ส.ส. – ส.ว. ยกเหตุ “แก้ ม.112 – ขาดคุณสมบัติ” ไม่โหวตนายกฯ ให้ ‘พิธา’

‘ชาดา’ เปิดประเด็นปัญหาการแก้ ม.112 ฟาก ส.ว. รุมซัด “พิธา – ก้าวไกล” ไม่มีคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ย้ำ ใครสนับสนุนอาจมีความผิดด้วย ด้าน ‘พิธา’ โต้ วันนี้คือการประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ไม่ใช่อภิปรายแก้กฎหมาย ‘ชัยธวัช’ ย้ำ ต้องหาวิธีรักษาสิ่งที่รักและหวงแหน

วันนี้ (13 ก.ค. 2566) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. โดยระบุว่า เป็นการประชุมครั้งแรกในการทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐสภาวันนี้ พร้อมขอความร่วมมือ ส.ส. และ ส.ว. ให้พูดจาไม่กระทบต่อบุคคลอื่น เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดและเปิดเผย

ต่อมาเวลา 10.00 น. ประธานรัฐสภา เปิดให้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดต โดยมีผู้ให้การรับรอง 298 คน โดยกำหนดให้ผู้อภิปรายสลับกัน คือ ส.ส.ฝ่าย 10 พรรค ส.ว. และ ส.ส.ฝ่าย 8 พรรค ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ลุกขึ้นอภิปรายคนแรก ระบุว่า จุดยืนพรรคภูมิใจไทย ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่แก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 และเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่แสดงเจตจำนงตั้งรัฐบาลแสดงจุดยืนเช่นกัน

“ผมและพรรคภูมิใจไทย ไม่เชื่อว่าท่านจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้ถูกละเมิด ในเมื่อท่านจะลดการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ และลดโทษให้กับผู้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงไม่เอาผิด ไม่ลงโทษ ผู้ละเมิดพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่…

ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลฟ้องได้ ถ้าใครเอาสถาบันฯ มาแอบอ้างเพื่อทำลายคนอื่นทางการเมือง เอาให้ร่วงไปเลย ผมเห็นด้วย การเอาสถาบันฯ เข้ามาอ้างเพื่อทำลายคนอื่นนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่ทำแบบนี้ ไม่ใช่ไปลดการคุ้มครองต่อสถาบันฯ องค์รัชทายาท และพระบรมราชินี สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้หนัก”

ชาดา ไทยเศรษฐ์

จากนั้น ประพันธ์ุ คูณมี ส.ว. ลุกขึ้นอภิปราย โดยเน้นไปที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของพิธา ในการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

“เมื่อเป็นกรณีขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 160 แล้ว จึงเป็นบุคคลที่ไม่อาจได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ การเสนอชื่อเพื่อลงมติ จึงควรอยู่ในดุลยพินิจของท่านสมาชิกและท่านประธานรัฐสภา ที่ต้องพิจารณา

เพราะหากดึงดันจะลงมติจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะต้องห้ามนั้น ท่านอาจถูกดำเนินคดีได้ ตามมาตรา 231 (1) นั่นคือเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามประมวลจริยธรรม สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 29

ส่วน ส.ว. ที่คิดจะลงมติในวันนี้ ก็มีปัญหาเรื่องข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 44 ประมวลจริยธรรมเช่นกัน การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย จน กกต. มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว”

ประพันธ์ุ คูณมี

ต่อมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิง

“ผมกำลังพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นคนฟังมากกว่าพูด ขณะเดียวกัน ผมก็พัฒนาภาวะผู้นำให้เป็นคนที่รักษาคำพูด เหมือนสโลแกนของพรรคท่าน (ภูมิใจไทย) คือ พูดแล้วทำ เพราะฉะนั้นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างไร ก็คงต้องทำตามอย่างนั้น

ผมยังพยายามพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้นำของผม ว่าถึงแม้ผมไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่ท่านพูดมา แต่ผมเห็นว่าท่านมีเสรีภาพที่จะพูด และนี่คือหน้าที่ของรัฐสภา นี่คือสาเหตุที่เราต้องใช้รัฐสภาในการแก้กฎหมายนิติบัญญัติ ที่เป็นข้อขัดแย้งตลอดมาของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็นตั้งแต่สมัยที่แล้ว ทั้งเรื่องการลดโทษ หรือการคุ้มครอง

แต่นี่เป็นเวทีในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เวทีในการแก้ไขกฎหมายใด ๆ และสุดท้าย ผู้นำของประเทศนี้ ต้องมีความอดทน อดกลั้น รับฟัง กับข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็แล้วแต่”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเสนอพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ และได้เสียง 312 เสียงจาก 8 พรรค ต้องได้ขึ้นเป็นนายกฯ ตามครรลองปกติของรัฐสภา เรื่องควรเรียบง่าย แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นตลอด 2 เดือน จนถึงวันนี้ทำให้มีคำถามดัง ๆ จำนวนนับล้านคนที่กำลังเฝ้าดูการประชุมรัฐสภา ในฐานะผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกล เห็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเริ่มต้นแสวงหาคำตอบครั้งใหม่ให้สังคมไทย และสมาชิกหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล และกังวลกับการเปลี่ยนแปลง มีข้อกล่าวหามากมาย

“ประเด็นสำคัญที่อยากกล่าวไว้ คือ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใด ๆ ของเรา พรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิดที่ว่าสถาบันหลักของชาติหรือสถาบันการเมืองใด ๆ ก็ตาม จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่มีสถาบันใดที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยการกดปราบบังคับ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะเตือนให้สติกับ ส.ส. ส.ว. และสังคมไทย กับผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติและมองการณ์ไกลเข้าใจสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน แล้วเล็งเห็นให้ได้ว่าวิธีการอะไร กุศโลบายอะไรที่ดีที่สุด ที่จะสามารถรักษาสิ่งที่พวกเรารัก สิ่งที่หลายคนหวงแหนให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมที่มีพลวัตตลอดเวลา เราไม่เชื่อว่าสิ่งใด ๆ จะคงอยู่ได้ด้วยการสถิตอยู่เหมือนเดิมทุกประการแล้วจะมั่นคงสถาพร

มีการกล่าวไปไกลถึงขนาดที่ว่า การลงมติให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่รักชาติ เป็นการไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พวกผมพยายามบอกว่ามันไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง มันอันตรายมากที่เมื่อไรต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้เข้ามาพัวพันในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่าตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลเป็นอย่างไร เราพยายามเสนอว่าต้องช่วยกันนำสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง และการยิ่งนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ใครจะรับผิดชอบกับผลกระทบจากการกระทำแบบนี้”

ชัยธวัช ตุลาธน

จากนั้น ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา สลับกันลุกขึ้นอภิปราย คือโดยเนื้อหาเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายอาญา ม. 112 และการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่อาจกระทบกับความมั่นคงของรัฐ รวมถึงคุณสมบัติของพิธา จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีคุณสมบัติ โดยมีผู้อภิปราย คือ ศาสตรา ศรีปาน พรรครวมไทยสร้างชาติ, อดิศร เพียงเกษ พรรคเพื่อไทย, คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว., พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ, ชัยชนะ เดชเดโช พรรคประชาธิปัตย์, ปรีดา บุญเพลิง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, กฤดิทัช แสงธนโยธิน พรรคใหม่, ฐากร ตัณฑสิทธิ์ พรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย, เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ พรรคพลังสังคมใหม่, เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว., สมชาย แสวงการ ส.ว., พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล, ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ, วิทยา แก้วภราดัย พรรครวมไทยสร้างชาติ และกล่าวสรุปโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก่อนเข้าสู่วาระการลงคะแนนเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active