คลองเตยในวันนั้น สู่ชุมชนอื่น ๆ วันนี้และอนาคต | มุมมองหลังดูสารคดี “คลองเตย Isolated Community”

สารคดี “คลองเตย Isolated Community” สารคดีบันทึกเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 จุดเริ่มต้นของการระบาดช่วงเดือนเมษายน วิกฤตที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การระบาดของโรคในประเทศไทย ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวชีวิตของผู้คนในชุมชนแออัดขนาดใหญ่ “คลองเตย” 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองเตย กลายเป็นต้นแบบของการจัดการการระบาดของโรค สู่นโยบาย Home Isolation และCommunity Isolation แต่ระหว่างทางการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชนต้องเผชิญกับวิกฤตและท้าทายกับสิ่งใดบ้าง 

The Active ชวนตัวแทนชุมชน คนเดินทาง และอีกหลายภาคส่วน ร่วมพูดคุยใน “โจทย์ของผู้คน: การจัดการตัวเองและความพร้อมในการรับมือโควิด-19” 

“คลองเตย Isolated Community” บอกอะไรในภาวะวิกฤตโรคระบาด

พิศาล แสงจันทร์ และทายาท เดชเสถียร หรือ บอล ยอด สองหนุ่มนักเดินทางจากรายการ “หนังพาไป” ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลังการดูสารคดีเรื่องนี้ และในฐานะประชาชนที่ต้องพับแผนการเดินทางทุกอย่างไว้ในลิ้นชัก ซึ่งสวนทางกับไลฟ์สไตล์ คำพูดสั้น ๆ ที่บอกว่า “เศร้าใจมาก” รู้สึก “อิจฉา” เมื่อเห็นหลายประเทศกำลังได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่นักเดินทางยังมีความหวัง ความฝัน ว่าจะได้ท่องโลกอีกครั้ง แต่ไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร เหมือนกับความรู้สึกหลังจากที่ได้ชมสารคดี “คลองเตย Isolated Community”  ที่ไม่รู้ว่าวันไหนจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ แล้วถ้าวันนั้นมาถึงเขาไม่รู้เลยว่าจะต้องจัดการอย่างไร มีคนในชุมชนให้ติดต่อได้ไหม ทุกคนบอกว่าติดเชื้อต้องหาเตียง แต่ไม่เคยมีความรู้ที่แท้จริง และเป็นระบบ เหตุการณ์ในคลองเตยที่ถ่ายทอดผ่านสารคดีเป็นคู่มือดี ๆ ที่รอถอดบทเรียน และส่งมอบต่อองค์ความรู้ให้เผยแพร่ออกไป

“ตัวสารคดีพาเราเข้าไปดู คนที่สูญเสียว่ามันบีบหัวใจยังไง การช่วยเหลือ แต่ละคนต้องทำอะไรในเหตุการณ์แบบนั้น ทำให้จินตนาการได้ดีว่าถ้าเป็นชุมชนเรา เราจะสามารถช่วยกันยังไงได้ ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราองค์ความรู้แบบจากชุมชนอยากได้จริง ๆ”

เรื่องราวของชุมชนที่น่าถอดบทเรียนมีหลากหลายแง่มุม แสงโสม หาญทะเล ครูและแกนนำกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ชื่นชมเรื่องราวของอาสา ไม่ว่าจะเป็น วัด ชุมชน เครือข่ายทุกภาคส่วนที่พยายามจัดการตัวเองก่อนส่งผู้ป่วยเข้าไประบบของรัฐ  เธอเชื่อว่าชุมชนรู้จักกันดีที่สุดและมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากที่สุด หากชุมชนเข้มแข็งช่วยกันทำงานในเชิงป้องกัน รักษา ก็จะเกิดการแก้ไขปัญหาไ้ด้ดีรวดเร็วโดยไม่ต้องมานั่งรอเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้น เหมือนที่เกิดขึ้นที่คลองเตย

ปานทิพย์ ลิกขะไชย ชมรมเกสรลำพู พูดถึงชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่สะท้อนในสารคดี ว่านี่คือตัวอย่างของการดูแลไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา หากไม่ดูแลเพียงคนเดียว ก็เดินหน้าสู่ความปลอดภัยไม่ได้ แต่บางฉากก็ยอมรับว่าสะเทือนใจ

“ประทับใจฉากที่ไม่ใช่คนไทยที่เราต้องช่วยกัน แต่ก็ยังมีบางมุมองที่บ้านเช่าขับไสไล่ส่งเขาในภาวะวิกฤต ไม่น่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่คนในชุมชนก็ลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนช่วยเหลือ ถนัดเรื่องไหนก็ช่วยเพราะทุกวินาทีรอไม่ได้”

ชีวิตที่เปราะบางในภาวะวิกฤตโรคระบาด ยังมีความจริงอีกหลายเรื่องราวที่ถูกบันทึกเอาไว้ใน “คลองเตย Isolated Community”  บอลยอดผู้ผลิตหนังสั้น ทิ้งท้ายว่าสารคดีเรื่องนี้ ได้บันทึกเรื่องราวของผู้คนที่น่าจดจำและได้บอกคู่มือของการเดินทาง เพื่อไปสู่ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เอาไว้แล้ว 

ณัฐพล พลารชุน ผู้กำกับสารคดี บอกว่าสารคดีชิ้นนี้บันทึกช่วงการระบาดระลอกที่สามในช่วงแรกเท่านั้น แต่เวลานี้ อาสายังต้องทุ่มเทเสียสละทำงานเผชิญกับวิกฤตโดยไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้อาสาก็เริ่มล้าและอ่อนแรง และยังไร้ระบบเข้ามารองรับภาระตรงจุดนี้ และนี่คือเรื่องราวสำคัญที่สารคดียังไม่ได้บอกเล่า และเป็นโจทย์อนาคตที่อยากให้สังคมร่วมันสื่อสารและหาทางไปร่วมกัน 

“สิ่งที่ชุมชนเจอคือหลังชนฝา ถ้าเขาไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ก็พูดได้ว่าเหตุการณ์อาจเลวร้ายกว่านี้ จึงเริ่มต้นทำกันเอง ใครพอทำอะไรได้ ก็ทำ มีข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่ก็ต้องทำ ไม่งั้นคนในชุมชนไม่ปลอดภัย ทำให้เห็นผลสำเร็จกลายเป็นโมเดลให้พื้นที่อื่น ๆ แต่จริง ๆ การระบาดเป็นแค่ช่วงต้นระลอก 3 แต่ผ่านมาเกือบ 5 เดือน การระบาดยังอยู่ อยากให้คิดต่อ ตอนนี้ยังไม่จบบคนที่มาทำงาน ก็เริ่มเหนื่อยล้า อาสาก็มีงานมีอาชีพต้องหาเงินเลี้ยงปากท้องตัวเองเหมือนกัน  ระบบก็ไม่ได้สนับสนุน บางคนทำไปร้องไห้ไป ก็ไม่ได้อยู่ในสารคดี”

และยังมีอีกหลายปัญหา หลายมิติที่ซ้อนทับอยู่ในสถานการณ์วิกฤตนี้  ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเรื่องเด็ก ในมิติคุณภาพชีวิต การศึกษา ผลกระทบด้านสุขภาพระยะยาว รวมถึงแรงงาน และเศรษฐกิจ  

คลองเตยในวันนั้น สู่ชุมชนอื่น ๆ วันนี้ และอนาคต

การระบาดระลอก 3 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในชุมชนแออัดคลองเตยเท่านั้น แต่การระบาดลุกลามไปยังชุมชนแออัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ และชุมชนก็พบความท้ายท้ายไม่ต่างกัน คือ ติดขัดข้อกฎหมายของการจัดหาสถานที่เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อ การวางมาตรฐานของการดูแลศูนย์แยกตัว การขาดความรู้การจัดการ การป้องกัน การควบคุมการระบาด การรักษา อาหาร งบประมาณ หรือแม้แต่กำลังคน แต่บนข้อจำกัดเหล่านี้ ชุมชนกลับกล้าลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้ต้นทุนที่ชุมชนมี คือ “อาสา” ทำงานเพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียว  “ผู้ป่วย ชุมชน ปลอดเชื้อ ปลอดภัย” 

นาวิน บุษบา ตัวแทนชุมชนมคลองเตย บอกว่า ชุมชนเตรียมวางแผนล่วงหน้าก่อนเกิดการระบาดโควิดอยู่แล้ว ตั้งทีมกันขึ้นมาทำโรงครัว เพื่อแจกอาหารให้กับคนที่กักตัว คนไม่ได้ทำงาน จ่ายตามบ้านไม่ให้เขาออกเลย 

“เรามีทีมงานให้อาหาร น้ำ เช้า กลางวัน เย็น จะให้เขากักตัวก็ต้องมีอะไรให้เขาอยู่ที่บ้านได้”

การสร้างเครือข่ายคนทำงาน และใช้ช่องทางการสื่อสารระดมขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายภายนอก คือ กลไกสำคัญในระบบชุมชน ยิ่งกว่านั้น บางชุมชนยังได้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปในสถานการณ์นี้ เมื่อเยาวชนที่เคยถูกมองข้ามกลับกลายมาเป็นพลังสำคัญและเผยให้เห็นตัวตนข้างในที่ชุมชนเคยตัดสินในแง่ลบ ปานทิพย์ ลิกขะไชย ใช้เฟซบุ๊กชื่อ เสน่ห์บางลำพู เป็นช่องทางระดมการช่วยเหลือตั้งแต่ที่ชุมชนแรกเริ่มติดเชื้อ และเริ่มระดมหาทีมอาสาให้ทำเหมือนที่คลองเตยคือต้องมีอาสาส่งดอาหาร

“เราได้เห็นเด็กบางคนในชุมชนที่ไม่มีใครอยากจะคุยด้วย แต่พอมาวันหนึ่งเขาคือบุคคลสำคัญ ฮีโร่เอาตัวเองเสี่ยงโรคไปส่งข้าวน้ำอาหาร เห็นว่าเขารักชุมชน และพร้อมจะช่วยเหลือคนอื่น แล้วเราก็ใช้เพจเล็ก ๆ ของเราทำงานเชื่อมการช่วยเหลือชุมชนอื่น ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการช่วยชีวิตคน ได้เห็นมิติของคนที่มีค่าในการช่วยชีวิตคน มันเป็นความภูมิใจของน้อง ๆ เป็นคุณค่าที่เขาได้ช่วยเหลือชุมชน บ้านเกิดของตัวเอง ป้า ๆ กล่าวขอบคุณ ถ้าไม่ใช่เหตุกาณณ์นี้เราจะไม่ได้ยินคำนี้”

เช่นเดียวกับ วรรณา แก้วชาติ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ดูแลชุมชนแออัดหลายสิบชุมชนในกรุงเทพมหานคร โดยใช้เครือข่ายภาคประชาชนเป็นแกนกลางในการดูแลชุมชนและมีคลองเตยเป็นต้นแบบในการทำ Community  Isolation 

ซึ่งการหาสถานที่เพื่อทำเป็นศูนย์แยกตัวผู้ป่วยติดเชื้อมีความยากลำบาก เพราะหน่วยงานไม่ให้การรับรองและอ้างว่าผิดกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดผู้นำชุมชนก็ลงความเห็นว่ารอไม่ได้ เราจึงเดินหน้าต่อ และใช้ศาลาชุมชนเป็นที่พักคอยรอส่งตัว แต่รอนานเข้า ศูนย์ฯ ก็กลายเป็นที่พักรักษาตัว ที่ผ่านมาาส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลแค่รายเดียว ส่วนอีก 60-70 คน ชาวบ้านดูแลกันเอง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่ององค์ความรู้ที่ชาวบ้านกลัว และตื่นตระหนกจนเกิดการต่อต้านผู้ติดเชื้อไม่ให้อยู่ร่วมในชุมชน บางคนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย

“กักตัวในห้องคอนโด รักษาตัวเองผ่านระบบวิดีโอคอล 12 วันแล้ว ใกล้หายเป็นปกติแล้ว แต่ชาวบ้าน 100 คน กดดันรวมตัวให้เขาออกจากห้อง เขากดดันเกือบจะฆ่าตัวตาย จนเราเองต้องไปรับและมาดูแลต่อจนหายดี”

วรรณายังเล่าต่อว่า มีอีกเคสที่สะท้อนถึงการขาดความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ กรณีของสามีภรรยาคู่หนึ่ง

“ภรรยาติดโควิด สามีไล่ออกจากบ้าน มานอนสะพานลอย ไม่มีที่ไป ไม่มีเงิน อาหาร มีคนประสานมาเราก็รับ แต่ท้องถิ่นไม่ให้เรารับ แต่เราก็รับ เพราะว่าเราไม่มีมาตรฐาน คนไม่มีที่ไปเราก็ต้องรับ รัฐไม่เคยเข้ามาจัดการอะไร น้อยมากที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ” 

เธอบอกอีกว่า บางบ้านมีสภาพแออัด แต่ไม่มีที่ไป ก็ต้องเอาผ้ากั้นทำเป็นห้อง และให้ความรู้ในการอยู่ร่วมกัน สุดท้ายไม่ติดเชื้อ

การจัดการโรคระบาดด้วยชุมชน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การหามติที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ กรณีของชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ รัชชานนท์ มะมิง ตัวแทนชุมชนเล่าว่า ที่นี่ไม่ใช้วิธีแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เพราะกังวลการจัดการจึงให้ผู้ติดเชื้ออยู่ที่บ้านและแยกกลุ่มเสี่ยงมาไว้ที่มัสยิดแทน

“มัสยิดมีโรงเรียนที่สอนด้านศาสนา แต่ช่วงนี้ปิดอยู่เลยใช้สำหรับผู้ที่ต้องกักตัว แต่ไม่เห็นด้วยว่าจะเอาคนติดเชื้อมาเพราะมีกฎหมายอยู่ เราก็เข้าใจ คนติดเชื้ออยู่บ้าน เอาคนเสี่ยงออกมา บ้านไหนมีห้องว่างก็ให้อยู่ไปก่อน ตั้งไลน์ชุมชน เฝ้าระวัง แจ้งปัญหา เราก็ทำได้ง่ายเพราะเป็นชุมชนเล็ก ๆ” 

ไม่เพียงแค่การระบาดในชุมชนแออัดในเมืองหลวง แต่การระบาดแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่บนเกาะ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ อย่าง “เกาะหลีเป๊ะ” เชื้อกระจายที่นี่ไปได้อย่างไร 

แสงโสม หาญทะเล ครูและแกนนำชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ   เล่าว่า การระบาดรอบ 3 เกิดขึ้นเพราะระดับจังหวัดไม่มีนโยบายปิดเกาะ หวั่นกระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เมื่อไม่มีการจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้คน นักท่องเที่ยว เชื้อจึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วบนเกาะโดยเฉพาะกับชุมชนชาวเล 

“เราพบเคสวันแรก 28 ก.ค. เป็นผู้ประกอบการร้านค้า ขายของชำ อยู่ใกล้ชุมชน ซึ่งไปใช้บริการซื้อของโดยเฉพาะเด็ก ๆ จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มมีอาการป่วยเยอะ เรานึกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาเพราะฝนตกเยอะ พอมีเคสรายแรก หมอก็ไปสุ่มตรวจบ้านที่อยู่ใกล้ร้านค้า พบว่าติดเชื้อ 7 คน  เสี่ยงสูง 50 คน เราตื่นตระหนกมาก มี รพ.สต.  หลีเป๊ะที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุข แต่มีคนทำงานไม่ถึง 10 คน ดูแลทั้งเกาะกว่าสองพันคน”

ที่นี่เปิดศูนย์กักตัวขึ้นมาบนเกาะ บนความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน บนข้อจำกัดของอุปกรณ์ป้องกัน รักษา และความรู้ แต่การรวมตัวของอาสาบนเกาะ เยาวชน ที่เคยทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเล  ในนามศิษย์เก่าบ้านเกาะหลีเป๊ะ เริ่มประกาศโพสต์ของความช่วยเหลือ ก่อนที่น้ำใจจากทั่วสารทิศจะเริ่มทยอยมา และเดินหน้าดูแลกันภายใต้กลไกของอาสาชุมชน 

