สธ. ถามคนไทย ยังต้องการฉีดวัคซีนโควิด อยู่ไหม ?

หลัง บ.แอสตราเซเนกา ยอมรับ วัคซีนทำให้เกิด ลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แต่เกิดได้ยาก ขณะที่ กรมควบคุมโรค พบผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนแอสตราฯ 7 คน จากผู้รับวัคซีนกว่า 20 ล้านคน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ แนะกลุ่มเสี่ยงควรฉีด

วันนี้ (2 พ.ค. 67) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นการรับวัคซีนโควิด-19 ปี 2567 เผยแพร่ผ่านทางเพจ กระทรวงสาธารณสุข โดยแบบสอบถามถามว่า

  1. ท่านอยู่ในกลุ่มใด ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ มีโรคเรื้อรังหรือไม่ ? อายุเท่าไร ?

  2. ที่ผ่านมาเคยรับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ?

  3. ในปี 2567 ท่านมีความประสงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ? และ เหตุผลสำคัญที่ท่านเลือกไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่น ไม่มั่นใจประสิทธิภาพ, กังวลผลข้างเคียง, มีค่าใช้จ่าย และคิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น 

แบบสอบถามนี้ มีขึ้นหลังจาก บริษัท แอสตราเซเนกา ยอมรับว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท สามารถทำให้เกิด Thrombocytopenia syndrome (TTS) หรือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้ในบางกรณี หรือก็คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันและมีเกล็ดเลือดต่ำภายหลังการได้รับวัคซีน แต่เกิดขึ้นได้ยาก 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาทั้งหมด 48 ล้านโดส ฉีดคนละ 2 โดส มีผู้รับวัคซีนประมาณ 20 ล้านคน เข็มสุดท้ายที่ฉีดคือเมื่อเดือนมีนาคม 2566 มีรายงานผู้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา 23 คน แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีนฯ พิจารณาว่ามีผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันที่เข้าข่ายอาจเกิดจากวัคซีน 7 คน ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 2 คน 

สำหรับ วัคซีนโควิด-19 ของ แอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector (วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก ตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ) ฉีดให้กับประชาชนหลายประเทศรวมถึงไทย หลังจากการล็อกดาวน์ไม่ถึง 1 ปี โดยไทยเลือกแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนหลัก มีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นคนไทยฉีดวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีนเป็นวัคซีนโควิดเข็มแรก และต่อมาฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา เป็นชาติแรกในโลก ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีน mRNA 

อ่านเพิ่ม “สยามไบโอไซเอนซ์” ทางลัดความมั่นคงทางวัคซีนไทย? 

ขณะนี้ประเทศไทยไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาไปหมดแล้ว ไม่ได้จัดซื้อเพิ่ม โดยวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศไทยฉีดอยู่ตอนนี้ คือ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีน mRNA เท่านั้น 

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้ให้บริการฉีดวัคซีน โควิด-19 ฟรีแล้ว หากประชาชนคนใดต้องการฉีด ต้องไปขอรับบริการที่โรงพยาบาล มีค่าใช้จ่าย โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่ายังจำเป็นต้องผลักดันวัคซีนโควิดเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อฉีดประจำปีคล้ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ย้ำว่า ทั่วโลกมีข้อมูลการเฝ้าระวังเรื่องนี้ ทั้ง WHO ทั้ง US CDC และ EU ยืนยันว่า ผลข้างเคียงที่กังวล เกิดในอัตราน้อยมาก และพบว่า ผลข้างเคียงเกิดไม่บ่อยเมื่อเทียบกับคนที่ป่วยโควิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ โควิด-19 ทำให้เกิดมากกว่าฉีดวัคซีน หรือ ลิ่มเลือดอุดตัน ก็พบว่าโควิด-19 ทำให้เกิดมากกว่าฉีดวัคซีน เช่นกัน 

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ – อนันต์ จงแก้ววัฒนา

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักได้มากกว่า และหากถามว่ายังต้องฉีดวัคซีนต่อไปหรือไม่ ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงได้เองว่า ตนเองมีภูมิคุ้มกันเพียงพอหรือไม่ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีน

“ถามว่าทุกคนกลัววัคซีนไหม ตัวหมอเองก็กลัว แต่เราต้องเชื่อฐานข้อมูลที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีการวิเคราะห์ เพียงแต่ว่าใครที่ควรจะฉีด ก็ให้บวกลบคูณหาร ตามความเสี่ยงของการเกิดโรคที่รุนแรง“  

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

ขณะที่ อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ BIOTEC ยังมองว่า ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับวัคซีนมีสูงกว่าที่จะป่วยหนัก ทั้งนี้แต่ละคนต้องดูความเสี่ยงของตัวเอง หากเราคิดว่ายังมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ ได้รับวัคซีนมาไม่นาน ก็ไม่จำเป็นต้องไปฉีด วัคซีนมีบทบาทสำคัญมากเพราะจะทำให้ความเสี่ยงจากการที่จะเกิดอาการจากลองโควิดลดลง 

”เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับบุคคล แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าวัคซีนเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนโลก ทำให้การต่อสู้กับโควิด 19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน“ 

อนันต์ จงแก้ววัฒนา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active