“ระบบ” ที่หายไป? คำถามที่ซ่อนอยู่ใน “คลองเตย Isolated Community” | คุยหลังหนัง อนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19

เมื่อคนในชุมชนแออัดเผชิญหน้ากับโควิด-19 …

พวกเขาลองผิดลองถูก และลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง คือเรื่องราวผ่านสารคดี “คลองเตย Isolated Community” เป็นตัวอย่างให้เห็น ทว่า ความหวังของผู้คนอยู่ที่การคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศเพื่อให้ฐานการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจฟื้นตัวให้ได้ 

แง่นี้ หากมองเชิงอนาคตและต่อยอดจากสารคดี เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนผ่านของประเทศ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้การจัดการโควิด-19 เป็นเรื่องของทุกคน และเราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในอนาคตได้อย่างไร?

The Active สรุปประเด็นสำคัญจากผู้คนหลากหลายจุดยืนและบทบาท ที่จินตนาการและสร้างข้อเสนอร่วมกัน จากวงแลกเปลี่ยน “คุยหลังหนัง: เราจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร”

มุมมองต่อสารคดี “คลองเตย Isolated Community”

สารคดี “คลองเตย Isolated Community” ผลงานกำกับของณัฐพล พลารชุน ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำงานข่าวยาวนานกว่าสิบปี ที่เข้าไปบันทึกและร้อยเรียงเหตุการณ์การระบาดในชุมชนคลองเตยในช่วงเดือนเมษายน 2564  ที่เริ่มมีการระบาดหนักของโควิด-19

การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและสัมผัสหลายเหตุการณ์ด้วยตัวเอง กลั่นกรองออกเป็นสารคดีที่สื่อสารให้เห็นว่า ณ เวลา ที่วิกฤตที่สุด ชุมชนแออัดเผชิญกับอะไรบ้าง และนี่คือความเห็นจากผู้คนส่วนหนึ่งหลังรับชมสารคดีเรื่องนี้

ความเห็นจาก ‘สุภาพ หริมเทพาธิป’ จาก Documentary Club และผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Bioscope เปิดประเด็นอย่างน่าสนใจว่า สำหรับแวดวงคนทำข่าว เมื่อหันมาผลิตสารคดี ถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวที่อยากเห็นมานานแล้ว เพราะคนเล่าเรื่องที่ถือว่าใกล้ชิดกับเหตุการณ์และผู้คนมากที่สุดก็คือนักข่าว

“นักข่าวใกล้ชิดกับเรื่องราว ตัวเขาเองเข้าใกล้เนื้อหาสาระสังคมมากกว่าอาชีพอื่น ๆ สารคดีส่วนใหญ่มาจากนักทำสารคดีกระแสหลัก เราได้เห็นหน้าของคนทำข่าว ได้เห็นแง่มุมที่เข้าไปจับลักษณะที่ต่างจากคนทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว อยากเห็นพัฒนาการต่อไปอีกเรื่อย ๆ” 

และสิ่งที่เขาเห็นว่ามันปรากฏอยู่บ่อยครั้งด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบ ก็คือความร่วมมือของชุมชนตลอดเวลา มันคือสิ่งที่คนทำมองเห็น จึงสะท้อนสิ่งนี้ออกมาได้ แม้หนังจะพยายามเล่าถึงการเกิดขึ้นของ Community Isolation แต่ความร่วมมือคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดระหว่างบรรทัด

‘สุภาพ หริมเทพาธิป’ จาก Documentary Club และผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Bioscope

ส่วน ‘สิทธิชาติ อังคะสิทธิศิริ‘ ประธานชุมชนล็อก 1-2-3 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ในฐานะคนดู และมีบทบาทจากแกนเรื่องสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ บอกว่า สารคดีได้ให้ภาพรวมของเหตุการณ์วิกฤต ทำให้เห็นหลายชุมชนว่าทุกคนร่วมมือช่วยกันอย่างไร ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด สู้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน หากถามว่ากลัวไหม พวกเขากลัว แต่ก็สู้ไปด้วยกัน เช่นเดียวกับ ‘เชาว์ เกิดอารีย์‘ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ผู้มีชะตากรรมร่วมกับคลองเตยเล่าว่า  ประทับใจความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ประทับใจพระสงฆ์ที่ลงมาช่วยชุมชน ไม่ยอมให้คนใส่บาตร ประสบปัญหาลำพัง และนำมาสู่การเกิดขึ้นของศูนย์พักคอยวัดสะพาน

