“ให้ประชาธิปไตย ทำงาน” “คืนความปกติ” #RespectMyVote66

เช็กเสียงโลกออนไลน์ ก่อนวันโหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค. ขณะที่ “มวลชน” กทม. – หลายจังหวัด ผุด หลัง กกต. ชงเชือด “พิธา”

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็จะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เฉพาะแค่วันนี้ (12 ก.ค. 2566) วันเดียว มีเหตุทางการเมืองให้ต้องติดตามกันรายชั่วโมง หลัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หยิบยกกรณีการถือหุ้นไอทีวี ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ขึ้นมาพิจารณา และส่งศาลธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่มีคุณสมบัติที่จะลงเลือกตั้งและเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. หรือไม่ ล่าสุด ราว 16.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้อง แต่ยังไม่พิจารณา จึงยังไม่กระทบกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

ขณะที่ ท่าทีจากพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์วันเดียวกัน ว่าส่งหนังสือด่วนไปถึง กกต. เพื่อคัดค้านการที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อของพิธา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอน ที่ระเบียบ กกต. ระบุไว้เอง มีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ จนน่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่ โดยช่วงหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวที่รัฐสภาในช่วงบ่าย เขาระบุว่า “พรุ่งนี้จะเป็นโอกาสและทางแยกของสังคมไทย ว่าเราจะกลับไปสู่การเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนเดิม หรือเป็นโอกาสให้เราคืนความเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตยของไทย และพาประเทศไปข้างหน้า ผู้มีอำนาจมีโอกาสที่จะเลือก และผมเชื่อว่าครั้งนี้ประชาชนจะไม่ยอม”

แม้จะมีทั้งฝ่ายที่หนุนและต้าน แต่สถานการณ์เหล่านี้ได้นำมาสู่การตั้งคำถามจากสังคมบางส่วนว่าเป็นความไม่ปกติหรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง จนถึงโค้งสุดท้ายของวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นความชอบธรรมสู่การลงถนนเพื่อถามหาประชาธิปไตย โดยรวมตัวกันตั้งแต่วันนี้ ตามนัดหมายของ อานนท์ นำภา ที่สกายวอล์ก ปทุมวัน ในช่วงเย็น และอีกหลายจังหวัดทั้ง กรุงเทพฯ, อุบลราชธานี, สุรินทร์, เชียงใหม่, ลำปาง, นครราชสีมา, พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ หลังมติ กกต. ส่งศาลเชือด “พิธา”

เช็กเสียงออนไลน์ ขอคืนการเมืองปกติ RespectMyVote66

ในโลกออนไลน์ที่ดุเดือดไม่แพ้กัน #ม็อบ12กรกฎาคม66 ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ มีผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในหลายแวดวงออกมาเรียกร้อง “คืนความปกติ”,”ขอโอกาสให้ประชาธิปไตยทำงาน” ฯลฯ The Active รวบรวมมาให้อ่านกันบางส่วน ก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

(1) สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich ระบุว่า

“ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ดีเยี่ยม เพราะมีข้อบกพร่องเต็มไปหมดและไม่มีหลักประกันว่าจะได้ผู้นำที่ดีและมีความสามารถที่สุด แต่ประชาธิปไตยก็น่าจะเป็นระบบที่ “แย่น้อยที่สุด” เท่าที่มนุษย์เราสามารถคิดกันขึ้นมาได้ตลอดระยะเวลายาวนานที่มีอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งมีการลองถูกลองผิดมากมาย และแม้ประชาธิปไตยจะไม่ใช่ระบบที่ดีเยี่ยม แต่ก็น่าจะมีความชอบธรรมมากที่สุด เพราะประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันในการเลือกผู้ปกครองประเทศ และสามารถเปลี่ยนผู้ปกครองประเทศได้

ในประเทศไทย ประชาธิปไตยมีโอกาสทำงานน้อยเกินไป เพราะถูกแทรกแซงจากอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ได้มีฐานความชอบธรรมมาเกือบตลอดเวลา วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ก็จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ประชาธิปไตยอาจถูกแทรกแซงไม่ให้สามารถทำงานได้อีก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรมต่ำ และก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งตามมาอีก

