ซัด “8 ปี ประยุทธ์” ล้มเหลวจัดการแร่ เอื้อทุน เมินส่วนร่วมประชาชน

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ย้ำ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ต้องปรับแก้ พร้อมเรียกร้องรัฐบาล ทบทวน และชะลอ แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ทันที เตรียมยกระดับคัดค้านถึงที่สุด

วันนี้ (21 ส.ค.65) เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ แถลงข่าว “8 ปี รัฐบาลเผด็จการ กับความล้มเหลวการบริหารจัดการแร่” โดยมีตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายเหมืองแร่จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศร่วมแสดงจุดยืน 3 ประเด็นสำคัญ คือ ขอให้รัฐบาลทบทวนและชะลอแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (2565-2569) เนื่องจากมองว่าการกำหนดแหล่งแร่ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่, นอกจากนี้ยังขอให้ทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 รวมทั้งยุทธศาสตร์บริหารจัดการแร่ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องยกเลิกไปด้วย

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ระบุว่า พ.ร.บ.แร่ 2560 เกิดขึ้นในยุค คสช. นั้นทำให้ตลอด 8 ปี ที่ประเทศอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับพบว่าการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศไม่เคยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญอยู่กับผลกระทบ และลุกขึ้นมาเรียกร้องการแก้ไข การฟื้นฟูด้วยตัวเอง ในขณะที่ภาครัฐไม่เคยนำผลกระทบที่เกิดขึ้นมาใช้เป็นบทเรียน แต่กลับเปิดทางให้กับการสำรวจ การสัมปทานแร่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ที่ไม่เคยทบทวนเลยว่า เขตแหล่งแร่ที่กำหนดขึ้นนั้นกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต และคุณค่าทรัพยากร ที่สำคัญคือไม่เคยถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

แววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ย้ำว่า ยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี มีปัญหา ซึ่งความจริงแล้วยุทธศาสตร์ที่มองถึงอนาคต ควรต้องกำหนดการใช้ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การมุ่งทำเหมือง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน โดยไม่คำนึงถึงทรัพยากร ว่าจะมีใช้อย่างไร เพื่อให้เป็นสินทรัพย์ที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ที่สำคัญคือการกำหนดยุทธศาสตร์แร่ ไม่ได้มาจากล่างขึ้นบน โดยให้ประชาชนร่วมคิด ตัดสินใจด้วย

“การวางยุทธศาสตร์ชาติ คือการกำหนดแนวทางให้ทุกคนเดินทางร่วมกันไปสู่อนาคต เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์แร่ ที่ต้องทำให้ทุกคนเดินไปด้วยกันได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเดินทางไปพร้อมกัน แนวคิดนี้ทำให้ไทยมีปัญหามาก ๆ จึงต้องหันกลับมามองเรื่องนี้ให้มากขึ้น”

ขณะที่ สุเมธ เหรียญพงษ์นาม ตัวแทนจากกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว จ.ปราจีนบุรี บอกว่า ยุทธศาสตร์แร่ ที่ ตามมาด้วย พ.ร.บ.แร่ ปัญหามีอยู่หลายมิติ ทั้งระบบโครงสร้าง ที่ประชาชนไม่ได้ร่วมคิดตั้งแต่ต้น ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดว่าจะมีเหมือง ไปถึงการอนุญาตทำเหมือง ต้องเน้นไปที่การมีส่วนร่วม มองไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย ต้องลงไปฟังความเห็นในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้รับรู้ถึงข้อกังวลในมิติต่าง ๆ แต่การรับฟังความเห็นที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ กลับยิ่งทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้งกัน โดยรัฐรับฟังเพียงแค่บางชุมชน ทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ไม่ได้ถูกสะท้อนความกังวล

มณีนุด อุทัยเรือง ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได จ.หนองบัวลำภู  ยอมรับว่า เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ที่กำหนดอยู่ในร่างแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2  ซึ่งเตรียมประกาศใช้ต้นปี 2566 นั้น จะยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะสิ่งที่กำหนดในแผนแม่บทฯ ขาดการสำรวจพื้นที่จริง ทำให้ทรัพยากรถูกมองข้ามไป สิ่งที่ขาดไป คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เขตแหล่งแร่ ไม่ควรได้มาจากการไปชี้เอาว่าตรงไหนมีแร่ แต่ควรลงพื้นที่ไปสำรวจจริง ๆ ไม่ควรยึดจากเอกสาร หรือ ข้อมูลเดิมที่เกิดขึ้นมาในอดีต

เช่นเดียวกับ พิสิษฐ์ เป็ดทอง ตัวแทนกลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง จ.สตูล ก็ย้ำว่า แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ไม่ควรมองแค่ในแง่เศรษฐกิจ แต่ต้องมองไปถึงความเป็นมนุษย์ด้วย บางพื้นที่ต้องมองให้รอบด้าน ไม่ใช่การส่งเสริมการพัฒนาที่ย้อนแย้งกับความต้องการ และศักยภาพในพื้นที่

“เราเห็นแล้วว่าพื้นที่ ที่เกิดเหมืองมีแต่ความเดือดร้อน แล้วเราจะเอาเหมืองอีกเหรอ จะเอามลพิษ อีกเหรอ บางพื้นที่มีแหล่งน้ำซับซึม มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ จะทำให้มันหมดไปจากการทำเหมือง จึงต้องลงไปสำรวจให้เห็นศักยภาพที่แท้จริง ก่อนจะตัดสินใจ”  

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ยืนยันว่า จากนี้จะมีปฏิบัติการทั้งในระดับพื้นที่ ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อให้ชะลอแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ที่จะประกาศใช้ต้นปีหน้า โดยต้องทบทวนแผนแม่บทฯ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องให้ประชาชนได้ร่วมตัดสินใจ สอดคล้องกับความต้องการคนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อเปลี่ยนมุมมองแนวคิดใหม่ ไม่ให้อำนาจผูกขาดบริหารจัดการแร่อยู่ที่ภาครัฐฝ่ายเดียว  นอกจากนี้ต้องปรับแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ให้ดีขึ้น ยกเลิกยุทธศาตร์แร่ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อปรับมุมมองด้านทรัพยากรแร่ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บนฐานความต้องการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้าน ส.รันตมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ยืนยันว่า 8 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนชัดเจนถึงความพยายามบริหารจัดการทรัพยากรแร่ ที่ไม่ได้เอื้อการใช้ประโยชน์ของประชาชน ทั้งกฎหมาย และแผนแม่บทฯ ชี้ให้เห็นว่าเปิดโอกาสให้กับกลุ่มทุน

“ถ้ามองว่า 8 ปี ของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด แต่ในความจริงก็ยังมีความอนุมัติการทำเหมืองทิ้งทวนอยู่ในหลายพื้นที่ ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ทั้ง ๆ ที่หลายปีก่อนหน้านี้ประชาชนได้ร่วมกันคัดค้านจนประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่สุดท้าย ครม.ก็ไฟเขียวให้เปิดเหมือง สะท้อนเป็นอย่างดีว่ารัฐบาลนี้ ไม่เคารพสิทธิชุมชน และข้อห่วงกังวลของประชาชน ถูกมองเป็นเรื่องสุดท้าย เมื่อเทียบกับความต้องการของกลุ่มทุน หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม และเป็นที่จดจำ ต้องทิ้งทวนด้วยการสั่งชะลอแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ทันที สั่งให้ทบทวนกระบวนการขออนุญาต ขอทำเหมืองทั้งหมด และกฎหมายที่มีช่องโหว่ก็ต้องแก้ไขให้สมบูรณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่ยั่งยืนมากที่สุด”    

สำหรับ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ที่ร่วมประกาศจุดยืนในการแถลง “8 ปี รัฐบาลเผด็จการ กับความล้มเหลวการบริหารจัดการแร่” ประกอบด้วย

  • กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
  • กลุ่มรักษ์บ้านแหง  จ.ลำปาง
  • กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได  จ.หนองบัวลำภู
  • คนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ จ.กาฬสินธุ์
  • กลุ่มรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย
  • กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร
  • กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร
  • กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำทับ  จังหวัดกระบี่
  • เครือข่ายรักบ้านเกิดอ่าวลึกน้อย จังหวัดกระบี่
  • กลุ่มรักษ์เขาบังใบ จ.สตูล
  • กลุ่มรักษ์เขาลูกเล็กลูกใหญ่ จ.สตูล
  • กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง จ.สตูล
  • สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
  • กลุ่มรักษ์หินจอก  จ.ตรัง
  • กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย
  • เครือข่ายคัดค้านเหมืองแร่แมงกานีส จ.ลำปาง
  • กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว จ.ปราจีนบุรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active