“ราชทัณฑ์” เผย นักโทษฉีดวัคซีนแล้ว 4 หมื่นคน จาก 3 แสนคน

กสม. ยกคณะ ตรวจสอบสิทธิรักษาโควิด-19 ของผู้ต้องขัง เตรียมจับมือกระทรวงยุติธรรม รื้อกฎหมายลดคนเข้าคุก ราชทัณฑ์ ระบุ บุคลากรทางการแพทย์ยังขาด ไม่ได้จำนวนตามมาตรฐาน 

11 มิ.ย. 2564 – นับเป็นภารกิจแรกของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ชุดใหม่ หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ​เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา กับการลงพื้นที่กรมราชทัณฑ์ ด้วยความเป็นห่วงสิทธิของผู้ต้องขัง หลังเกิดคลัสเตอร์ระบาดในเรือนจำหลายแห่งช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมจากการระบาดระลอกเดือนเมษายน ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 11 มิ.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศ 31,056 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ (11 มิ.ย.) 294 คน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ยังคงยืนยันสิทธิของผู้ต้องขังที่จะเข้าถึงวัคซีน เช่นเดียวกับทุกคนในประเทศไทย

“มาให้กำลังใจ” 

คือ ประโยคที่ “พรประไพ กาญจนรินทร์” ประธาน กสม. คนใหม่ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวสนับสนุนการทำงานของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน บางอย่างไม่ได้มีโอกาสปรากฏในข่าว โดยการทำงานของกรมราชทัณฑ์นั้น เป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัด ทั้งเรื่องทรัพยากร สถานที่ จำนวนนักโทษ ที่มีมากกว่าอาคารสถานที่หรือการรองรับประมาณ 1 ใน 3 ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพ 

ส่วนของกรณีนักโทษการเมือง มีความเป็นห่วงในสิทธิของผู้ต้องขังเหล่านี้หรือไม่ และได้มีการพูดคุยกับกรมราชทัณฑ์อย่างไร

“วันนี้ไม่ได้มาคุยเรื่องอื่น มาคุยเฉพาะเรื่องผู้ต้องขังในภาพรวม ซึ่งเรื่องอื่นคงได้มีโอกาสพูดคุยต่อไป”​ 

ประธาน กสม. ระบุว่า กรรมการสิทธิฯ มีความต้องการที่จะจับมือกับกระทรวงยุติธรรมในระยะยาวเพื่อแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะบทลงโทษในคดีอาญาบางกรณีที่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำ เพื่อลดจำนวนของผู้ต้องขังไม่ให้แออัดมากจนเกินไป

ย้ำ ผู้ต้องขังมีสิทธิได้รับวัคซีนโควิด-19 

“วสันต์ ภัยหลีกลี้” กรรมการสิทธิฯ ระบุว่า สถานการณ์ที่ค่อนข้างแออัดและอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงในช่วงที่ผ่านมา มีความน่าเป็นห่วง จึงต้องการมาดูเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขัง ซึ่งนับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับวัคซีนและการดูแลรักษา กสม. ได้รับข้อมูลว่าที่ผ่านมาการดำเนินการสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จำนวนมาก พร้อมสอบถามเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของผู้ต้องขังโดยรวม

ด้าน “อายุตม์ สินธพพันธุ์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค ในการช่วยเหลือเรื่องวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง ในช่วงแรกได้รับประมาณ 40,000 โดส จากที่ขอไปทั้งหมด สำหรับการกระจายวัคซีนจะจัดส่งไปให้แก่พื้นที่สีแดงเป็นอันดับแรก ในเรือนจำ 38 แห่ง ที่เหลือกระจายไปตามเรือนจำเขตต่าง ๆ ซึ่งยังไม่ครบทุกเขต ต้องเลือกเรือนจำที่มีความแออัดและผู้ต้องขังหนาแน่นเป็นอันดับแรกก่อน 

เช่น เรือนจำกลางระยอง เรือนจำกลางสมุทรปราการ เป็นต้น ด้านการกระจายวัคซีนนั้น กรมควบคุมโรคได้ทยอยส่งวัคซีนมาให้แก่กรมราชทัณฑ์ โดยได้เสนอขอไป 309,282 โดส เพื่อฉีดให้ผู้ต้องขัง 50% ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ส่วนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ขณะนี้ ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 12,000 คน จากทั้งหมด 13,771 คน 

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเรือนจำค่อนข้างดีขึ้น ซึ่งเรือนจำสีแดงที่ยังมีผู้ติดเชื้อ มีอยู่ประมาณ 12 แห่ง จากเรือนจำ 143 แห่ง กรณีผู้ต้องขังที่เสียชีวิต กรมราชทัณฑ์ตั้งเป้าให้มีตัวเลขส่วนนี้ให้น้อยที่สุด เมื่อตรวจค้นแล้วพบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อ จะคัดออกมาเอกซเรย์ปอดว่ามีเชื้อหรือไม่ หากมีเชื้อจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดการสูญเสีย และจัดกลุ่มผู้ต้องขังเป็นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อให้เห็นจำนวนตัวเลขที่มีความชัดเจน 

ส่วนผู้ต้องขังเข้าใหม่ ทางกรมราชทัณฑ์ได้จัดสรรสถานที่ข้างนอก โดยใช้เรือนจำชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมา โดยในเขตกรุงเทพมหานครได้มีการตั้งเรือนจำชั่วคราวรังสิต รับผู้ต้องขังเข้าใหม่จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สถานบำบัดกลางคดียาเสพติด และทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนเรือนจำเขตพื้นที่ธนบุรี จะไปติดต่อเรือนจำชั่วคราวที่จังหวัดนครปฐม เพื่อรับผู้ต้องขังเข้าใหม่ไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง จะมีการแยกออกมาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถนนงามวงศ์วาน และเรือนจำกลางบางขวาง ที่มีโรงพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนสีเขียวใช้โรงพยาบาลสนามแต่ละเรือนจำ  กรณีกลุ่มผู้ต้องขังที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัวจะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีเชื้อหรือไม่ หากครบกำหนดปล่อย จะมีสถานที่กักตัวรองรับหน้าเรือนจำคลองเปรมประมาณ 14 วัน หากไม่มีเชื้อ จะประสานให้ญาติมารับกลับ ถ้าตรวจและพบว่ามีเชื้อ จะประสานกระทรวงสาธารณสุขให้รับไปโรงพยาบาลสนามด้านนอกต่อไป

“ปัญหาตอนนี้ คือ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัดส่วนตามมาตรฐาน ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาโดยการคัดสรรพยาบาลที่อยู่ในเรือนจำสีขาว หมายถึงโรงพยาบาลที่ไม่มีผู้ติดเชื้อให้เข้ามาช่วยที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อดูแลผู้ป่วยและยังได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพบก ที่ส่งแพทย์และพยาบาลมาช่วยสนับสนุน สำหรับเรือนจำที่เป็นสีแดงในเขตกรุงเทพฯ ด้วย”


อ่านเพิ่ม

“คนในคุก” ลมหายใจของทุกคนต้องเท่าเทียม | กฤตยา อาชวนิจกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS