เปิดเบื้องหลังผล PISA ตกต่ำ วงเสวนาเผย 78% รร. ประถมขาดแคลนครู

Policy Forum ครั้งที่ 6 #คืนครูให้ห้องเรียน เผยเบื้องหลังคะแนน PISA ตกต่ำ พบนักเรียนในโรงเรียนขาดแคลนครู คะแนนต่ำกว่าโรงเรียนไม่ขาดแคลนถึง 10.27% นักวิชาการและครู ชี้ 200 วัน ทำงาน ครูต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนไปแล้ว 84 วัน แนะกระจายอำนาจการศึกษาให้ท้องถิ่นจัดหาคนช่วยงานครู ไม่ต้องรอส่วนกลางสนอง

เมื่อวาน (11 ธ.ค. 66) The Active ร่วมกับ I AM KRU เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นในงาน Policy Forum ครั้งที่ 6 : คืนครูให้ห้องเรียน เพื่อสะท้อนสถานการณ์ภาระงาน สู่แนวทางคืนคุณภาพชีวิตให้กับครู ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ กรรมการและที่ปรึกษา 101 PUB เผยการสำรวจของ PISA พบว่า ผลคะแนน PISA ของนักเรียนไทย (อายุ 15 ปี) ปี 2022 มีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะผลคะแนนของนักเรียนในโรงเรียนที่ครูขาดแคลนมาก (ครูไม่มีเวลาสอน และโรงเรียนมีครูไม่พอ) มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนที่ครูไม่ขาดแคลนถึง 42 คะแนน (ต่ำกว่า 10.27%) หรือได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 367 คะแนนเท่านั้น ประเมินเป็นระดับทักษะที่ต่ำกว่ามาตรฐานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

ผลการสำรวจจากเครือข่ายครูขอสอน พบว่า ครูไทยทำงานหนักแต่สอนได้ไม่เต็มที่เพราะถูกแย่งเวลาไป โดยร้อยละ 95 ของครูต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 58 ต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่การสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผลการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) ในปี 2557 พบว่า ใน 200 วัน ครูต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนไปแล้ว 84 วัน คิดเป็นดังนี้

  • งานประเมินผลงานและคุณภาพ 31 วัน
  • งานแข่งขันวิชาการ 29 วัน
  • งานจัดทำและประเมินโครงการ 12 วัน
  • การฝึกอบรม 10 วัน
  • งานธุรการอื่น ๆ อีกหลายวัน และพบมากในโรงเรียนขนาดเล็ก

“ปัจจุบันเรามีข้าราชการครูอยู่ 3.4 แสนคน และต้องดูแลเด็กราว 6.5 ล้านคน ถ้าเทียบสัดส่วนแล้ว 1 คนดูแลเด็กราว 20 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่เราจะพบว่า โรงเรียนราวครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะโรงเรียนในชั้นประถม ราว 80% ขาดแคลนครูอยู่ รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 80% ที่เจอปัญหาขาดแคลนครู​ ตรงนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ถึงแม้จะมีนักเรียนน้อย แต่พอแบ่งห้องเรียนออกมา ครูก็มีไม่พอสอน และแทนที่ครูจะเอาเวลาไปดูแลเด็กทุกห้อง ก็ต้องไปทำงานธุรการอีก”

ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

ศุภณัฏฐ์ ชี้ว่าทางภาครัฐมีความพยายามลดงานครู แต่ก็จะมีงานด้านอื่น ๆ แทรกเข้ามาอื่น ทำให้ภาระงานแทบไม่ได้ลด ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานด้านการศึกษาอื่น ๆ มาช่วยแบ่งเบา แต่การจัดสรรเจ้าหน้าที่ให้ครบทุกโรงเรียน นั้นเป็นไปได้ยากเพราะงบฯ นั้นมีไม่พอ

ส่วนที่มาของงานที่งอกเพิ่มมานั้น ศุภณัฏฐ์ชี้ว่ามาจากระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่คิดหรือดำริโครงการโดยไม่คิดถึงภาระงานครู การประเมินผลแบบราชการที่เน้นเอกสารเป็นหลักมากกว่าผลที่เห็นได้จริง ตลอดจนการจัดสรรครูที่ไม่มีประสิทธิภาพ เน้นย้ายตามคำขอ แต่ไม่ย้ายตามภาระงานและความจำเป็น ทำให้ปัญหาภาระงานครูยังคงทับถมและยากจะแก้ไขได้

ภาระงานครู: เอกสารธุรการ นโยบายรัฐบาล และการนอนเวร

เช่นเดียวกับ ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูชำนาญการ รร.เทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ สะท้อนประสบการณ์ตรงว่า ภาระงานประเมินทำให้ครูที่ตั้งใจทำงาน ต้องรับภาระงานหนักมากขึ้น เพราะนอกจากจะสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังต้องมีภาระเขียนเอกสารประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน และเอกสารโครงการต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าครูนั้นสอนจริง ในขณะที่ครูบางส่วนก็เลือกที่จะไม่เน้นการสอน แต่เน้นทำเอกสารส่ง ซึ่งก็มีค่าเท่ากัน เพราะสุดท้ายปลายทางก็ตัดสินกันที่เอกสารไม่มีใครมาดูว่าครูสอนจริงไหม

นอกจากนี้ ครูกั๊ก ยังเปิดเผยถึงภาระงานอื่นที่ครูต้องแบกรับ เช่น การนอนเวรโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูผู้ชายน้อย อาจต้องนอนเวรหลายสิบวันต่อเดือน ไม่มีการประกันความปลอดภัยครูที่นอนเวรที่ดีพอ เป็นต้น ภาระงานจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ครูขาดแรงใจในการทำงาน หลายคนมีความตั้งใจดีในการสอน แต่พอเจอระบบการศึกษาเช่นนี้ ครูก็ลาออกจากอาชีพไปมาก ครูกั๊กแนะว่า โรงเรียนต้องรู้จักเลือกรับโครงการ ไม่ใช่รับทั้งหมด ดูว่าโครงการใดมีประโยชน์ โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อลดภาระงานที่เกินจำเป็นของครู

“ผมว่าเราควรไปลดงานที่ครูไม่ควรต้องทำ และไปเพิ่มงานที่มีคุณค่า อย่างงานออกแบบการสอนให้ผู้เรียน เรารู้ว่ามีอยู่ในหน้าที่ครู แต่ครูไม่ได้ทำ ครูต้องไปทำงานเอกสาร ธุรการ โครงการต่าง ๆ หรือโดนเรียกตัว ครูก็ต้องไปทำส่วนนี้ก่อน เพื่อเอาตัวรอดหนีตาย”

ร่มเกล้า ช้างน้อย

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ แจงว่า ตอนนี้ครูมีงาน 4 ประเภทได้แก่ 1) งานสอน 2) งานออกแบบการสอน และพัฒนาผู้เรียนรายบุคคล 3) งานพัฒนาโรงเรียน และ 4) งานสนองนโยบาย โดย ณิชา ชี้ว่า งานประเภทที่ 1 และ 2 เป็นงานที่ครูต้องทำในฐานะวิชาชีพครูอยู่แล้ว แต่งานที่ 3) และ 4) นั้นกินเวลาครูค่อนข้างมาก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ครูไทยต่างจากครูประเทศอื่น และยังไม่นับเวลาที่ครูต้องไปพัฒนาตัวเอง ณิชา แนะว่า ถ้ามีครูรุ่นพี่หรือมีคนมาศึกษานิเทศให้ในห้องเรียนก็จะทำให้ครูมีทางเลือกในการพัฒนาตัวเองได้สะดวกและตอบโจทย์มากขึ้น

ณิชา เสนอว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่นจะเป็นโอกาสใหม่ ที่จะช่วยลด “ความห่างไกล” ระหว่างครูและส่วนกลางซึ่งเป็นอุปสรรคในการเสนอแนะและส่งต่อข้อร้องเรียนของกลุ่มครู เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการปัญหายิบย่อยเหล่านี้ได้ ครูจะทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่าง กทม. ที่มีโรงเรียนในสังกัดราว 400 โรงเรียน ซึ่งสามารถลดภาระงานเอกสารครูได้จากการพูดคุยกับหน่วยงานด้านกฎหมาย (จากเอกสาร 100 หน้า ลดได้เหลือ 70 หน้า) และท้องถิ่นยังสามารถจัดหาบุคลากรสายสนับสนุนการศึกษามาช่วยแบ่งเบาครูได้โดยตรง

ด้าน วุฒิวัฒน์ ที่ปรึกษา 101 PUB ชี้ว่า ความสำเร็จของนโยบายลดภาระครู จะวัดผลได้จาก “เวลา” ที่เหลืออยู่ของครู ที่เขาจะสามารถนำไปออกแบบการสอนหรือพัฒนาตนเองได้ ทั้งนี้ ยังได้ฝากทางภาครัฐว่า การริเริ่มโครงการใด ๆ ให้ระวังผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น นโยบายโอนภาระจัดซื้อจัดจ้างให้เขตพื้นที่การศึกษา ส่วนตัวมองว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องระวังไม่ให้ทางเขตโยน “งานอื่น” กลับมาทางโรงเรียน รวมถึงเรื่องของการปรับเกณฑ์วิทยฐานะ ที่ใช้ผลการแข่งขันเป็นที่ตั้ง อาจทำให้ครูให้ความสำคัญกับการล่ารางวัลมากกว่าสอนนักเรียน ดังเช่นที่พบในการแข่งขันศิลปหัตถกรรม

ทาง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมวงเสวนานี้ด้วยและยืนยันว่าจะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปเสนอต่อทางกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยอมรับว่าหลายปัญหาที่ยกมานั้นมี 2 ด้านเสมอ ทางกระทรวงต่อนำไปปฏิบัติต่ออย่างรอบคอบ เชื่อว่า “นโยบายเรียนดี มีความสุข” นั้นตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ส่วนเรื่องการจ้างบุคลากรช่วยครู ตอนนี้ทางกระทรวงกำลังหาวิธีการเพื่อช่วยเหลือจุดนี้อยู่

“เราเห็นว่าครูมีภาระงานมาก แต่ต้องเรียนว่า ภาระใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพครู นั้นลดไม่ได้ ถ้าไม่มีการประเมินไม่มีการตรวจวัด ก็ทำให้เห็นอันดับไม่ได้ แต่เราต้องทำให้การประเมินนั้นถูกที่ถูกทาง เช่น ยกเลิกการทำเอกสารเป็นหมื่น ๆ หน้า”

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active