“เราต้องสื่อสารด้วยภาษาชาวเล ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พูดภาษาไทย ก็ต้องหันมาถามทีมครูและเด็ก ต้องรับสารจากหมอ ฝ่ายปกครอง ช่วยสื่อสารกับชาวบ้าน แล้วเราก็จะดูแลคนเสี่ยงสูงที่บ้าน ประสานกับ อบต. เบิกข้าวสารอาหารแห้ง นม มาให้คนเสี่ยงสูง นอกจากการให้ความรู้เรายังได้รับองค์ความรู้สมุนไพรไทยจากต่างประเทศ  ที่ไม่เคยรู้ไม่เคยใช้มีมูลนิธิข้ามาช่วยเหลือ ส่งความรู้กระจายให้กับคนในชุมชน ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเดือนเศษ แต่ละวันเจอรายสองราย ลดลง เป็นกลุ่มสีเขียวกันหมด”

ชีวิตในอนาคต บทเรียนจากสารคดี สู่การปรับตัวเมื่อต้องอยู่กับโควิด-19 ? 

นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์เวชปฏิบัติองค์รวม บอกว่า เชื้อโควิด-19 เหมือนหวัดทั่วไป หากไม่ลงปอด หลายคนอาจติดเชื้อ และหายเองไปแล้ว แต่ที่น่ากังวลและจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเพราะความกังวลเรื่องกลุ่มเสี่ยง โรคอ้วน เบาหวาน กลุ่ม 7 โรค เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อและเสียชีวิต เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ แต่เป็นโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตทุกคน มีคนหายและใช้ชีวิตได้ปกติ  

นพ.สิทธา บอกอีกว่า เรื่องราวในสารคดี คือ คนติดเชื้อแต่ไม่โดดเดียว เพราะมีบ้านวัดชุมชน เป็นไกด์ไลน์ของการทำ CI อย่างคลองเตย คือ คนติดเชื้อไม่โดนทิ้งขว้าง เป็นตัวอย่างที่ดี การจัดการโควิด-19 จัดการยาก ถ้าเป็นหายก็จบ แต่เป็นแล้วติดกันต่อนี่คือสิ่งที่ต้องตั้งหลัก ในความจริงโรคนี้เป็นได้ และก็หายได้เหมือนกัน และป้องกันตัวเองได้ด้วยการไม่เอาตัวเองไปเป็นกลุ่มเสี่ยง

“อย่าทำให้ตัวเองเป็นกลุมเสี่ยง ไม่นอนดึก เครียด ดูดบุหรี่ สังสรรค์ ปาร์ตี้ ให้กินอาหารเสริม สมุนไพรต้านไวรัส สร้างภูมิคุ้มกัน ล้างสวนจมูกด้วยน้ำเกลือทุกวันโอกาสจะลงปอดก็จะลดลง ถ้าป่วยก็ประเมินตัวเอง เช่น ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการ ก็เป็นกลุ่มเขียว ดูแลตัวเอง มีเครื่องวัดออกซิเจน เครื่องวัดอุณหภูมิ กินฟ้าทะลายโจร แต่ไม่กินเกินห้าวัน ถ้าเปลี่ยนไปมีอาการ ก็ไปโรงพยาบาลสนาม ถ้ากินยาฟาวิพิราเวียร์ให้หยุดฟ้าทะลายโจรเพราะจะมีปัญหาตับ”

คำแนะนำเพิ่มเติมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้ติดเชื้อ เกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ เธอบอกว่าไม่ว่าจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน เมื่อถึงวันที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ก็มักทำอะไรไม่ถูก แต่เมื่อตั้งสติได้ ขอให้สังเกตอาการของตัวเอง พยายามลงทะเบียนในระบบ แยกตัวเองออกจากครอบครัว แจ้งข้อมูลการติดเชื้อให้ชุมชนทราบ ไม่ปกปิดข้อมูล เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ดูแลความสะอาดสถานที่พัก และแยกขยะติดเชื้อในถุงแดง ซึ่งสำคัญมาก และกินยารักษาตามอาการ

