ไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่ม “อนุทิน” ยันไม่ติดต่อง่าย

นักไวรัสวิทยาขออย่าเทียบมาตรฐานการป้องกันโรคฝีดาษลิงกับ HIV เพราะใส่ถุงยางก็ติดได้ ขณะที่ สธ.ยกระดับศูนย์ EOC เป็นระดับกระทรวงเฝ้าระวังครอบคลุมทั่วประเทศ มีความพร้อมทั้งการดูแลรักษา มีวัคซีนฝีดาษคนแช่แข็ง 40 ปี นำมาใช้ได้ถ้าจำเป็น

วานนี้ (23 ก.ค. 2565) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ประกาศนี้ถือเป็นคำเตือนขั้นสูงสุดของ WHO ภายหลังจำนวนผู้ติดเชื้อโรคนี้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก

วันนี้ (24 ก.ค. 2565 ที่) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประชุมเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเข้าประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกล

อนุทิน กล่าวว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้เรียกประชุมทันทีเพื่อเตรียมแนวทางตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค การป้องกันและการดูแลรักษา 

ก่อนหน้านี้ได้มีการเฝ้าระวังติดตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียซึ่งปัจจุบันได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว รวมถึงได้ตรวจสอบผู้สัมผัสใกล้ชิดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบผู้ใดที่ติดเชื้อ จึงได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้เพิ่มความระมัดระวังบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานของระบบเฝ้าระวังจากสถานการณ์โควิด 19 อยู่แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ส่วนการติดตามผู้ป่วยฝีดาษลิง ชาวไนจีเรีย อนุทิน ระบุว่าต้องรอทางตำรวจยืนยัน แต่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวได้มีการเดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้วจะออกไปด้วยวิธีใดก็ช่างเขา ขอแค่อย่าอยู่ในประเทศไทยก็ดีแล้ว ส่วนการเฝ้าระวังติดตามควบคุมโรค ทางกรมควบคุมโรค ก็ได้ติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดอยู่ ขออย่าตื่นตกตระหนกใช้ชีวิตตามปกติ

อนุทินกล่าวถึงความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า ขณะนี้ได้ยกระดับการเฝ้าระวังจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรมควบคุมโรค เป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้การสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ 

สำหรับวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้ ส่วนด้านการรักษาพยาบาลโรคนี้มียารักษาเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง จึงใช้การรักษาตามอาการ ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ 

โดยวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค. 2565) คณะกรรมการวิชาการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะมีการประชุมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวทางคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกต่อไป

ขออย่าเทียบฝีดาษลิง กับ HIV

จากประเด็นที่ อนุทิน กล่าวว่า ฝีดาษลิง จะมีลักษณะเดียวกับโรคเอดส์ HIV หากมีเพศสัมพันธ์สุ่มเสี่ยง ไปใช้บริการ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยง หากป้องกันเหมือนป้องกันโรคเอดส์ก็จะปลอดภัย และช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ นั้น

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่แนะนำให้นำ HIV กับ ฝีดาษลิง มาเทียบกัน เพราะการแพร่ใช้วิธีต่างกัน เช่น ถุงยางอนามัยป้องกัน HIV ได้ แต่กันฝีดาษลิง ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม อนุทิน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีป้องกันโรคโควิด 19 ที่ทุกคนปฏิบัติอยู่ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการติดโรคได้ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ WHO ระบุว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่พบจากการตรวจในสถานบริการเกี่ยวกับโรติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และสถานบริการทางสุขภาพอื่น ๆ และส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อยังมีอาการไม่เหมือนฝีดาษลิงทั่วไป โดยบางรายมีตุ่มหนองก่อนมีไข้ และมีแผลเกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน

สำหรับประเทศที่ฝีดาษลิงถือเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน กาบอง ไอวอรีโคสต์ กานาพบเฉพาะในสัตว์

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS