ผลสำรวจ PISA พบ “เด็กไทย 1 ใน 4 ต้องอดมื้อกินมื้อ เหตุยากจน”

บทสรุปของครูดอยถูกฟ้องทำผิดวินัย เหตุนำงบฯ ข้าวกลางวันเด็กประถมให้เด็กยากจน ม.ต้น ล่าสุดครูถูกไล่ออกแล้ว ต้องหันมาขายโรตีแทน ด้านลูกศิษย์โอดขอความเป็นธรรม ขณะที่ผลการศึกษา PISA ชี้ 1 ใน 4 ของเด็กไทยต้องอดมื้อกินมื้ออย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะไม่มีเงินซื้อ

สืบเนื่องจากการรายงานข่าวของ The Active ในวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ ชัยยศ สุขต้อ อดีตครูชำนาญการพิเศษ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ นำงบอาหารกลางวันเด็กประถมไปแบ่งให้เด็กยากจนในระดับมัธยมต้นได้มีข้าวกิน ล่าสุดถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งฟ้อง ฐานทำผิดวินัยและละเลยหน้าที่ ล่าสุดถูกไล่ออกแล้ว ต้องหันมาประกอบอาชีพขายโรตีแทน

โดยโรงเรียนดังกล่าว ได้เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อขยายโอกาสให้นักเรียนยากจนได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ แต่งบประมาณอาหารกลางวัน ถูกจำกัดไว้ให้แค่เด็กอนุบาล – ประถมศึกษา แต่พี่มัธยมส่วนใหญ่ยากจน ต้องอดมื้อกินมื้อ เป็นเห็นให้ครูชัยยศทนไม่ได้ที่จะเห็นลูกศิษย์หิว จึงหาทางช่วยโดยการแบ่งงบอาหารกลางวันของเด็กอนุบาล – ประถมศึกษา มาให้พี่มัธยมได้มีข้าวกิน

ล่าสุดทางลูกศิษย์ของครูชัยยศ ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรม และติดต่อกับทาง สส. พรรคก้าวไกลให้ช่วยเหลือในการอุทธรณ์คดีดังกล่าว ซื่งทาง ปารมี ไวจงเจริญ สส. พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตนจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งในการอุทธรณ์คดี และทั้งผ่านช่องทางการร้องเรียนต่อกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นี่อาจไม่ใช่ปัญหาของแค่ 1 โรงเรียน เมื่อผลการสำรวจของ PISA ปี 2022 ที่ผ่านมา พบว่า เด็กไทยมีอัตราการต้องอดมื้อกินมื้อ เหตุไม่มีเงินซื้อข้าวกิน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (จากประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบ 59 ประเทศ และ 7 เขตปกครองพิเศษ) รองจาก ประเทศกัมพูชา, จาไมกา, ฟิลิปปินส์ และครองอันดับร่วมกับโมร็อกโก โดยข้อมูลพบว่า มีเด็กไทยอย่างน้อย 1 ใน 4 (27.6%) ที่ต้องอดมื้อกินมื้ออย่างน้อย 1 มื้อต่อสัปดาห์ และกว่าร้อยละ 5 ต้องอดมื้อกินมื้อแทบทุกวัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • นักเรียน 13.5% อดอย่างน้อย 1 มื้อต่อสัปดาห์
  • นักเรียน 6.8% อดอย่างน้อย 2 – 3 มื้อต่อสัปดาห์
  • นักเรียน 1.5% อดอย่างน้อย 4 – 5 มื้อต่อสัปดาห์
  • นักเรียน 5.8% อดข้าวทุกวันหรือเกือบทุกวันต่อสัปดาห์

จากผลสำรวจพบว่า มีถึง 18 ประเทศและเขตปกครองพิเศษที่มีการรายงานว่า นักเรียนกว่า 20% ต้องอดมื้อกินมื้ออย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวกิน และทุกประเทศที่เด็กอย่างน้อย 1 ใน 4 ต้องอดมื้อกินมื้อใน 1 สัปดาห์ ล้วนมีผลคะแนนในทักษะคณิตศาสตร์อยู่ในระดับต่ำ (เฉลี่ยต่ำกว่า 400 คะแนน) ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