ภายใต้ระบบที่บิดเบี้ยวในปัจจุบัน แนวทางเดียวที่วุฒิสภาจะสามารถสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลใหม่ได้ก็คือ การลงคะแนนเสียงที่สอดคล้องกับเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสะท้อนเสียงของประชาชนมาอีกต่อหนึ่ง ไม่ใช่การออกเสียงสวนทาง งดออกเสียงหรือขาดประชุม

ขอโอกาสให้ประชาธิปไตยทำงานอีกครั้งด้วยครับ”

(2) รศ.ยุทธพร อิสรชัย สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ยุทธพร อิสรชัย (Yuttaporn Issarachai) ระบุ “คืนความปกติให้ประเทศไทย-คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน”

(3) ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ ถ้อยคำ RespectMyVote เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน ผ่านเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul และ ยังตั้งคำถามถึง #ความไม่ชอบมาพากล ของการ #ส่งคำร้องพิธาถือหุ้นสื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยสรุปว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรม ไม่ใช่ต่อผู้ถูกร้องคือพิธาเท่านั้น แต่สำคัญยิ่งกว่าคือต่อประชาชนเสียงข้างมากที่เลือกพิธามา ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรสั่งให้ กกต.#ไปทำคำร้องมาใหม่ โดยให้ #ฟังความจากผู้ถูกร้องเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ครับ”

(4) มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ออกมาโพสต์หลายครั้งผ่านเฟซบุ๊ก มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ตั้งแต่ #เลือกนายกตามผลการเลือกตั้ง เลือกตามเจตจำนงประชาชน #RespectMyVote66, ตามมาด้วย “วิชามารทุกรูปแบบ ท้าทาย มิติมหาชน”

(5) ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Ponson Liengboonlertchai (พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย) โดยระบุว่า “ถึง ส.ว. บางท่าน เวลาตัวท่านเองโหวตบอกเป็นเอกสิทธิ์ แต่คนอื่นโหวตบอกขัดรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมาย

นี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกรณี คุณพิธา หรือเฉพาะพรรคก้าวไกลหรอกนะครับ แต่สำหรับผมในฐานะนักวิชาการเห็นว่านี่คือเรื่องนายกรัฐมนตรีของประเทศ นี่คือเรื่องระบบการเมืองของประเทศ นี่คือหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐสภาของประเทศ และนี่คือหลักประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของประเทศที่เราต้องยึดถือไว้ หาใช่แกว่งไปแกว่งมาตามอำเภอใจของผู้พูด มิฉะนั้น ท่านเองจะเป็นคนกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเองครับ”

(6) จอน อึ๊งภากรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jon Ungphakorn ระบุ “และแล้วอำนาจเถื่อนที่ครอบคลุมประเทศไทยมาตลอดก็โดดออกมาแสดงฤทธิ์เดชหยามและเหยียบย่ำเจตนารมณ์ของประชาชน”

(7) สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก สมบัติ บุญงามอนงค์ โดยยกเอาคำพูดของ ‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ อดีตแกนนำ นปช. มาโพสต์ว่า “ในทางวิศวกรรม เมื่อสิ่งใดเอียงถึงจุดหนึ่งมันจะล้มลงมา”

ก่อนหน้านี้ The Active สัมภาษณ์ บก.ลายจุด โดยมองว่า มวลชนรอบนี้น่าจะแตกต่างไปจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่การโหวตในสภาฯ มักจะเป็นพิธีกรรม แต่รอบนี้ การโหวตเลือกนายกฯ หรือ การเลือกประธานสภาฯ เป็นเหมือนความหวังที่ประชาชนจับจ้อง จึงไม่แปลกที่จะเห็นมวลชนไปรวมตัวอยู่ที่ด้านหน้าสภาฯ ส่วนตัวไม่มั่นใจว่า คุณพิธา จะมีโอกาสได้รับเสียงโหวตแค่ไหน แต่ประเมินว่า ผลโหวตจะออกมาแบบ 20-80 คือ น่าจะโหวตได้คุณพิธา 20% ไม่ได้ 80% และถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจจะเป็นอีกความผิดปกติหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ และจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับการออกมาแสดงพลังมวลชนบนท้องถนน

