วันนี้ (13 ก.ค. 2566) แม้ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แบบไร้คู่แข่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การอภิปรายระหว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่งสัญญาณถึงข้อกังวลในการนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีของพิธา โดยเฉพาะความกังวลเรื่องคุณสมบัติ ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี และจุดยืนไม่โหวตจาก ส.ส. และ ส.ว. กรณีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
แต่ท้ายสุด หาก พิธา แคนดิเดตจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งและมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ที่รวบรวม “เสียงข้างมาก” ในสภาผู้แทนราษฎรได้ ไม่ผ่านโหวตจริง ๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง The Active รวบรวมมาให้ดูกัน
ยิ่งยืดเยื้อ รัฐบาลรักษาการ (พล.อ. ประยุทธ์) ยิ่งอยู่นาน
ถ้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่ง 8 พรรคร่วมเสียงข้างมากในสภาฯ ตัดสินใจส่งชื่อชิงแคนดิเดตเพียงคนเดียว ไม่ผ่านโหวตในสภาฯ และไม่มีรายชื่ออื่นเข้าชิง นั่นหมายถึงว่า เราจะยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ส่วนจะเรียกประชุมเปิดโหวตกันอีกครั้งได้ในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ยังต้องรอความเห็นจากที่ประชุม เช่นเดียวกัน ต้องรอดูว่าครั้งหน้า 8 พรรคร่วมจะยังเสนอชื่อพิธา เป็นแคนดิเดตซ้ำได้หรือไม่
ถ้าการโหวตเลือกนายกฯ ยืดเยื้อออกไปมากเท่าไหร่ อายุของรัฐบาลรักษาการก็จะยาวนานมากขึ้น เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 กำหนดให้รัฐบาลรักษาการ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม. ใหม่เข้ารับหน้าที่
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า รัฐบาลรักษาการ จะถูกจำกัดอำนาจ เพราะไม่สามารถอนุมัติงานหรือโครงการที่ก่อภาระผูกพัน ครม. ชุดต่อไปได้ ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้าย หรือ ถอดถอนบุคลากรของรัฐและอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ซึ่งเป็นการออกแบบไว้ใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะสั้น ๆ
ถ้าไม่ได้ “นายกฯ” วันนี้ ความเชื่อมั่นจะถดถอย กระทบการลงทุน, การออกกฎหมาย, นโยบายล่าช้า
การตั้งรัฐบาลช้ายังส่งผลต่อ ความเชื่อมั่นก็ถดถอย แน่นอนกระทบเศรษฐกิจ การลงทุนต่าง ๆ ก็ต้องชะลอออกไป ขณะที่การเดินหน้าตามนโยบายก็จะล่าช้า โดยเฉพาะร่างกฎหมายสำคัญอย่าง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ถ้าเสนอชื่อพิธา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 กี่ครั้งก็ยังไม่ผ่านโหวต สถานการณ์แบบนี้ อาจทำให้ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ เช่น เปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ และต้องเป็นคนที่เชื่อว่า จะได้เสียงสนับสนุนเกิน 376 เสียง และอาจเลยไปถึงองค์ประกอบของรัฐบาลที่อาจจะเปลี่ยนไป
สุดทางแล้ว! รธน.60 ยังเปิดทางให้มี นายกฯ คนนอก
แต่ถ้าสุดท้าย ยังไม่ผ่านเสียงโหวตจากสองสภาฯ อาจไปสู่กลไกที่ รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ นั่นคือ นายกฯ คนนอก หรือ ได้ “นายกฯ ไม่ตรงปก” ตามที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนได้พรรคเสียงข้างมาก หรือการที่ประชาชนตัดสินใจผ่านหน้าตาแคนดิเดตในบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอ ซึ่งช่องทางนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. สามารถเข้าชื่อไม่ต่ำกว่า 376 เสียง เพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตนอกบัญชีได้
แต่ต้องไม่ลืมว่า นายกฯ คนนอก หรือไม่ตรงปก อาจจะไม่สอดรับกับฉันทามติของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง ที่ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ อาจจะเห็นความเคลื่อนไหวของหลาย ๆ จังหวัด รวมถึงกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่ม Respect My Vote” ที่ย้ำจุดยืนต้องการออกมาปกป้องเสียงของตัวเองที่มาจากการเลือกตั้ง
การเมืองในสภาฯ และนอกสภาฯ จะเป็นอย่างไร ล้วนเป็นผลมาจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ 13 ก.ค. 2566 ทั้งสิ้น