ด้าน ‘นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์’  ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เห็นต่างออกไปว่า สารคดีอาจจะยังไม่สามารถทำหน้าที่ให้ภาพรวมทั้งหมดได้ แต่ก็เห็นว่าใครกำลังพยายามที่จะทำอะไร

“ชุมชนมีความพยายามได้เห็นศักยภาพ ความสามารถ แต่ไม่เห็นภาพใหญ่ของระบบที่เลวร้ายยิ่งกว่า”

สอดคล้องกับความเห็น ‘สมชัย จิตสุชน’ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มองว่าสารคดีไม่ได้ทิ้งข้อความที่ลึกซึ้งมากนัก แต่ทิ้งคำถามต่อภาครัฐว่าจะจัดการอย่างไร แต่ที่น่าชื่นชมคือสารคดีเรื่องนี้ได้ทำให้หลายคนได้เห็นสภาพชุมชนแออัด หากไม่ได้อยู่ตรงนั้นก็แทบนึกไม่ออก 

“รู้สึกอิน เพราะนึกถึงอดีตที่เคยอาศัยใกล้ย่านนั้นมาก่อน  ถ้าใครไม่เคยอยู่ แทบจะนึกภาพไม่ออก แต่สารคดีเรื่องนี้ทำให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น” 

ด้าน ‘วิเชียร พงศธร’ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย บอกว่าสารคดีทำหน้าที่ประมวลถ่ายทอดมากว่าเรื่องสถิติ ซึ่งการถ่ายทอดเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ได้รับรู้ เรียนรู้ ได้ประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไข เห็นความเปราะบางไม่พร้อมของภาครัฐ 

“การอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ในระดับบุคคลเป็นไปไม่ได้ตอนนี้  สังคมตื่นขึ้น เราเห็นความเป็นมนุษย์จากความอุตลุด ตะลุมบอนแก้ไข เราได้เรียนรู้การเข้าไปช่วยเหลือกันเรียนรู้จากสารคดีเพื่อให้พัฒนาแก้ไขต่อไป”

หากมองในมุมของคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนและร่วมขับเคลื่อนประเด็นสังคมในภาพรวมและนโยบายของประเทศ ‘นิมิตร์ เทียนอุดม’ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะทำงานโควิดชุมชน เห็นว่า สารคดีทำหน้าที่บอกความจริง เห็นพลังของชุมชนว่าเมื่อถึงเวลา ชุมชนจะดิ้นรนเพื่อหาทางออกด้วยตนเอง แต่สารคดีต้องใช้เวลาอีกสักนิดเพื่อเติมหรือสะสางข้อเท็จจริงของตัวเรื่อง ประเด็นการห้ามไม่ให้ย้ายผู้ป่วยออก สะสางปมจนนำไปสูการมี Home Isolation, Community Isolation จะสวยงามขึ้นเยอะ และต้องระวังการผลิตซ้ำความกลัว

“สุดท้ายมันส่งต่อความกลัวให้กับชุมชน สังคม ต่อความรู้ที่มีต่อโรคนี้ หากสารคดีมีเวลาอธิบายมากว่านี้มันจะช่วยได้เยอะ”

“ระบบ” อะไรที่หายไป? คำถามใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในสารคดี

สิ่งหนึ่งที่ฉายให้เห็นชัดในสารคดีเรื่องนี้ คือ กระบวนการจัดการของชุมชน พลัง และการลุกขึ้นมาเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้า ท้าทายกฎหมายเดิมพันที่ใหญ่กว่า “ชีวิตของผู้คนที่นอนรอการรักษา” หลายคนที่ร่วมแลกเปลี่ยนเห็นตรงกันว่า สารคดีถ่ายทอดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนที่สุด แต่สิ่งที่น่าถกเถียงกันต่อ คือ ระบบของรัฐหายไปไหน หรืออยู่ตรงไหนในวิกฤตครั้งนี้ และเราต้องออกแบบระบบอย่างไร ให้รองรับกับชีวิตที่อาจต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนานแสนนาน

สุภาพ จาก Documentary Club  บอกว่า หนังทำหน้าที่เปลี่ยนมุมมองต่อชุมชน เห็นศักยภาพของชุมชน แม้ว่าจะเปราะบางอ่อนแอ แต่ก็มีศักยภาพมากมาย หนังบอกว่าพวกเขาต้องเผชิญกับกับกระบวนการของระบบบ้านเรา

“ถ้าระบบเปิดให้เขาทำอะไรได้ด้วยชุมชนเอง ชุมชนมีศักยภาพที่จะรอดพ้นจากอันตรายและพัฒนาภาพใหญ่ไปด้วยกัน”

นพ.สมศักดิ์ เห็นว่า สารคดีได้สร้างแรงบันดาลใจสื่อสารข้อเท็จริงจากเหตุการณ์ แต่การตีความอยู่ที่คนดู การร้อยเรียงสะท้อนสิ่งที่คิด สิ่งที่เห็น เราดูด้วยความระมัดระวังในแง่ตีความ แต่ถ้าดูในแง่ข้อเท็จจริงจะมีประโยชน์มาก ตลอดเวลาที่ติดตามข่าวคลองเตย เห็นข้อมูลหลายอย่าง  เรื่องแรก ปัจเจก หากรวมกลุ่มทำอะไรได้มากกว่าใส่หน้ากาก ล้างมือ ทำอะไรที่มีศักยภาพได้ไม่ต้องรอใคร เรื่องสอง ประทับใจการส่งอาหาร ให้รัฐบาลทำก็ไม่มีปัญญา แม้ว่าภายหลัง สปสช. จะมาทำเรื่องนี้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ระบบเชื่อมต่อของ Community Isolation ในสารคดีเกิดขึ้นเกิดก่อนนโยบายจะชัดเจน แต่สารคดีไม่ได้พูดเรื่องนี้เยอะ ทั้งที่การเชื่อมต่อกับระบบสำคัญและเชื่อมไม่ได้ และ สุดท้าย คือ สิ่งที่เกิดขึ้นยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ ในอนาคตสถานการณ์จะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมีการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ แต่สิ่งที่ยังอยู่คือพลังของชุมชน แต่จะออกแบบระบบอย่างไรให้ยืดหยุ่นและดึงทุกภาคส่วนมาช่วย

“เราจะทำโครงสร้างระบบที่ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น แต่เชื่อมต่อกับระบบ ต้องมีคนระดมพลังช่วยกันในระดับยุทธศาสตร์ไม่ใช่ภาครัฐ อาจเป็นภาคประชาชนในพื้นที่เอกชน ภาคธุรกิจ”

สิทธิชาติ ประธานชุมชนล็อก 123  ขยายให้เห็นชัดเจนขึ้นจากสารคดี ว่าระบบที่ไม่เกิดการเชื่อมต่อจริงกับชุมชนส่งผลอย่างไรบ้างกับพวกเขา ในฐานะที่เขาทำงานและตั้งทีมอาสาดูแลคนติดเชื้อคนแรกในคลองเตย จุดประเด็นให้เห็นว่าสภาพชุมชนแออัด บ้านไม่สามารถกักตัวรอเตียงได้เหมือนนโยบายที่ประกาศ แม้ระยะแรกจะลองผิดลองถูก ทำบนความไม่รู้และความกลัว แต่ทุกคนก็ร่วมมือกันจนผ่านมาได้ทุกวันนี้แบบอุตลุด

“รัฐบาลประกาศว่าติดเชื้อกักตัวในบ้านได้ แต่คลองเตยบ้านติดกันหมด ถ้าไม่เอาคนติดเชื้อออกจากชุมชนจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ คนติดเชื้อประสานหาเตียงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังติดเชื้อไม่เยอะ รถรับส่งไม่มี เตียงไม่พอ ดัดแปลงรถดับเพลิงมาเป็นรถรับส่งผู้ป่วย รู้ว่ามันผิดกฎหมาย แต่เราปล่อยให้คนป่วยนอนตายต่อหน้าไม่ได้ รถกระบะเคยรับส่งผู้ป่วยมาแล้วพันคน บางคนตายคารถก็มี ชุมชนผมมีคนอาศัย 7-8 พัน ได้โควตาตรวจเชื้อ 100-200 คน ไม่ครอบคลุม กว่าจะได้ตรวจหมด ก็ติดเชื้อกันกระจายหลายชุมชน สู้ด้วยตนเอง การทำงานไม่มีใครรู้ดีเท่าคนในพื้นที่ สาธารณสุขล้มเหลวมาก  ไม่มีการให้ความรู้ เราใช้วิธีการเรียนรู้โดยการลงมือทำเท่านั้นเอง”