นี่เป็นปีแรกที่ PISA ได้เพิ่มคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารลงไปในแบบสอบถาม ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าตกใจ เมื่อพบว่า ทุกประเทศที่เข้าร่วมการวัดผลกับ PISA ล้วนแต่มีเยาวชนอายุ 15 ปีที่ทรมานจากความไม่มั่นคงทางโภชนาการ ยกตัวอย่าง มีเด็กที่ต้องอดมื้อมากกว่า 1 มื้อต่อสัปดาห์ช่วงระยะ 30 วันก่อนสอบ PISA เพราะไม่มีเงินพอซื้ออาหาร

ผลการศึกษาระดับนานาชาติใน 83 ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ พบว่า ในปี 2023 มีผู้คนราว ๆ 1.14 พันล้านคนที่ตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร โดยผลการศึกษายังระบุว่า ทั้งรายได้ส่วนบุคคล ราคาอาหาร และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งอาหาร และความไม่มั่นคงทางอาหารนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็กและระดับการศึกษาโดยรวมของชาติ

ด้าน ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ความเห็นต่อกรณีข้างต้นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กสศ. ได้เสนอให้ทุกรัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบฯ อาหารกลางวันให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาส  ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมที่เปิดสอนในระดับมัธยมต้นด้วย เพราะโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ โรงเรียนขยายโอกาสจึงเป็นที่พึ่งของเด็กยากจนกลุ่ม 15% ล่างของประเทศ ที่ไม่สามารถไปเรียนโรงเรียนในเมืองได้ เพราะไม่มีค่าเดินทาง และค่าครองชีพเพียงพอ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ 

“สวัสดิการอาหารสำหรับเด็กยากจนจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก ที่ผ่านมา โรงเรียน คุณครู ต่างรู้ดีและต้องแก้ปัญหากันเองมาโดยตลอด  ด้วยจิตใจที่มีความเมตตา เมื่อเห็นเด็กท้องหิว ยืนมองน้อง ๆ กินข้าว ก็ต้องพยายามช่วยเหลือให้เด็กทุกคนในโรงเรียนได้กินอิ่มกันถ้วนหน้า ซึ่งเรื่องนี้ต้องช่วยกันหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนโยบาย โรงเรียน วัด ท้องถิ่น เอกชน ชุมชน”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.สมพงษ์ ชี้ว่า การลงทุนพัฒนามนุษย์ต้องพิจารณาทุกด้าน เพราะถ้าท้องเด็กยังร้อง ก็เรียนไม่รู้เรื่อง จากการลงพื้นที่พบว่า เด็กเหล่านี้มีอาการปวดท้อง ไม่มีสมาธิ บางคนฟุบกับโต๊ะ บางคนกระวนกระวาย เข้าห้องน้ำบ่อย โดยเฉพาะช่วง 11.00 น. จิตใจยิ่งกระวนกระวาย ว่าเมื่อไรจะถึงเวลาอาหารกลางวัน เพราะไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาจากที่บ้าน แต่ถ้าได้รับประทานอาหารเด็ก ๆ จะมีความสุข กินด้วยความเอร็ดอร่อย และอยากมาโรงเรียนมาทุกวัน เพราะอยู่บ้านไม่ได้ทานอาหารอิ่มท้องแบบนี้  

“ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องโภชนาการ เด็กทุกคนควรได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน รวมถึงอาหารเช้าที่มีคุณภาพ เพื่อให้มีโภชนาการที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง และเรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่างบค่าอาหารกลางวันของ สส.”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.สมพงษ์ ทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลพร้อมจะลงทุนเรื่องนี้ ใช้งบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมนักเรียน ม.ต้น โรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. ซึ่งมีนักเรียนราว 4.7 แสนคน โดยที่ผ่านมามีเคยต้นแบบที่เคยทดลองนำร่องอยู่ที่ จังหวัดสกลนคร ยะลา นราธิวาส เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน และกรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active