ผล PISA พบเด็กไทยแม้ยากจน แต่ทำคะแนนได้ดี

ผลการสำรวจของ PISA 2022 พบจำนวน 15% เด็กด้อยโอกาส ทำคะแนนได้ระดับท็อปในทักษะคณิตศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และคิดเป็นอันดับ 9 จากทั่วโลก กสศ. ชี้ เด็กไทยมีศักยภาพแต่หลายคนหลุดจากระบบการศึกษา เชื่อ ‘เด็กช้างเผือก’ (resilient student) จะสร้างได้ โรงเรียนและครอบครัวต้องโอบอุ้มพวกเขา ย้ำ ทักษะทางอารมณ์ที่แข็งแรงจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ


ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ผลการประเมิน PISA 2022: นัยต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยสถาบันวิจัยความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) พบว่า นักเรียนที่ยากจน มีแนวโน้มที่จะมีผลคะแนนที่ต่ำกว่านักเรียนที่มีฐานะดีกว่าในทุก ๆ วิชา โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ยากจนที่สุดมีสัดส่วนนักเรียนที่สอบทักษะคณิตศาสตร์ไม่ผ่านระดับพื้นฐานสูงถึง 77.43% เมื่อเทียบกับกลุ่มนักเรียนฐานะร่ำรวยที่สุดที่มีนักเรียนสอบไม่ผ่าน 47.35%

อย่างไรก็ตาม ไกรยศ ก็พบว่า ในบรรดาเด็กนักเรียนที่ยากจนนั้น ยังมีกลุ่ม ‘นักเรียนช้างเผือก’ หรือนักเรียนที่มีฐานะยากจนที่สุด (Bottom 25%) แต่กลับทำคะแนนได้สูงติดอันดับ Top 25% จากทั้งประเทศ ขณะที่ PISA Thailand นิยามเด็กกลุ่มนี้ไว้ว่า “นักเรียนที่ไม่ย่อท้อทางการศึกษา” แต่น่าเสียดายที่เด็กกลุ่มนี้อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะข้อจำกัดด้านโอกาสและเงินทุน ไกรยศ ย้ำว่า นี่คือโจทย์สำคัญที่การศึกษาไทยต้องพาพวกเขากลับมาผลักดันต่อ และเชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนล้วนเป็น ‘ช้างเผือก’ ได้เช่นกัน

ไกรยศ ชวนทำความรู้จักกับปัจจัยที่ช่วยให้เด็กยากจน สามารถเป็นเด็กช้างเผือกได้ จากการประมวลผลข้อมูลรายงานของ OECD โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) พบว่า ‘เด็กช้างเผือก’ ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในโรงเรียนมากกว่าเด็กยากจนคนอื่น นี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า นอกเหนือจากหลักสูตรการสอนแล้ว ครอบครัวและโรงเรียนเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เด็กมีใจใฝ่เรียน และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กด้วย จากข้อมูลยังพบอีกว่า เด็กช้างเผือกมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ระดับสูงกว่านักเรียนที่มีฐานะดีด้วยซ้ำ ซึ่งแสดงถึง “ความไม่ย่อท้อทางการศึกษา” ของเด็กกลุ่มนี้ได้ดี

“เราเห็นแล้วว่า เด็กช้างเผือกทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงกว่าเด็กที่รายได้ครอบครัวดีที่สุดของประเทศด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นถ้าเขาได้เรียนในระดับสูงกว่านี้ เขาจะมีศักยภาพพาครอบครัวออกจากความยากจนในรุ่นของเขา การศึกษาต้องค้นหาเด็กเหล่านี้ให้เจอ และสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์เฉพาะตัว ถ้าทำได้ จะเป็นโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมประเทศได้ …เราอยู่ในสังคมสูงวัยแล้ว เด็กเกิดน้อยลงทุกปี เราปล่อยให้เด็กหลุดมือไม่ได้แม้แต่คนเดียว”

ไกรยส ภัทราวาท

ทักษะทางอารมณ์ที่แข็งแรง ไม่ใช่ว่าจะมีติดตัวตั้งแต่กำเนิด แต่เสริมสร้างผ่านการอบรมภายในครอบครัวและสังคมภายในโรงเรียน ผลสำรวจจากโครงการ PISA for Schools Thailand ระยะที่ 1 พบว่า ทักษะทางอารมณ์สังคมทั้ง 5 ด้าน (Big 5 personality traits) สัมพันธ์กับระดับฐานะของเด็ก กล่าวคือ ยิ่งเด็กรวย ยิ่งมีทักษะทางอารมณ์ที่แข็งแรงมากเท่านั้น แต่นักเรียนช้างเผือกที่มีฐานะยากจนกลับมีทักษะทางอารมณ์ที่สูงกว่าเด็กยากจนคนอื่น และในบางทักษะสูงกว่าเด็กที่มีฐานะร่ำรวยด้วยซ้ำ เช่น การควบคุมตนเอง (Self-control) โดยทักษะทั้ง 5 ด้านมีดังนี้

  • ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)
  • ความสนใจใฝ่รู้ (Curiosity)
  • การควบคุมตนเอง (Self-control)
  • การมองในแง่ดี (Optimism)
  • การกล้าแสดงออก (Assertiveness)

ไกรยศ ย้ำว่า PISA ไม่ใช่เส้นชัยของระบบการศึกษาไทย สิ่งที่ควรทำไม่ใช่เพิ่มเฉพาะระดับคะแนน แต่ต้องเริ่มต้นจากพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียน ชวนสังคมมองว่า PISA เป็นเหมือนการตรวจสุขภาพการศึกษาไทย อย่าใส่ใจจะพัฒนากันแค่ตอนวัดผล แต่ควรให้ความสำคัญอยู่ตลอด แนะภาครัฐผลักดันนโนบายสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้ เป็นวงจรเริ่มต้นจากที่บ้านมาจนถึงโรงเรียน เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้แค่ในห้องเรียน โดยการเรียนรู้เพื่อทักษะแห่งอนาคต จะต้องพึ่งพาการพัฒนาทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน ด้านการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ และด้านสุขภาวะ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้

อีกข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การสร้างระบบการประเมินการเรียนการสอนให้เป็นประโยชน์ต่อครูและผู้เรียนมากขึ้น ไกรยศ ชี้ว่า ที่ผ่านมาการประเมินเป็นลักษณะ Summative Assessment หรือเป็นการวัดผลโดยสรุปและไม่ได้มีการนำไปต่อยอด ตนเชื่อว่า ไม่มีทางที่การศึกษาไทยจะพัฒนาได้ โดยการเฝ้ารอการประเมินทุก ๆ 3 ปี จำเป็นต้องมีเครื่องมือการประเมินเชิง Formative Assessment (กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างครูและผู้เรียน) เพื่อประเมินสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และสนับสนุนให้ครูใช้เครื่องมือดังกล่าวไปพัฒนาการสอนต่อไป เชื่อว่าการประเมินระหว่างการเรียนรู้ จะช่วยให้สร้างความพร้อมให้เด็กได้ทันท่วงที มากกว่าไปประเมินทีเดียวตอนจบภาคเรียนแล้วไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ท้ายที่สุด ปัญหาในแต่ละโรงเรียนล้วนมีความซับซ้อนไปตามบริบทของพื้นที่ การจะให้กระทรวงศึกษาธิการลงมาจัดการพื้นที่อาจจะมีความล่าช้าและแก้ไขได้ไม่ตรงจุด ไกรยศจึงสะท้อนว่า การกระจายอำนาจการศึกษาเป็นอีกกุญแจที่สำคัญ เพื่อให้ครูได้มีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอน ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และเอาเวลาไปพัฒนาเด็กได้มากขึ้น เพื่อให้การศึกษาเป็นของทุกคนได้อย่างแท้จริง

“ไม่ใช่แค่กระจายไปสู่ระดับเขตพื้นที่ หรือ ศึกษาธิการจังหวัดเท่านั้น แต่ต้องกระจาย “อำนาจ” ให้ไปถึงโรงเรียน ไปถึงคุณครู ให้คุณครูมีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนที่ดี เพราะถ้ามีการกระจายอำนาจไป แต่ทรัพยากรไม่ไป โอกาสไม่ไป เครื่องมือไม่ไป คุณครูก็จะไม่มีความสามารถในการใช้ความเป็นอิสระเพื่อถ่ายทอดความรู้ และสร้างการศึกษาที่ดีขึ้นให้เด็กได้ ดังนั้น การกระจายอำนาจและทรัพยากรจะต้องคู่ขนานกันไป”

ไกรยส ภัทราวาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active