“ถ้าเราเริ่มจามถี่กว่าปกติ นี่เป็นสัญญาณแรก ไอ บางคนไม่มีไข้ แต่ท้องเสียติดกัน 2 วัน ถ่ายท้องถึง 12 ครั้ง เราก็กินยาตามอาการ คือ แก้ท้องเสียและพยายามไม่ให้ตัวเองมีไข้ ป้องกันเชื้อลงปอด ถ้ากดไข้ไว้ได้ อาการอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ควบคุมได้ และต้องสังเกตอาการตัวเองตลอด”

หากลดกลุ่มเสี่ยงหรือเราทุกคนไม่กลายเป็นภาระหมอ สถานการณ์นี้ก็ผ่านไปได้ แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้วอย่างที่เห็นในสารคดีเรื่องนี้  นพ.สิทธา กล่าวชื่นชมความร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด ชุมชนคลองเตย ที่ทุกคนจัดทีม จัดอาหาร พยาบาล เตรียมคนป่วย ลงทะเบียน โดยยอมรับว่าหน่วยงานไม่พร้อมสำหรับทุกคน โมเดลนี้จะเป็นโมเดลที่ดี 

เช่นเดียวกับ บอลและยอด สองนักเดินทาง ที่เสนอว่าต้องมีการถอดบทเรียนโมเดลนี้อย่างจริงจัง และออกแบบคู่มือเป็นแนวทางองค์ความรู้ที่ถูกสื่อสารออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่ามีคนเสียสละที่กำลังเหนื่อยและไม่มีระบบสนับสนุน

“ประเทศเราควรจัดการถอดบทเรียนบางอย่าง ไม่ใช่วิ่งตามปัญหา แต่ต้องวิ่งนำปัญหาได้แล้ว การดูสารคดีเรื่องนี้ให้แนวทางเรานะ อย่างน้อยคนที่อยากช่วยเหลือคนอื่นก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

สอดคล้องกับข้อเสนอจาก รัชชานนท์ มะมิง ที่ต้องการแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยและอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ ซึ่งในเวลานี้เขามองว่ายังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

ด้านพื้นที่หลีเป๊ะ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนงบฯ การทำงานของอาสาชุมชน ให้เห็นถึงความเสียสละที่ไม่ควรสูญเปล่าเพราะอาสาก็มีครอบครัว ภาระ หากขาดคนกลุ่มนี้การระบาดกลับมาอีกระลอกเมื่อเปิดเกาะ ถึงเวลานั้นจะวิกฤตวนซ้ำอีกรอบหรือไม่

วรรณา จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีความเห็นตรงกันในหลายประเด็น แต่ที่เธอเน้นย้ำคือการเร่งฉีดวัคซีนและให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจ การรักษา ได้โดยไม่แบ่งแยก 

“เรื่องนี้ควรเป็นสวัสดิการพื้นฐาน ไม่ต้องแบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร สวัสดิการที่ทุกคนให้ความสำคัญเข้าถึงการรักษา การป้องกัน และชุมชนแกนนำทีมอาสาที่ทำงานควรเข้าถึงวัคซีน และให้การตรวจเข้าถึงชุมชน”

การพูดคุยร่วมสองชั่วโมงในวงเวทีเล็ก ๆ ข้อเท็จจริง ความเห็น และความหวังจากตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังของการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นฟันเฟืองพยุงชุมชนให้ก้าวพ้นวิกฤตโรคระบาดคืนแล้วคืนเล่า 

เสียงของพวกเขาและชีวิตที่ร้อยเรียงบันทึกไว้ในสารคดี คลองเตย Isolated Community เป็นอีกบทพิสูจน์ ว่าพลังของภาคประชาชน มีคุณค่า มีความหมายในทุกวิกฤติ และในอนาคต

ชมสารคดี “คลองเตย Isolated Community” ทาง www.VIPA.me คลิก 👉https://thaip.bs/IyWl2zx


Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส