ลดแออัดในเรือนจำทำได้ หากฝ่ายนโยบายเอาด้วย

‘รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์’ ชี้ ต้องแก้กฎหมาย ปรับฐานความผิด ลดคนเข้าคุก ‘รังสิมันต์ โรม’ แนะ รัฐใช้อำนาจแก้ปัญหาให้ตรงจุด

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศว่า โรคระบาดในเรือนจำควรเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ระดับหนึ่งตั้งแต่ต้น แต่สถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังจำนวนมาก และอยู่อย่างแออัด ซึ่งยอมรับว่ากลุ่มใหญ่นั้นเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และไม่สามารถประกันตัวออกมาต่อสู้คดีได้ หรือกลุ่มคนจนที่รับโทษจำคุกแทนการเสียค่าปรับ จึงทำให้เกิดสถานการณ์วิกฤตเรื่องผู้ต้องขังล้นเรือนจำอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

“อาจเรียกได้ว่า เป็นหายนะของราชทัณฑ์ แต่ตอนนี้ ก็ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ที่มีการใช้มาตรการลดการจับกุม เป็นการกักบริเวณที่ไม่ใช่คุกแล้ว”

ส่วนตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อในขณะนี้ มีความสัมพันธ์กับจังหวัดพื้นที่สีแดง เช่น กรุงเทพฯ ที่มีหลายปัจจัยที่เอื้อให้เกิดคดีความที่นำไปสู่กับจับกุมคุมขังได้มากกว่าพื้นที่อื่น รวมทั้งการที่ยังต้องมีการนำผู้ต้องขังรายใหม่เข้าเรือนจำ เพราะอย่างไรกรมราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถปฏิเสธการรับผู้ต้องขังได้ ในฐานะที่เป็นองค์กรท้ายสุดของกระบวนการยุติธรรม

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุถึงแนวทางในขณะนี้ คือ ต้องกักตัวให้นานที่สุด 21 วัน และได้ออกหนังสือเวียนทั่วประเทศ ให้กำหนดรายชื่อผู้ต้องขังในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี เพื่อดำเนินการประกันตัว โดยอาจไม่ต้องใช้วงเงิน

“ศาลรู้อยู่แล้วว่า ภาวะแบบนี้เหมือนส่งคนเข้าไปในห้องไซยาไนต์ ศาลจึงเริ่มพิจารณาและขอให้ส่งรายชื่อไปให้ คดีที่อยู่ระหว่าง เพื่อให้มีการประกันตัว”

ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่เกิดสถานการณ์ระบาดในเรือนจำ ส่วนตัวเห็นว่าเกิดขึ้นช้ากว่าที่คิด เพราะจากประสบการณ์ที่เคยงเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งที่จริงแล้ว เรือนจำสามารถรองรับนักโทษได้น้อยกว่านี้ ทั่วประเทศอาจได้แค่ประมาณ 2 แสนคนเท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องรับนักโทษมากถึง 3.6 แสนคน จึงทำให้ความแออัดในเรือนจำจึงมีสูงกว่าปกติ และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้

อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การสนับสนุนของรัฐต่อเรือนจำที่ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค ทำให้ผู้ต้องขังต้องไปแสวงหาอุปกรณ์ป้องกันตนเอง และยังมีบางคนที่อยู่ในเรือนจำมาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ประเมินสถานการณ์การระบาดและไม่รู้จักวิธีป้องกันตนเอง นอกจากนี้ สภาพในเรือนจำที่ไม่ได้ออกแบบให้รับมือกับโรคระบาดแบบโควิด-19 ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์

“ตอนนี้มีการพูดถึงมาตรการที่ให้นักโทษใส่หน้ากากตลอดเวลา คำถามคือจะสามารถกำกับได้ตลอดเวลาหรือไม่ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ”

ส่วนจะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า อันดับแรก ต้องลดความหนาแน่นของผู้ต้องขัง และต้องมีการสนับสนุนทางการแพทย์ที่ต้องคิดทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะทำอย่างไรไม่ให้คนที่ติดแล้วและคนที่ไม่ติดมาเจอกัน และต้องคิดต่อว่า ในระยะยาว จะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ผู้ต้องขังมีความเสี่ยงติดเชื้อได้อีก ซึ่งอาจต้องมีการสนับสนุนทั้งหน้ากากอนามัย ยา และวัคซีน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ กำไล EM ก็มีความจำเป็นมากในขณะนี้ ซึ่งแทนที่จะขังในเรือนจำ ก็อาจขังในบ้านผู้ต้องขังแทน หรือกำหนดบริเวณว่าให้ออกไปได้แค่ไหน ก็จะช่วยให้ระบายความหนาแน่นได้

“อยากให้หลักคิดว่า เราอย่าไปจินตนาการว่า เรือนจำต้องเป็นนรก แต่เรือนจำคือสถานที่แก้ไขคนให้กลับมาอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าคิดแบบนี้ ก็ต้องคิดเรื่องการพัฒนา”

ลดแออัดในเรือน ทำได้ไหม?

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การลดแออัดในเรือนจำสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นนโยบายที่ผู้นำประเทศต้องลงมาจัดการ และต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายยาเสพติดที่หลายประเทศก็ปรับให้ยาเสพติดบางประเภทไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องถูกควบคุมโดยรัฐ ผู้ใช้ยาเสพติดก็จะกลายเป็นผู้ป่วย ส่วนผู้ค้าที่ผิดกฎหมายก็จะลดปริมาณ เพราะถูกนำเข้าไปอยู่ในระบบของรัฐ

ส่วนเรื่องการเสนอให้ติดกำไล EM นั้น สามารถใช้กับคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ซึ่งอาจลดได้ประมาณ 5 หมื่นคน รวมถึงคดีประมาท คดีบุกรุก รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ ซึ่งคดีที่มีโทษต่ำเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินการได้

“แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องจัดระบบด้านสาธารณสุขรองรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ เนื่องจากเรือนจำไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้เสนอไปแล้ว และคิดว่ารัฐบาลก็น่าจะอนุมัติ เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของคน”

หน่วยงานรัฐต้องใช้อำนาจแก้ปัญหาให้ตรงจุด

แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ รังสิมันต์ มีข้อสังเกตว่า หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจเต็ม ใช้อำนาจแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เพราะถ้าแก้ปัญหาได้ตรงจุดจริง ก็คงไม่เกิดปัญหาขนาดนี้

“ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเรือนจำมีความเสี่ยงมาก ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็จะเสนองบประมาณต่อสภาตั้งแต่การระบาดในช่วงแรกแล้ว ต้องมีแผนแล้วว่า ถ้าจะไม่ให้เรือนจำเป็นคลัสเตอร์ เราจำเป็นต้องลงทุนกับการซื้อกำไล EM ให้เพียงพอ ต้องลงทุนปฏิรูปเรือนจำ เพื่อให้มั่นใจว่า เรือนจำยุคนี้มีความพร้อมในการป้องกันโควิด”

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ศาลก็มีส่วนสำคัญต่อสถานการณ์นี้ ทั้งเรื่องระเบียบภายในของศาลในเรื่องการวางหลักทรัพย์ประกันตัว ที่ส่งผลต่อความสามารถในการประกันตัวของคนจน รวมถึงปัญหาของข้อกำหนด ที่ทำให้คนคิดว่ายอมติดคุกดีกว่า และเลือกยอมแพ้ที่จะต่อสู้คดี

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปจากภาวะโรคระบาด อาจกระทบกับผู้ต้องขังที่กำลังยื่นขอประกันตัว เช่น อานนท์ นำภา หรือ ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ขอยื่นขอประกันตัวแล้ว แต่ศาลเลื่อนออกไปโดยอ้างเหตุโควิด-19 แทนที่จะใช้จังหวะนี้ในการระบายนักโทษโดยการประกันตัว ก็ทำไม่ได้

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องเข้าไปคุยกับรัฐบาลว่า ตอนนี้มันวิกฤตแล้ว ทั้งศาล รัฐบาล ซึ่งมีอำนาจเต็ม ท่านสามารถจัดการได้ ท่านต้องทำงานให้มากกว่านี้”

เร่งฉีดวัคซีนผู้ต้องขัง

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ตอนนี้ระดมตรวจคัดกรอง 100% ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้พบผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก และมีการตรวจซ้ำก็ยังพบผู้ติดเชื้อ โดยเน้นเรือนจำในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และเชียงใหม่ แต่ยังต้องเร่งแยกผู้ติดเชื้อออกมา

ในส่วนของการนำวัคซีนมาฉีดแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีข้อสรุปจากการหารือกับหลายฝ่ายแล้วว่า ขณะนี้จำเป็นต้องให้วัคซีนแก่ผู้ต้องขังอย่างเร่งด่วน โดยกรมราชทัณฑ์ต้องส่งรายชื่อให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวัคซีนจะถูกฉีดในพื้นที่ระบาดหนักก่อน

ขณะที่ รังสิมันต์ เสนอว่า การแก้ปัญหาต้องทำ  5 เรื่องคือ ตรวจเชิงรุกอย่างเต็มที่และทุกคน 100%, ลดจำนวนนักโทษในเรือนจำโดยใช้เครื่องมือกำไล EM, ไม่เพิ่มจำนวนเข้าไปใหม่ โดยอาจให้เริ่มประกันตัวตั้งแต่ชั้นตำรวจ, หน่วยสาธารณสุขต้องเข้าไปช่วยจัดการ มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเพียงพอ และสุดท้ายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนภายในเรือนจำ ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ อย่าคิดว่าผู้ต้องขังที่ติดเชื้อแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันแล้ว เพราะยังมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ดังนั้น แนวทางการฉีดวัคซีนจึงจำเป็นต้องทำเพื่อควบคุมการระบาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว