คุกไม่ใช่มีไว้ขังคนจน ปล่อยตัวชั่วคราวได้ให้ชุมชนดูแล

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงนาม MOU สำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดที่มีรายได้น้อยใน กทม. เล็งแต่งตั้งกรรมการชุมชนเป็นผู้ดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวแทนวางหลักทรัพย์ ผู้นำชุมชนริมทางด่วนบางนา มั่นใจเป็นทางเลือกที่ดี

วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย จีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม” ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิรูประบบการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา จากเดิมที่ต้องใช้เงินหรือทรัพย์สินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกัน เป็นการใช้ข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิชาการในการปล่อยชั่วคราว รวมทั้งการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวแทนโดยศาล เพื่อลดการใช้หลักทรัพย์ในการปล่อยชั่วคราว และลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับเป็นพยาน ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เขตจตุจักร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขอขอบคุณสำนักงานศาลยุติธรรมที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา กรุงเทพมหานครมี นโยบายที่ยืนยันในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี รวมทั้งเป็นนโยบายลดความเลื่อมล้ำด้วย เนื่องจากหลายคนอาจจะไม่มีหลักทรัพย์ในการจ่ายค่าประกันตัว โครงการนี้จะแต่งตั้งผู้ดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ซึ่ง กทม. มีชุมชนถึง 2,000 ชุมชน และมีคณะกรรมการ ประธานชุมชนที่มีความรู้จัก ความผูกพันกับคนในชุมชนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลสอดส่องพฤติกรรมได้ เราจะสามารถลดความเลื่อมล้ำ และกระจายอำนาจให้กับชุมชนในการช่วยดูแลกันเอง และประธานชุมชนก็จะให้ความมั่นใจกับศาลในการปล่อยตัวชั่วคราวได้ โดยหลังจากนี้เราจะส่งรายชื่อประธานหรือกรรมการชุมชนที่พร้อมจะเป็นผู้กำกับดูแลกับทางศาลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

จีระพัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ในการทำความตกลงร่วมมือกันในการดูแลประชาชน เพื่อให้ศาลยุติธรรมใช้ดุลพินิจในการสั่งประกันตัวผู้ต้องหาชั่วคราวประชาชนชาว กทม. อย่างละเอียดรอบครอบชัดเจน โดยจะสามารถสั่งปล่อยชั่วคราวได้มากขึ้น และจะลดวงเงินหรือลดหลักประกันพี่น้องผู้ต้องหาหรือจำเลย นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือในการส่งกรรมการชุมชนมากำกับดูแลผู้ต้องหาภายหลังจากที่ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งจะช่วยกันสอดส่องดูแลรับรายงานตัว และให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลปล่อยชั่วคราวไป เพื่อให้สังคมปลอดภัยให้ชุมชนดูแลคนในชุมชนด้วยกัน สังคม กทม.ก็จะกลับมาปลอดภัยมากขึ้น ประชาชนชาว กทม.จะได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม ในการเข้าถึงการขอปล่อยชั่วคราวจากศาลได้มากขึ้น

“ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับการปล่อยตัวชั่วคราว ทุกปีศาลจะอนุญาตไปร้อยละ 90 ของคำร้อง แต่บางกรณีจะมีผู้ต้องขัง ไม่เคยยื่นคำร้อง เพราะไม่ทราบว่ายื่นได้ โดยไม่ต้องเสนอหลักประกัน หรือศาลให้ประกันแล้ว โดยวางหลักประกัน แต่ไม่สามารถหาได้ เป็นเหตุให้ต้องถูกจองจำ ถือว่าเป็น ผู้ที่ถูกขังโดยไม่จำเป็น จึงมีแนวทางขยายเครือข่ายผู้กำกับดูแลร่วมกับ กทม.”

จีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

จำนงค์ หนูนวล ผู้นำชุมชนริมทางด่วนบางนา กรุงเทพฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาเคยผลักดันเรื่องการรณรงค์ให้สามารถประกันตัวได้ตั้งแต่ยังอยู่ในสถานีตำรวจ ไม่ต้องให้ถึงเรือนจำก่อนแล้วจึงจะประกันตัวได้ และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือดูแลได้ เมื่อได้ทราบข้อตกลงระหว่าง กทม.​ กับกระทรวงยุติธรรมในวันนี้ รู้สึกเห็นด้วยกับโครงการ เพราะถือเป็นทางเลือกที่ดี แต่ชุมชนเองก็ต้องมีกระบวนการหารือร่วมกัน ทั้งประธานชุมชน กรรมการชุมชน มีกระบวนการประเมินความเสี่ยง และพิจารณาเป็นรายบุคคล เนื่องจากแต่ละชุมชนก็มีความพร้อม ความเข้มแข็งที่ต่างกัน ทั้งนี้ในกระบวนการดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยนับเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน ที่ต้องมีการหารือในภาพใหญ่ ดูรายละเอียดกรอบการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

“ต้องมีการประชุม หารือกับกรรมการ และสมาชิกผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถรับรองได้ขนาดไหน ประสิทธิภาพตรงนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความสามัคคีของชุมชน ประธานคนเดียวทำงานไม่ได้ทั้งชุมชน ทุกคนในชุมชนต้องช่วยกัน นับเป็นเรื่องใหม่ และคิดว่าคงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่าคดีหนักไหม ชุมชนรับไหวไหม อัตราโทษเป็นอย่างไร เราต้องการให้โอกาสคนอยู่แล้ว แต่ต้องดูด้วยว่าต้องโทษอะไร”

จำนงค์ หนูนวล ผู้นำชุมชนริมทางด่วนบางนา

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้