ประธานชุมชนย้ำว่าสถานการณ์ในเวลานี้อาจไม่แย่เหมือนช่วงเริ่มต้น การส่งต่อผู้ป่วยรวดเร็วมากขึ้น ชุมชนทำงานคล่องตัวและมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง มีทีมทำงานเฉพาะกิจแจ้งรับเหตุ 24 ชั่วโมง แต่เขาเห็นว่าหากรัฐบาลวางแผนให้ดีตั้งแต่แรกอาจไม่วิกฤตขนาดนี้

เช่นเดียวกับชุมชนบุญร่มไทร ซึ่งมีปัญหาไม่ต่างกัน  เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชน บอกว่า มีปัญหาตั้งแต่การเข้าถึงการตรวจ การประสานหาเตียง วิกฤตครั้งนี้แม้จะผ่านมาด้วยความยากลำบาก แต่เวลานี้สิ่งที่ชุมชนได้กลับมาคือความสามัคคีที่มากขึ้น

“การตรวจในชุมชนยากมาก ประสานเขตก็ไม่ยอมรับ บอกสถานที่คับแคบ หน่วยงานไหนก็แล้วแต่ ต่อให้เป็น รพ. ที่เราไปตรวจ โทรกลับก็ไม่รับสาย เรื่องการประสานเตียงช่วงนั้นในประเทศการติดเชื้อไม่เยอะ แต่การประสานเตียงยาก รออยู่สิบวันกว่าจะได้เตียงรักษา การให้ความรู้กับเราน้อยมาก เราต้องเรียนรู้เอง มีมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา หรือหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วย เป็นเอกชนทั้งหมดไม่ใช่รัฐบาล เขตเพิกเฉยกับพวกเรา ถ้าให้หน่วยงานมาช่วยเหลือเราก็ไม่ทันแน่นอน การที่ชุมชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเองมันเหมือนพลังของชุมชนความสามัคคี ตอนนี้คนในชุมชนก็รักใคร่กันมากขึ้นกว่าเดิม อันนี้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีมากเลย”

อนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19?

“วัคซีน” จะช่วยให้การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในอนาคตปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการระบาดระลอกถัดไป หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น

การค้นหาว่าไทยมีต้นทุน หรือมีช่องโหว่อยู่ตรงไหนบ้าง คือสิ่งที่หลายคนในสังคมกำลังพยายามร่วมกันคลี่ปัญหา เพื่อออกแบบให้ไม่กลับไปสู่วิกฤตเดิมอีกครั้ง  

นิมิตร์ เทียนอุดม คลี่ปัญหาจากประสบการณ์โดยตรงที่ลงพื้นที่ทำงานตรวจเชิงรุกกับแพทย์ชนบท เขาเป็นคนที่ต้องทำงานประสานใกล้ชิดพูดคุยกับกลุ่มเสี่ยงสูงผู้ติดเชื้อมากที่สุด และต่อเนื่องหลายครั้ง สะท้อนว่าวิธีคิดของภาครัฐต่อการควบคุมโรค คือการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ ในเชิงนโยบายและระดับปฎิบัติ จึงย้ายผู้ติดเชื้อออกไปอีกที่หนึ่ง เกิดรพ.สนาม แต่การให้ความสำคัญกับการรักษาคนรักษาโรคยังน้อย ส่วนการกักตัวที่บ้านที่ผ่านมา มีทั้งคนที่ติดเชื้อกันเองในบ้าน แต่ก็มีคนที่ไม่ติดแม้ว่าจะอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญในรายละเอียดที่ต้องร่วมพูดคุยปรึกษาและทำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการปฏิบัติ

“กลั่นบทเรียน องค์ความรู้ ประเมินความเสี่ยง ออกมาให้ได้ ครอบครัวจะเป็นฐานที่ดีของการรักษา เป็นยุทธศาตร์สำคัญแต่ต้องเติมอาวุธให้กับครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงได้”

นิมิตร์เสนอเพิ่มเติมว่า การสื่อสารในวันข้างหน้า ต้องไม่ผลิตซ้ำความกลัว อยู่ร่วมกับคนที่ติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะบ้าน ชุมชน หรือที่ทำงาน รัฐต้องให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพ เพียงพอกับชุมชนหน้ากากอนามัย ปัจจัยต้น ๆ ของการป้องกันติดเชื้อ แต่ยังมีบางคนที่ยังใช้หน้ากากซ้ำ หน้ากากผ้าที่บางเกินไป รวมถึงเจลแอลกอฮอร์ อุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้สำคัญจำเป็นที่ควรสนับสนุน

“ถ้ารัฐลงทุนตรงนี้จะถูกกว่ายาฟาวิพิราเวียร์มาก จะลดการติดเชื้อได้”

สุดท้ายเขาย้ำว่า การเข้าถึงการตรวจสำคัญ และการตรวจที่เกิดประโยชน์สูงสุดคือการตรวจแบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และไม่ควรใช้การตรวจยืนยันเพื่อทำงาน เพราะผลตรวจวันนี้ไม่ได้การันตีความเสี่ยงในวันข้างหน้า และอาจจะส่งผลต่อการระมัดระวังตัว 

“ใบตรวจต้องห้ามใช้ตรวจเพื่อเบิกทางทำงาน แต่ให้ใช้วิธีสมมุติว่าเขามีเชื้อ ปฏิบัติเหมือนว่าทุกคนมีเชื้อ แต่ต้องเข้าถึงการตรวจเพื่อการลดอัตรการเสียชีวิตและเข้าถึงการรักษา”

ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เห็นด้วยและร่วมเสนอว่าเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมการระบาด คือ จุดตรวจ (ตรวจเร็ว) และการดูแลรักษาต้องไม่ยึดติดโรงพยาบาลอย่างเดียว ต้องใช้ครอบครัวซึ่งมีส่วนสำคัญ แต่ให้ความรู้ทั้งวิชาการและความรู้ที่ไม่ใช่การให้คู่มือ หรือแนวทางการปฎบัติ แต่เป็นความรู้ที่นำไปสู่เรื่องการตรวจ การรักษา ระบบที่เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติ รัฐต้องทำระบบเชื่อมโยงประชาชนและระบบดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหน่วยบริการที่ยึดในพื้นที่ดูแลให้ทุกหน่วยรวมกัน ออกแบบโครงสร้างระบบบริการประชาชนจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว

“นโยบายการควบคุมโควิด-19 ไม่ถูกจำกัดด้วยการล็อกดาวน์ แต่ควรใช้ในกรณีที่ระบบสาธารณาสุขจะล่มเท่านั้น ถ้ามีโครงสร้างระบบเชื่อมโยงประชาชนและระบบดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ และค่อย ๆ เติมเรื่องอื่น ๆ บนหลักทำงานร่วมกันหวังว่าจะไม่เจอสถานกาณณ์เดิม”

สิทธิชาติ ในฐานะคนทำงานเสนอว่ารัฐควรให้การสนับสนุนกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ทัพหน้าเสี่ยงและเมื่อติดเชื้อ พวกเขาก็เป็นกลุ่มคนเปราะบางไม่ต่างจากชาวบ้านไม่มีงาน เงิน รัฐบาลควรสนับสนุนคนกลุ่มนี้ และอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง ขณะที่ เชาวน์ เสริมว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาด้านการดูแลรักษาตัวเองช่วงโควิด-19 หนักหนาสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ การเข้าถึงการตรวจที่ครอบคลุมและลดขั้นตอนจะช่วยคนกลุ่มนี้ได้มาก ตราบใดที่ราคาอุปกรณ์การตรวจเชื้อยังมีราคาแพง พวกเขาไม่สามารถซื้อหาได้เองอยากให้มีการสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงการตรวจได้

ด้าน วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย เสนอให้สร้างกระบวนการเตรียมความพร้อมเรียนรู้จากความร่วมมือที่เห็นอยู่แล้วจากพลังของชุมชน เห็นจุดอ่อนของภาครัฐว่าช่วยได้น้อยกว่าที่รัฐจะช่วยได้ เห็นการหยิบยื่นให้กัน จากกลุ่มใหม่ ๆ แก้กระบวนการจัดการความพร้อมความร่วมมือให้เป็นระบบให้เกิดการประสานความร่วมมือเพื่อเสริมขีดความสามารถของชุมชน สังคมโดยรวม โดยยกระดับสร้างภูมิคุ้มกันทั้งระบบ เขายกตัวอย่างกรณีกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม เปลี่ยนวิธีคิดจะพยุงเพียงธุรกิจของตัวเอง ฉีดวัคซีนเฉพาะพนักงานในโรงงานของตน แต่ควรยื่นมือมาร่วมกันทำให้ห่วงโซ่ปลอดภัยทั้งระบบ

“ธุรกิจอุตสาหกรรม หากคิดถึงแค่ตัวเองจะอยู่รอดได้แค่ครั้งคราว แต่ระยะยาวไม่น่ารอด คิดแต่จะรับผิดชอบน้อยที่สุดตามกฎหมาย จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือห่วงโซ่ธุรกิจของเราไปรอดด้วยกันหมด เปลี่ยนวิธีคิดทำดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพมีไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ยั่งยืน”

ด้าน สมชัย จิตสุชน ย้ำว่าประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักอยู่แล้ว เมื่อมีโควิด-19 ก็หนักขึ้นไปอีก จะเห็นได้จากตัวเลขสิถิติ สารคดียิ่งตอกย้ำและทำให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอ่อนแอ กลุ่มเปราะบาง ความสามารถในการจัดการที่ต่างจากคนที่มีฐานะไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) นี่คือโจทย์ที่รัฐจะช่วยอะไรคนหาเช้ากินค่ำกังวลกับค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ผลกระทบที่ชนชั้นกลางไม่เข้าใจ เพราะมีบ้านเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ความรู้ที่ถูกต้องที่คิดว่าชุมชนเข้าใจแต่เหมือนไม่ชัดเจน การให้ความรู้ทางระบาดวิทยาก็เป็นความรู้แบบกว้าง ๆ ไม่ได้เฉพาะกับบริบทของชุมชนแออัด  แต่ในเวลานี้ ความรู้ที่ถูกต้องโดยเฉพาะการจัดการปัญหา การเยียวยาผลกระทบรัฐจำเป็นต้องฟังเสียงชุมชน

“โอนให้ชุมชนจัดการ รัฐทำหน้าที่สนับสนุนงบฯ เยียวยาในมิติต่าง ๆ รัฐแค่มอนิเตอร์ประเมินตาม kpi แต่ให้ชุมชนจัดการเอง เสียงเรียกร้องที่การช่วยเหลือไม่ถูกจุดจะเบาบางลง”

สมชัย ยังกังวลประเด็นสุขภาพในระยะยาวของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ที่มีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนซึ่งอาจมากว่านี้ในอนาคต รัฐจึงต้องมีแนวทางรองรับที่เหมาะสม สนับสนุนงบฯ ชุมชนเป็นคนระดมสมองจัดการระยะยาว ต้องคิดจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้แนวโน้มดีขึ้นและอยู่กับโควิด-19 โดยไม่ต้องล็อกดาวน์   มีข้อมูลระบุว่าก่อนโควิด-19 ระบาด มีคนพร้อมตกงานถึง 40% คือ กลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พอมีโควิด-19 คนกลุ่มนี้บางคนไม่สามารถมาทำงานเดิมได้อีกแล้ว เป็นแผลเป็นด้านเศรษฐกิจ ธนาคารโลกจึงเสนอแนะให้หลายประเทศปรับโครงสร้างการเก็บภาษีจากความมั่งคั่งหรือทรัพย์สิน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกระแสเรื่องนี้เช่นกัน แต่มีการคัดค้านอยู่มาก โดยเฉพาะคนที่เสียประโยชน์ แม้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้แต่ก็ยังต้องการพื้นที่ถกเถียงอีกมาก 

“เห็นด้วยกับธนาคารโลก การปรับโครงสร้างภาษีลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่สังคมต้องร่วมกันถกเถียงเพื่อหาแนวทางต่อไป แต่รัฐต้องไม่ให้แผลเป็นลงลึกจนเกินไป ไม่ควรรัดเข็มขัดหรือลังเลไม่ยอมทุ่มความช่วยเหลือเยียวยาแยกแยะโดยเฉพาะกลุ่มเประบาง” 

สอดคล้องกับความเห็นของ วิเชียร พงศธร ที่ทิ้งท้ายว่าการปรับโครงสร้างภาษีควรเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม แต่เวลานี้รัฐบาลต้องวางแผนการใช้งบประมาณไม่เหมือนในภาวะปกติ แต่ต้องคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด

สถานกาณณ์โควิด-19 เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ในการปฏิรูปหลายอย่าง ๆ ทว่าในระยะสั้นอาจต้องครอบคลุมการสนับสนุน การตรวจพบให้เร็ว การทำข้อมูลข้อเท็จจริง 

ขณะที่ระยะยาวการลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบภาษี ระบบสุขภาพ การตัดสินใจ การมีส่วนร่วมประชาธิปไตย หรือแม้แต่การที่ชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมอย่างเเท้จริง เป็นสิ่งที่จะทำให้เราอยู่กับวิกฤตและปัญหาอื่น ๆ ต่อไปได้

ชมสารคดี “คลองเตย Isolated Community” ทาง www.VIPA.me คลิก 👉https://thaip.bs/IyWl2zx


Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส