เสียงสะท้อนผู้ใช้ PrEP หลังรับบริการสถานพยาบาลรัฐ สอบตกความเป็นส่วนตัว

สอดคล้อง Swing clinic พบเรื่องร้องเรียน 23 กรณีใน 1 สัปดาห์ ด้าน กทม. ยอมรับอาจมีผู้ใช้บริการล้นในบางแห่ง สั่งสำรองยาเพร็พไม่กระทบทุกสิทธิ์

ผ่านมา 1 สัปดาห์เต็ม ที่คลินิกภาคประชาสังคมซึ่งให้บริการยา PrEP ( ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนสัมผัสเชื้อ) ยุติบทบาท ภายหลังประกาศ 2 ฉบับ ของหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้มีการจำกัดผู้จ่ายยา PrEP ที่ต้องเป็นเภสัชกรของสถานพยาบาลรัฐเท่านั้น และสิทธิ์รับยา PrEP ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง

The Active พูดคุยกับผู้เข้ารับบริการภายในศูนย์บริการสาธาณสุขแห่งหนึ่งใน กทม. เพื่อรับยา PrEP เป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้เขารับยาจากคลินิกชุมชนมาโดยตลอด

เหมือนเขาไม่ได้เตรียมพร้อม แม้แต่เจ้าหน้าที่ยังแยก PrEP กับ PEP ไม่ออก

ชายคนนี้เล่าว่าตัวเองใช้สิทธิประกันสังคม กิน PrEP กับคลินิกชุมชนมานานกว่า 4 ปีแล้ว สาเหตุคือใช้ควบคู่กับถุงยางอนามัยเพื่อความปลอดภัย แต่หลังคลินิกชุมชนที่รับบริการอยู่เป็นประจำปิดตัวลง เขาต้องใช้เวลาอยู่นานในการศึกษาว่าตัวเองต้องเปลี่ยนไปรับยาที่ไหนเพราะมีสิทธิ์ประกันสังคมอยู่ที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด จนทราบว่าสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. จึงเลือกใช้บริการที่ศูนย์ใกล้บ้านซึ่งที่มีคลินิกเพศหลากลายเปิดให้บริการวันจันทร์-อังคาร ในเวลาราชการ เขาจึงต้องลางานครึ่งวัน นี่เป็นข้อจำกัดแรก

เมื่อเข้าไปภายในศูนย์ฯ เขาบอกว่า ตลอดการซักประวัติ เจาะเลือด รอฟังผล อยู่ชั้นเดียวกับแผนกผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกายภาพบำบัด ทำให้ขาดความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลส่วนบุคคลหลุดไปในที่สาธารณะ ที่สำคัญคือจุดจ่ายยายังเป็นบริเวณเดียวกันกับแผนกทั่วไป

“ผมเคยเป็นโรคซิฟิลิส ซึ่งปัจจุบันรักษาหายแล้ว แต่เจ้าหน้าตะโกนถามย้ำดังมากว่าเคยเป็นโรคมาก่อนหรอ ผมก็ไม่กล้าตอบเพราะผมอาย หน้าชาไปหมด เพราะในชั้นมีคนมาพบหมอหลายคนมาก ซึ่งผมไม่โอเคกับการให้เขามาเปิดเผยข้อมูลของผมแบบนี้”

เขาเล่าต่อว่า ใช้เวลาเกือบทั้งวันภายในศูนย์ฯ  แห่งนี้ และตัดสินใจไม่รับบริการต่อจากการให้บริการที่ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงเจ้าหน้าที่แนะนำให้เขากิน PrEP  แบบ Daily (ท่านทุกวันต่อเนื่อง) แทนที่จะเป็นแบบ On-Demand (ทานวันแรก 2 เม็ด วันที่สอง 1 เม็ด วันที่สาม 1 เม็ด) ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้เขาตั้งคำถามต่อการให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุข ว่ามีการเตรียมพร้อม หรือสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ก่อนจะให้บริการหรือไม่

สอดคล้องกับข้อมูลของ SWING Clinic ตั้งแต่วันที่ 11-17 ม.ค.66 พบอย่างน้อย 23 กรณี ที่ร้องเรียนปัญหาในลักษณะคล้ายกัน เช่นเดียวกับบรรยากาศวันสุดท้ายบริเวณสาขาสีลมมีผู้มาขอรับ PrEP อย่างเดียวกว่า 200 คน เนื่องจากถ้าซื้อเองจะตกกระปุกละ 600 – 1,000 บาท หากขายเป็นเม็ดๆ ละ 150 บาท ซึ่งที่ผ่านมาที่นี่จ่ายยาให้ฟรีไม่ว่าจะใช้สิทธิ์สุขภาพใด เข้าถึงง่าย ผู้ที่ไปรับยารู้สึกผ่อนคลาย เพราะมีความเป็นส่วนตัว

ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้าน HIV จึงกังวลว่า อุปสรรคดังกล่าวอาจส่งผลต่อผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเสี่ยง HIV เข้าถึงการป้องกันโรคในหน่วยบริการขององค์กรภาคประชาสังคมมากกว่าสถานบริการของรัฐ จากตัวเลขปัจจุบันมีผู้รับยา PrEP อยู่ทั่วประเทศจำนวน 10,000 คนในจำนวนนี้ 8,000 คนรับยาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครกับ 2 คลินิกขององค์กรภาคประชาสังคมคือ SWING Clinic และ คลินิกฟ้าสีรุ้ง

กทม. ขอโทษ PrEP ไม่พอ สั่งสต็อก การให้บริการ ไม่กระทบทุกสิทธิ์

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่า การที่คลินิกภาคประชาสังคมหยุดจ่ายยาพร้อมกัน ทำให้ภาระตกมาอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ต่างๆ ใน กทม. จำนวน 16 แห่ง และคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ( BKK Pride Clinic) โดยในเฟสแรกตั้งแต่ ก.ค. 65 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร โดยตั้งเป้าให้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัด

“ตรงนี้อาจจะเป็นข้อบกพร่องของเราเอง ต้องขออภัยด้วยเราอาจจะไม่ได้คิดว่าความต้องการมันเยอะกว่าทรัพยากรที่เรามี ต้องบอกว่าศูนย์ฯ บางแห่งมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บางศูนย์เรายังว่างอย่าง Pride Clinic ที่ให้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์เปิดไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ ช่วงนี้ก็ไปที่นั่นก่อนได้”

รศ.ทวิดา กมลเวชช

ล่าสุด (18 ม.ค.66) ภายหลังการหารือร่วมระหว่างกรมควบคุมโรค และตัวแทนคลินิกภาคประชาสังคม ได้ข้อยุติให้คลินิกภาคประชาสังคมจ่ายยาให้กับผู้เข้ารับบริการได้ตามปกติทั้งสิทธิบัตรทอง และสิทธิสุขภาพอื่น แต่ให้จับคู่กับโรงพยาบาลบางรัก เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรสังกัดรัฐเป็นผู้วินิจฉัยและจ่ายยา ผ่านระบบเทเลเมดิซีน แต่การจ่ายยาให้กับผู้อยู่นอกสิทธิบัตรทอง จะเบิกงบประมาณจากกรมควบคุมโรค ซึ่งคลินิกภาคประชาสังคมจะกลับมาให้บริการอีกครั้งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 มกราคมนี้ ส่วนระยะยาวจะหารือเรื่องการปรับแก้ประกาศที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active