หวั่นติดเชื้อ HIV พุ่ง หลังคลินิกภาคประชาสังคม หยุดจ่ายยาเพร็พ

“มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ” ขีดเส้น 3 เดือน สปสช.-กรม สบส. แก้กฎ ชี้ผู้รับบริการอาจขาดยาเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี หลัง รมว.สธ.ไม่อนุมัติงบส่งเสริมและป้องกันโรค ซ้ำ กรม สบส. ออกประกาศห้ามคลินิกภาคประชาสังคมจ่ายยาเพร็พต้องส่งต่อ แพทย์-เภสัชกร สถานพยาบาลรัฐเท่านั้น ด้าน “อธิบดีกรมควบคุมโรค” พร้อมเรียกทุกฝ่ายเคลียร์ใจ 

วันนี้ (10 ม.ค. 2566) วันแรกที่ SWING Clinic มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หยุดจ่ายยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส หรือ ยาเพร็พ โดย สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เปิดเผยว่าสาเหตุมาจากประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่กำหนดให้งบประมาณการป้องกันการติดเชื้อเฮชไอวี ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทองเท่านั้น 

ส่งผลให้ประชาชนผู้ที่มีสิทธิการรักษาอื่น ๆ นอกสิทธิ์บัตรทอง ไม่สามารถเข้ารับบริการป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ รวมไปถึงการตรวจเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ  บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส หรือ ยาเพร็พ และบริการถุงยางอนามัย โดยต้องไปขอรับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิของตนเองเท่านั้น 

นอกจากนั้น วันที่ 23 ธันวาคม 2565 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงองค์กรภาคประชาสังคม เรื่องแนวทางการจัดบริการเพร็พในสถานพยาบาลตามกฏหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กำหนดให้หลังจากที่ผู้รับบริการตรวจเลือดที่คลินิกเทคนิคทางการแพทย์ของภาคประชาสังคมแล้วจากนั้นให้ส่งผลตรวจไปให้สถานพยาบาลของรัฐเพื่อตรวจวิเคราะห์และสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น 

จากประกาศดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ทำให้ประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง ไม่สามารถเข้าถึงการรับบริการป้องกันเชื้อเอชไอวีรวมถึงผู้ที่ตรวจเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจจำนวน 4 แสนกว่าคนหรือคิดเป็น 30% ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ 

ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ จึงเตรียมเดินสายร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายในสัปดาห์หน้า พร้อมขีดเส้นให้ สปสช. แก้ไขประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุน สปสช. เพื่อให้งบประมาณของบัตรทองสำหรับการบริการด้านเอชไอวีครอบคลุมประชาชนทุกคนในแผ่นดินไทยไม่ว่าจะสิทธิสุขภาพใดและ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องทบทวนแก้ไขประกาศแนวทางการจัดการจ่ายยาเพร็พ โดยอนุญาตให้อาสาสมัครขององค์กรภาคประชาสังคมที่ผ่านการอบรมสามารถจ่ายยาเพร็พร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรของโรงพยาบาลรัฐได้ภายใน 3 เดือน 

สุรางค์ จันทร์แย้ม พาดูสต็อกยาเพร็พ ของ SWING Clinic ซึ่งต้องส่งคือ สปสช. หลังประกาศ สบส. ออกมาเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565

ขณะที่ ภัทราณิษฐ์ มีครัว หัวหน้าเจ้าหน้าให้คำปรึกษา SWING Clinic  บอกว่ายาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งก่อนและหลังการติดเชื้อมีความจำเป็นต่อพนักงานบริการซึ่งคลินิกตั้งอยู่กลางซอยพัฒน์พงศ์ และสาขาต่าง ๆ ก็อยู่ใกล้กับแหล่งที่ทำงานของคนเหล่านี้ จึงทำให้การป้องกันโรคมีความเป็นส่วนตัวและเข้าถึงง่ายนอกจากพนักงานบริการแล้วปัจจุบันยังมีเยาวชนนักศึกษาเข้ามาขอใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวันจะมีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 50 คนต่อวันที่เข้ามาทั้งการขอตรวจเลือดเพื่อดูว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ และเข้ามาขอยาป้องกันรวมถึงถุงยางอนามัย หลายคนมาจากต่างจังหวัดเพราะไม่อยากใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐเพราะกลัวถูกตีตรา 

“เมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 2566) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คลินิกจ่ายยาเพร็บมีผู้มาขอรับกว่า 200 คนล้นออกไปถึงบันได เพราะถ้าซื้อเองจะตกกระปุกละ 600-1,000 บาท ถ้าขายเป็นเม็ดละ 150 บาท แต่ที่นี่จ่ายยาให้ฟรีไม่ว่าจะใช้สิทธิสุขภาพใดและก็เข้าถึงง่ายเป็นส่วนตัว ต้องบอกว่าสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการก็เบิกยาเพร็พกินไม่ได้ เพราะเขาจะรักษาเมื่อติดเชื้อหรือว่าเป็นผู้ป่วยไปแล้ว ถ้ายาป้องกันโรคเบิกไม่ได้“ 

