘สิทธิเด็ก’ ในชั้นเรียน

กมธ.การศึกษา ห่วงเลยเถิด ‘โรคใคร่เด็ก’ ภัยเงียบในสังคม เล็งเสนอผลักดันคุ้มครองสิทธิเด็กใน พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่

จากกรณีการแชร์คลิปที่ครูชั้นอนุบาล ถ่ายวิดีโอวิธีตรวจสอบว่าเด็กนอนหลับจริงหรือแกล้งหลับ ภายหลังเผยแพร่คลิปสู่สาธารณะ นำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมวงกว้าง บางส่วนมองเป็นคลิปที่น่ารัก น่าเอ็นดู

แต่อีกด้านก็มองว่านี่ เท่ากับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก ขณะที่ พ่อแม่ ผู้ปกครองบางส่วน ก็ตั้งข้อคำถาม ว่า “ต้องส่งลูกเรียนโรงเรียนไหน ถึงจะไม่กลายมาเป็นคอนเทนต์ครู

จนถึงขั้นทวงถามไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อไร ? จะจัดสอบการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย PDPA และ เมื่อไร ? จะเอาจริงเอาจังกับครูที่ละเมิดสิทธิเด็กแบบนี้

หลากหลายความเห็นในโลกออนไลน์ ก็ตั้งคำถามกับกรณีที่เกิดขึ้น เช่น “จริง ๆ ถ้าตระหนักเรื่องสิทธิเด็กครูจะไม่ทำ แต่คนที่คิดได้จริงก็น้อยมาก”, “ตั้งแต่มีคอนเทนต์ ก็เห็นถ่ายลงเต็มกันไปหมด จนไม่รู้ว่าอันไหนควรอันไหนไม่ควร”, “ไม่เหมาะสม ที่จะนำบรรยากาศภายในที่เป็น Private ห้องเรียนตอนเด็กนอนออกมาลงสู่สาธารณะ”, “บอกคุณครูแต่แรกจะดีไหมคะ ว่าไม่สะดวกจะให้คุณครูถ่ายติดลูกเรา”

ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร

ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับ The Active ว่า การขอความยินยอมจากเด็กนั้นก็ยังมีช่องโหว่อยู่ เพราะเด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้โดยวุฒิภาวะสมบูรณ์ จึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่ครูถ่ายคลิปเด็กอาจเป็นการเพิ่มยอดติดตามและรับโฆษณาสินค้าได้ และที่รุนแรงไปกว่านั้น การเผยแพร่คลิปเหล่านี้ อาจกระตุ้นอาการของ ‘โรคใคร่เด็ก’ (Pedophilic Disorder) ซึ่งไม่ใช่รสนิยมทางเพศ แต่เป็นอาการทางจิตที่ไม่สามารถมีความรู้สึกทางเพศกับคนในวัยเจริญพันธุ์เหมือนกันได้ แต่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ นี่ถือเป็นอาชญากรรม ที่แอบแฝงอยู่ในสังคมไทย ไม่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก

ปารมี ย้ำด้วยว่า ในสังคมไม่อาจรู้ได้ว่าใครมีอาการเหล่านี้อยู่ และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็กในโลกที่สื่อเปิดกว้าง จึงเป็นเรื่องที่ครู และผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ แต่ล่าสุดยังไม่มีระเบียบหรือกฎกระทรวงใดเข้ามากำกับพฤติกรรมครู

“ดิฉันจะพยายามผลักดันเรื่องนี้ต่อในกรรมาธิการการศึกษา ว่านอกจากจะต้องบัญญัติลงไปใน พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ อาจจะต้องให้โรงเรียนออกหนังสือสั่งการ หรือเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้ครูต้องตระหนักในสิทธิเด็ก ไม่ให้ถ่ายภาพนิ่งและคลิปลงโซเชียลมีเดีย”

ปารมี ไวจงเจริญ

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ หรือ ‘หมอโอ๋’ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้เปิดแคมเปญ ‘กระทรวงศึกษาต้องปกป้อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok’ ผ่านเว็บไซต์ Change.org ภายหลังการเผยแพร่คลิปครูพาเด็กไปกล้อนผม คลิปเด็กร้องไห้ เมื่อเขียนการ์ดวันแม่ หรือคลิปเด็กกรีดร้องเพราะไม่อยากมาโรงเรียน

โดยความเห็นของ ผศ.พญ.จิราภรณ์ ในขณะนั้นมองว่า เด็กหลายคนคงรู้สึกไม่ดี เพราะเนื้อหาที่ลงไปในโลกออนไลน์ จะอยู่ตลอดไป มีลักษณะเป็น Digital Footprint ส่งผลกระทบไปจนถึงวัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่ได้ในอนาคต

ส่วนผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยก็ไม่ต้องการให้ใครมาถ่ายรูป-อัดคลิปลูกของตนเอง โดยเฉพาะถ่ายเพื่อล้อเลียน เน้นความสนุกสนาน แต่เพราะด้วยอำนาจของครูในชั้นเรียนที่เหนือกว่า อาจทำให้เด็กหรือผู้ปกครองส่วนหนึ่งไม่กล้าปฏิเสธ และไม่กล้าว่ากล่าว ซึ่งในแคมเปญเมื่อครั้งนั้นมีผู้ลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 15,000 รายชื่อ

ขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ เคยออกมาเตือนถึงประเด็นดังกล่าว โดยขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดระมัดระวังเรื่องนี้ และสร้างการรับรู้ว่า การกระทำที่ทำไปด้วยความเอ็นดู อาจเป็นการเกินเลยจนละเมิดสิทธิได้ ก็ขอให้ระมัดระวังและอยู่ในกรอบของการเรียนการสอน และขอให้เป็นเรื่องของการศึกษาเท่านั้น

ภายหลังที่กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2565 ได้มีการชี้แจงถึงขอบเขตการเก็บข้อมูลและการบันทึกถ่ายภาพของครูในโรงเรียน เบื้องต้น

หากครูต้องการถ่ายรูปนักเรียนเพื่อเป็นหลักฐานในการพัฒนานักเรียน, ต้องทำคลิปเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ หรือติดกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัย การกระทำเหล่านี้สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย PDPA แต่ควรชี้แจงให้นักเรียนทราบ ถึงการบันทึกข้อมูลเสมอ ทางที่ดีควรทำ Consent Form (แบบตอบรับความยินยอม) ให้เป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งถึงนักเรียน และผู้ปกครองด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active