พบความผิดปกติ รับฟังความเห็นขอประทานบัตรเหมืองแร่ อ.รือเสาะ

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส ส่งหนังสือเชิญชาวบ้านเข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็น ชาวบ้าน ระบุ พบความผิดปกติหลายอย่าง กังวลกระบวนการรับฟังอาจไม่โปร่งใส หวังอยากให้นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่

วันนี้ (21 พ.ค. 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเยาวชนตำบลรือเสาะออก Ruesook Subdistrict Youth Network อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รายงานว่า มีหนังสือเชิญจาก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชนบ้านเปาะรามะ ม.2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะขอประทานบัตรทำโครงการเหมืองแร่หินอุตสหกรรมชนิดหินแกรนิต เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในวันพฤหัสบดี ที่ 25 พ.ค. ที่จะถึงนี้ แต่ขณะนี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ในหนังสือเชิญมีการะบุชื่อของเด็ก 2 ขวบร่วมด้วย ทำให้ชาวบ้านเกิดข้อสังเกตถึงความไม่ปกติของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้

จึงตั้งข้อสังเกตว่าหนังสือเชิญออกมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2566 ชาวบ้านเริ่มได้รับหนังสือในวันที่ 17 พ.ค. 2566 และหนังสือถึงมือชาวบ้านยังไม่ทั่วถึง แต่จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 25 พ.ค 2566 ชาวตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจงใจให้ล่าช้า และไม่ให้ชาวบ้านเตรียมการทันหรือไม่

สำหรับความกังวลที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. นี้ คือ ประการแรก อาจมีการปิดกั้นคนนอกพื้นที่เข้า อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านขาดการสื่อสารกับสังคมภายนอกได้ สอง ในกรณีที่มีการเชิญเด็กที่อายุ ต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจถูกนับหัวเป็นผู้ร่วมมารับฟังความคิดเห็น และถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ในทางอื่น และสาม ความปลอดภัยของชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้คัดค้าน

ตัวแทนจากเครือข่าย ระบุว่าก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ ต.รือเสาะออก แต่เป็นคนละหมู่บ้าน และครั้งนี้ที่มีการขยับมาที่ชุมชนของตนจึงกังวลเรื่องผลกระทบที่จะตามมาในเรื่องมลพิษฝุ่นที่อาจเกิดจากการระเบิดเพราะในเอกสารที่แนบมาระบุว่า จะทำเหมืองโดยวิธีเหมืองเปิดแบบขั้นบันได และในรัศมี 2 กิโลเมตรในพื้นที่ ที่จะมีการขอประทานบัตรทำโครงการ มีโรงเรียนอยู่ 3 จุด ซึ่งหนึ่งในนั้นอยู่ติดกับภูเขาที่เป็นไข่แดง มีวัด 1 จุด และมัสยิดอีกประมาณ 6 จุด ซึ่งหากพื้นที่นี้สามารถเดินหน้าไปจนถึงการทำเหมืองได้อาจส่งผลกระทบกับการเรียน และสุขภาพของชาวบ้านบริเวณนั้น

ตัวแทนเครือข่ายยังยอมรับอีกว่า มีความกังวลเนื่องจากว่าในชุมชนไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและชาวบ้านอาจไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องโครงการทำเหมืองและผลกระทบที่จะตามมามาก จึงหวังอยากให้นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ลงพื้นที่ เพื่อช่วยให้ข้อมูลและแนะนำชาวบ้าน และขณะนี้ชาวบ้านกำลังล่ารายชื่อชาวบ้านในชุมชน เพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับโครงการทำเหมืองชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ข้อมูลระบุว่าเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด อาหะมะ กรุ๊ป โดยโครงการทำเหมืองแปลงนี้ จะเปิดการทำเหมืองโดยวิธีเหมืองเปิดแบบขั้นบันได (Open Cut) ด้วยการใช้เครื่องจักรกลหนักและระเบิดเข้าช่วย การจุดระเบิดด้วยแก็บไม่ใช้ไฟฟ้าแบบจังหวะถ่วง (Non – Electric Cap) ไม่มีการใช้น้ำในการดำเนินการแต่อย่างใด แต่จะใช้น้ำเพียงลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น ตามเส้นทางลำเลียงหินบริเวณหน้าเหมือง โดยใช้รถบรรทุกน้ำทำการฉีดพรมน้ำตามบริเวณต่าง ๆ รวมทั้ง เส้นทางรถยนต์และบริเวณที่อาจจะทำให้เกิดฝุ่นได้ภายในพื้นที่โครงการ

โดยขอบเขตพื้นที่ที่จะทำเหมืองและกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง พื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 1/2565 ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีเนื้อที่ 114 ไร่ – งาน 92 ตารางวา ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. จำนวน 5 แปลง ซึ่งได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินแล้วให้ขอประทานบัตรทับเต็มทั้งแปลง

ซึ่งทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับพื้นที่ภูเขา ทิศใต้ติดต่อกับพื้นที่ราบและพื้นที่ภูเขา ทิศศตะวันตกติดต่อ กับพื้นที่ราบ เป็นส่วนยางโดยรอบ เนื่องจากไม่มีการใช้น้ำในการทำเหมือง จึงไม่มีการระบายน้ำจากการทำเหมืองแต่อย่างใด แต่ในช่วงฤดูฝนน้ำฝนที่ไหลผ่านบริเวณหน้าเหมืองก็จะก่อปัญหาการชะล้างผิวดิน เกิดการ พัดพาตะกอนลงไปรบกวนในพื้นที่ที่ไหลผ่าน หากน้ำฝนไหลผ่านพื้นที่ที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ซึ่งต้นไม้จะช่วยยึด ตะกอนดินทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำขุ่นข้น ทั้งนี้ จะมีการเปิดหน้าเหมืองให้มีลักษณะเป็นขั้นบันไดและควบคุม ความลาดเอียงพื้นที่ทำเหมืองให้น้ำลาดเทไหลลงสู่ที่ต่ำ ไหลลงสู่บ่อดักตะกอนในบริเวณของพื้นที่โครงการ ดังนั้น เพื่อให้สามารถควบคุมระบบระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทางห้างฯ จะดำเนินการขุดคูระบายน้ำ เพื่อป้องกัน/ลดน้ำฝนที่ไหลผ่านและบังคับการไหลของน้ำผ่านกันทำนบดิน เพื่อชะลอความเร็วของน้ำและตัก ตะคอนจากน้ำบริเวณต่าง ๆ และหากตะกอนสะสมมากขึ้นก็จะทำการขุดลอกเพื่อให้คูระบายน้ำและบ่อดัก ตะกอนใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอ สำหรับน้ำในบ่อตกตะกอนจะสูบน้ำไปใช้ในระบบสเปรย์น้ำของโครงการต่อไป การแต่งแร่เบื้องต้นห้างฯ จะใช้เครื่องโม่หินแบบเคลื่อนที่ที่มีระบบปิดคลุมอย่างดี และมีระบบ สเปรย์ช่วยลดผลกระทบด้านฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active