ล่าสุด (8) ทิชา ณ นคร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thicha Nanakorn ระบุว่า “ขอบคุณ …ส.ว. 100 กว่าเสียงที่ยังตั้งมั่นในการเป็นหนึ่งในเสาหลักระบอบประชาธิปไตย และพร้อมโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

ระบอบประชาธิปไตย …ต้องไม่พึ่งโชคดี โชคร้าย ปาฏิหาริย์ ศาลพระภูมิ

เเต่ต้องมั่นคง เสถียร เปี่ยมด้วยศรัทธา …ในหลักการ เคารพต่อเสียงข้างมาก เคารพต่อมติมหาชน

#saveระบอบประชาธิปไตย

โจทย์ยากพิธา ฝ่าด่าน ส.ว. สะพัด! 90% งดออกเสียง ท่ามกลางประชาชน หนุนพิธา เป็นนายกฯ

โจทย์ยากของ พิธา สำหรับเก้าอี้นายกฯ คือ จะฝ่าด่าน ส.ว. ไปได้อย่างไร ท่ามกลางสิ่งที่ต้องลุ้นกันในวันโหวตพรุ่งนี้ แต่อีกด้าน ก็ต้องยอมรับว่า มีหลากหลายเหตุผลเช่นกัน ที่ทำให้หลายคนเตรียมจะมาให้กำลังใจในวันพรุ่งนี้ และหวังจะให้สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. โหวตให้พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุด เพราะพวกเขาเชื่อว่า ผลเลือกตั้ง เป็นตัวสะท้อนความต้องการ และความหวังของประชาชน ที่ฝากไว้กับพรรคก้าวไกล เช่น

  • สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เชื่อว่า “พรรรคก้าวไกล เป็นมิติใหม่การเมือง เข้าใจปัญหาของประเทศพอสมควร คิดแบบคนรุ่นใหม่ ถือเป็นความหวังคลี่คลายปัญหาในประเทศนี้ได้”
  • ชุมาพร แต่งเกลี้ยง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด “ต้องการเห็นสมรสเท่าเทียมผ่านสภาภายใน 100 วัน เพื่อยืนยันความเป็นธรรมทางเพศ ให้ทุกคนเข้าถึงการตั้งครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเทศไทยจะร่วมเขียนประวัติศาสตร์ การได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ”

ส่วนท่าทีของ ส.ว. ฝั่งพรรคก้าวไกลที่ออกมาสื่อสารหลายคน อย่าง ชัยธวัช ตุลาธน หรือ ศิริกัญญา ตันสกุล บอกว่ามีเสียง ส.ว. อยู่ในมือเพียงพอที่จะโหวตให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ได้พูดถึงตัวเลขที่ชัดเจน แต่จากการประเมินของสื่อมวลชน สายรัฐสภา เช็กเสียงกันเป็นการภายใน พบว่ามี 90 % ที่งดออกเสียง มีเพียง 5-10 คน ที่ยืนยันจะโหวตให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และมี ส.ว. อีกไม่กี่เสียง ที่จะลงมติไม่สนับสนุนพิธา เช่น

  • สมชาย แสวงการ บอกว่าการเลือกให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องคำนึงถึงการทำหน้าที่หลังได้รับเลือกด้วย ถ้าทำงานไปแล้ว ไม่มีปัญหาก็เลือกได้ แต่ถ้ามองว่า จะพาประเทศไปสู่วิกฤต ไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ส.ว. 250 คน ที่ต้องร่วมโหวตครั้งนี้ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
  • เสรี สุวรรณภานนท์ บอกว่า ส.ว. ต้องเลือกคนที่มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ ห้ามถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผิดในตัวเองอยู่แล้ว โดยมองว่า เรื่องนี้จะได้ข้อยุติที่ชัดเจน ก็เมื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งหมดนี้ ต้นเหตุก็มาจากการถือครองหุ้น
  • ตวง อันทะไชย เคยบอกไดว้ว่า ในเมื่ออยากให้ ส.ว. ปิดสวิตช์ ก็ปิดให้แล้ว ถ้าสภาฯ ล่าง รวบรวมเสียงได้ครบ ส.ว. ก็จะไม่ไปยุ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active