“กรมควบคุมโรค” ยืนยัน “ยาเพร็พ” ต้องจ่ายโดยแพทย์รัฐ

เตรียมเรียกทุกฝ่ายกำหนดแนวทางจ่ายยาร่วมกัน 18 ม.ค. นี้  ขณะที่ “พนักงานบริการ” เริ่มได้รับผลกระทบบางรายต้องหาซื้อยาเพร็พกินเอง เพื่อป้องกัน HIV จากการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า เม็ดละ 150 บาท “รองอธิบดี คร.” แนะระหว่างนี้ให้ใส่ถุงยางไปก่อน

วันนี้ (11 ม.ค. 2566) นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์กับ The Active ถึงผลกระทบจากคลินิกภาคประชาสังคมหยุดจ่ายยาเพร็พเพราะเกรงจะผิดตามประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่แพทย์รัฐต้องเป็นผู้จ่าย หรือออกใบส่งยาเท่านั้น ว่าปัจจุบันพยายามให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างคลินิกภาคประชาสังคม ไปยังหน่วยบริการของรัฐ และยืนยันว่าคลินิกองค์กรภาคประชาสังคมยังแจกยาป้องกันก่อนการติดเชื้อ HIV หรือ ยาเพร็พ ต่อไปได้แต่คนที่มีความเสี่ยงต้องเสนอชื่อไปที่แพทย์รัฐ เพราะต้องเป็นยาที่ระบุตัวตน

“ยืนยันว่าแนวทางนี้ไม่เกิดความล่าช้า เพราะหน่วยบริการจะเชื่อมตรงกับหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐ เราพยายามจะจับคู่กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูว่าเขาดำเนินการไปตามแนวปฏิบัติหรือเปล่า” 

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคพยายามช่วยองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่ในระหว่างนี้ก็พร้อมสนับสนุนยาเพร็พไปให้บางส่วน เพราะทราบว่าเขาเบิกไม่ได้แต่ต้องเป็นแพทย์สั่ง ซึ่งขณะหน่วยบริการต้องรู้ว่ามียอดกลุ่มเสี่ยง ที่ขึ้นทะเบียนเท่าไหร่ กลุ่มนอกสิทธิบัตรทองที่ไม่รู้ว่าจะเบิกอย่างไร ก็แจ้งมาที่กรม กรมจะส่งยา ให้ในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากนั้นจะผลักดันเรื่องแก้กฎหมาย แนวปฏบัติ เพื่อให้มีความคล่องตัว

“คลินิกภาคประชาสังคม สามารถแจ้งมาได้ว่ามีคนเข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อเท่าไหร่กรมจะใช้เงินของกรม ในการนำยาไปแจก” 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกอีกว่า ภายในวันที่ 18 มกราคม 2566 จะมีการเชิญทุกฝ่ายมีชี้แแจงทำความเข้าใจและร่วมกันกำหนดแนวทางเบื้องต้นให้การดูแลกลุ่มเสี่ยงได้อย่างครอบคลุม ตอนนี้อาจจะหลุดไปสัก 30-20% 

“ช่วงนี้ก็ให้ป้องกันตัวเองด้วยถุงยางอนามัยไปก่อน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ได้ก็เลี่ยง เพราะต้องยอมรับว่าทางราชการติดขัดนิดหน่อย แต่แก้ไขได้”

นายแพทย์ปรีชา ย้ำว่าตามระเบียบต้องสั่งยาโดยแพทย์ ที่ผ่านมาที่มีการอะลุ่มอล่วยเพราะมีแพทย์ที่ให้การดูแล แต่ไม่ใช่แพทย์ในระบบกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ประกาศของ สบส. ต้องเป็นแพทย์รัฐเท่านั้น ก็เลยทำให้เป็นข้อจำกัด 

เดิมที่เคยอะลุ่มอล่วยก็เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาเพร็พที่ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเราก็ไม่ได้คุมมาตรฐาน ไม่แน่ใจว่าการที่เขาคัดเลือกได้ตามเกณฑ์ไหม แต่ที่เราอบรมกลุ่มภาคประชาสังคมไปก็มีศักภาพเพียงพอ แต่ตอนนี้ก็ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยบริการของรัฐให้มากที่สุด

สรุปแนวทางตอนนี้คือ 1.ทุกคนก็ไปเบิกจาก สปสช. และ 2.คนที่ยังไม่เข้าระบบระหว่าง รอกระบวนการพูดคุย กรมฯจะเป็นคนปิดช่องว่างด้วยการสนับสนุนยาเพร็พให้ 

ด้าน แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือ IHRI บอกว่าไทยตั้งเป้าหมายที่จะกระจายยาให้ได้140,000 คนเพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ขณะที่ปัจจุบันมีผู้รับยาเพร็พอยู่เพียง 10,000 คนทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งกฎระเบียบตามประกาศ สบส. ที่ออกมาทำลายหลักการป้องกันโรค เพราะต้องได้ใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งอาจทำให้มีผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ ภัทราณิษฐ์ มีครัว หัวหน้าเจ้าหน้าให้คำปรึกษา SWING Clinic  บอกว่ากลุ่มพนักงานบริการที่จำเป็นต้องใช้ยาเพร็พ เนื่องจากต้องมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าซึ่งบางรายไม่ต้องการใส่ถุงยางอนามัย เริ่มได้รับผลกระทบ ต้องหาซื้อยาเพร็พกินเองตกเม็ดละ 150 บาท หรือหากซื้อเป็นกระปุก 30 เม็ดตกอยู่ที่กระปุกละ 600-1,000 บาท 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active