บรรยากาศที่ SIWING Clinic เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คลินิกจ่ายยาเพร็พ มีผู้มาเข้ารับผู้บริการกว่าร้อยคน

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจำนวน 1,609 คนระหว่างวันที่ 6-9 มกราคม 2566 พบว่า 95% แสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ด้วยเหตุผลว่าการบังคับให้รับบริการได้เฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิ อาจเป็นการจำกัดลิดรอนสิทธิของผู้รับบริการที่ควรเลือกสถานพยาบาลได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับบริการที่มีความละเอียดอ่อนในเรื่องของความลับ ความเป็นส่วนตัว อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนไปรับบริการน้อยลง

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือ IHRI กล่าวว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกและชลบุรี บุกไปจับคลินิกภาคประชาสังคมที่ให้บริการยาเพร็พ โดยอ้างเกี่ยวกับประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ออกมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 จึงทำให้ SWING Clinic ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ IHRI ตัดสินใจที่จะหยุดจ่ายยาเพร็พ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งนี่ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิบัติตามกฏหมายของรัฐไทยจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมเชื้อ HIV ที่ก่อนหน้านี้เคยทำได้ดีมาตลอดจากบริการป้องกันโรคแบบถ้วนหน้า ซึ่งที่มาของปัญหาทั้งหมดก็มาจากการไม่เซ็นอนุมัติงบส่งเสริมและป้องกันโรค 4 รายการหนึ่งในนั้นก็คือค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งรวมอยู่ในการงบประมาณ 5,146 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกลุ่มเสี่ยง HIV เข้าถึงการป้องกันโรคในหน่วยบริการขององค์กรภาคประชาสังคมมากกว่าสถานบริการของรัฐ จากตัวเลขปัจจุบันมีผู้รับยาเพร็พ อยู่ทั่วประเทศจำนวน 10,000 คนในจำนวนนี้ 8,000 คนรับยาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครกับ 2 คลินิกขององค์กรภาคประชาสังคมคือ SWING Clinic และ คลินิกฟ้าสีรุ้ง 

“ผลจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำเช่นนี้ เป็นการทำลายระบบการป้องกันโรคเอดส์ที่ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก และนายอนุทินก็เป็นคนยกตัวอย่างผลงานชิ้นนี้ขึ้นในเวทีโลกเช่นเดียวกันแต่กลับมีนโยบายสวนทาง ขณะที่ประเทศไทยรับปากกับนานาชาติว่าจะยุตติเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 ซึ่งการหยุดจ่ายยาเพร็พ จะทำให้อัตราการติดเชื้อ HIV ในประเทศไทยสูงขึ้น และนายอนุทินจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ”

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เห็นว่า การจัดบริการเพร็พสามารถดำเนินการได้ที่องค์กรภาคประชาสังคมที่มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดำเนินงานภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วยให้ผู้รับบริการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องไปที่สถานพยาบาล แต่อาจมีความไม่เข้าใจของหน่วยงานบางพื้นที่ ซึ่งจะมีการนัดมาพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค สนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงอย่างมาก แต่ความครอบคลุมในกลุ่มประชากรหลักที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อยังไม่เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม ดังนั้นการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการกินยาเพร็พซึ่งเป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรภาคประชาสังคมและสถานพยาบาลภาครัฐในการร่วมจัดบริการ 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากประเด็นปัญหาเรื่องงบประมาณในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ที่นอกสิทธิบัตรทอง (สิทธิประกันสังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ) ซึ่ง สปสช. กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้มีความชัดเจนทางกฎหมายในการเบิกจ่ายงบประมาณ ในระหว่างนี้ ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิเดิม นั้น กรมควบคุมโรคจะสนับสนุนถุงยางอนามัย และยาเพร็พ ให้กับผู้มารับบริการที่มารับบริการที่องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้มีการจัดบริการได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และได้เตรียมจัดประชุมชี้แจงกับองค์กรภาคประชาสังคมและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจ และประสานความร่วมมือในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งประสานงานกับโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อขอให้รับเป็นคู่ร่วมจัดบริการยาเพร็พ กับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้สะดวก และครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ ด้วยองค์กรภาคประชาสังคมเป็นเครือข่ายเพื่อนของประชากรกลุ่มเป้าหมาย ที่สามารถช่วยให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ และร่วมจัดบริการทั้งในรูปแบบบริการเคลื่อนที่เชิงรุก หรือบริการที่ศูนย์สุขภาพขององค์กรภาคประชาสังคม ช่วยให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าสู่บริการป้องกันและดูแลรักษาเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสแต่เนิ่น ๆ ในทุกคนที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี เพื่อลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายลงให้ต่ำที่สุด อันจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้ตามปกติ ลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีคุณภาพชีวิตและอายุขัยเทียบเคียงได้กับผู้ที่ไม่มีเชื้อ และนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ตามเจตนารมณ์ของประเทศ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active