วัคซีนฝีดาษลิง: ต้องเร่งจัดหา หรือยังไม่จำเป็น ?

“อนุทิน” หารือ ผอ.ใหญ่ WHO ขอสนับสนุนวัคซีนฝีดาษคน เตรียมรองรับกรณีการระบาดของฝีดาษลิง ขณะที่ “ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์” ชี้วัคซีนยังไม่จำเป็นเหตุยังไม่พบระบาดวงกว้างและมีความเสี่ยงในคนภูมิคุ้มกันต่ำต่ำ

เมื่อครั้งโควิด-19 ระบาดหนัก  อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเคยกล่าวว่า “สิ่งแรกที่คิดถึงคือวัคซีน” แม้จะเกิดคำถามถึงการจัดหาที่ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ระบาดจากการ “แทงม้าตัวเดียว” และไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ที่หลายประเทศร่วมลงขัน ล้วนเป็นบทเรียนในการรับมือโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีก 

3 ปีต่อมาโควิด-19 กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น ขณะเดียวกันก็เกิดโรคระบาดที่เคยกวาดล้างได้สำเร็จไปแล้วหลายสิบปีกำลังอุบัติซ้ำ จำนวนผู้ติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” มีเพิ่มขึ้นทุกวันล่าสุด ณ วันที่ 25 พ.ค. 2565 พบผู้ป่วยสะสม 309 คนจากโซนยุโรปเริ่มขยายใกล้ประเทศในเอเชียแล้ว

แม้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่คณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้ ฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังไม่แพร่เป็นวงกว้าง และประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ป่วยสงสัยเข้าประเทศ โดยพบผู้ป่วยในยุโรป และเป็นสายพันธุ์ West African ที่มีความรุนแรงน้อย อัตราป่วยตาย 1%

การระบาดของฝีดาษลิงที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่งบอบช้ำจากโควิด-19 หรือไม่ “วัคซีน” เครื่องมือในการป้องกันโรคระบาดกลับมาเป็นโจทย์ของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งว่าจะต้องเร่งจัดหาหรือไม่ 

ข้อมูลระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษคนสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิง ได้ถึง 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษคนถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จึงเป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ นั่นหมายความว่า คนไทยที่อายุ 45 ปีขึ้นไปได้รับการปลูกฝี จะมีภูมิคุ้มกัน ก็จะเสี่ยงน้อยกว่า ส่วนคนที่เกิดหลัง พ.ศ.2523 ไม่ได้รับการปลูกฝี ก็อาจนำมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก 

ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา  อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าพบ เท็ดรอส แอดฮานอม ผอ. องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้ยอมรับว่า มีการหารือเพื่อขอรับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox) จากองค์การอนามัยโลกด้วย นับเป็นการส่งสัญญาณว่ากระทรวงสาธารณสุขเริ่มจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดนี้แต่เนิ่นๆ 

แต่วัคซีนฝีดาษลิงจำเป็นแล้วหรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงเพราะยังไม่ได้ระบาดเป็นวงกว้าง และแพร่เชื้อได้ต่ำกว่าโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่ติดเชื้อกันง่าย ขณะที่ฝีดาษลิง ต้องสัมผัสใกล้ชิดโดนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อในระยะที่มีอาการแล้ว เช่น มีตุ่ม หรือแผล ทำให้สังเกตได้ชัดเจน 

5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ออกหนังสือชี้แจงกรณีโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง)  โดยระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้ เนื่องจากโรคนี้ยังถือเป็นการระบาดในวงจำกัดอยู่ในต่างประเทศ และประเทศไทยไม่เคยพบการติดเชื้อนี้มาก่อน ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่มาก 

การให้วัคซีนฝีดาษวัวที่ป้องกันฝีดาษคนและฝีดาษวานรได้ด้วย จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบในขณะนี้ และคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว ก็ยังสามารถป้องกันโรคได้อยู่ มีการศึกษาพบว่าผ่านไป 80 ปีภูมิคุ้มกันก็ยังใช้ป้องกันได้

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย หนึ่งใน 5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ แสดงความกังวลถึงข้อควรระวังว่า วัคซีนนี้เป็นแบบเชื้อเป็น จึงมีความเสี่ยงมากการให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลามทั้งตัว และเสียชีวิตได้ จากการประเมินตอนนี้ที่ไม่มีการระบาด การให้วัคซีนจึงยังมีความเสี่ยงกว่า แต่ถ้ามีการระบาดแน่นอนว่าอาจจำเป็น

“ต้องติดตามว่าจะมีการระบาดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันคนกลัวเรื่องโรคระบาดมาก ทำให้เมื่อพบการติดเชื้อที่ผิดปกติก็จะมีการแจ้งเตือนเร็ว ทำให้แต่ละประเทศมีการเริ่มกลไกการรับมือ เฝ้าระวังได้เร็ว การจัดการปัญหาทำได้เร็วปัญหาก็น้อยลง” 

ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS