LGBTIQN+ 269 คู่ ร่วม “บันทึกจดแจ้งความรัก” สะท้อนจำนวนครอบครัวเพศหลากหลาย

ส่วนที่สำนักงานเขตบางรัก คู่รักเพศเดียวกัน ถูกปฏิเสธจด “ทะเบียนสมรส” นักวิชาการ สะท้อนความ “อิหลักอิเหลื่อ” ของกฎหมาย เสนอใช้เวลา 60 วัน พิจารณา “สมรสเท่าเทียม” บูรณาการข้อมูล ผู้มีส่วนได้เสีย

บันทึกจดแจ้งความรัก

จากกรณีที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน จัดกิจกรรม “THE CANDEL OF LOVE” บางขุนเทียน แสงเทียนแห่งรัก ชวนคู่รักเพศเดียวกันร่วมจด “บันทึกจดแจ้งความรัก” เนื่องในวันแห่งความรัก 14 ก.พ. 2565 มีคู่รักที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) จำนวน 269 คู่ หรือ 538 คน เข้าร่วมกิจกรรม แม้ทราบดีว่าไม่มีผลในทางกฏหมาย ซึ่งผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ระบุว่า จะนำข้อมูลที่ได้ส่งต่อไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบการพิจารณาออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ สมรสเท่าเทียม

ขณะที่ในวันเดียวกัน มีคู่รักเพศเดียวกัน อีกจำนวนหนึ่ง เลือกไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักเขตบางรัก แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้ชายและหญิงเท่านั้น จดทะเบียนสมรสกันได้ ด้าน กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียมกล่าวว่า ต้องการร่วมกิจกรรมจดทะเบียนสมรส เหมือนกับคู่ชาย-หญิง เนื่องจากต้องการได้รับสิทธิและสวัสดิการ เช่นเดียวกับคู่สมรสคนอื่น ๆ โดยเฉพาะสิทธิ์การรักษาพยาบาล

ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และทำงานด้านสิทธิของกลุ่ม LGBTIQN+ กล่าวกับ The Active ว่า การที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางรัก ปฏิเสธจดทะเบียนสมรสให้กับคู่รักเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามกฎหมาย หากอ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เราใช้ในปัจจุบัน แต่ก็ย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสำนักเขตบางขุนเทียน ที่เปิดให้คู่รักเพศเดียวกันจด “บันทึกจดแจ้งความรัก” ได้ แต่ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพื่อที่จะสะท้อนว่าทางเขตเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันเดียวกัน เป็นที่มาที่ทำให้สังคมตั้งคำถาม สิ่งนี้สะท้อนไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างว่า เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีความชัดเจน จึงทำให้เจ้าหน้าระดับปฏิบัติการต้องทำงานแบบ “อิหลักอิเหลื่อ”

สมรสเท่าเทียม จดแจ้งความรัก
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์

ผศ.รณภูมิ ยังเสนอว่า จำนวนคนที่เข้าไปร่วมบันทึกจดแจ้งความรัก หรือถูกปฎิเสธจดทะเบียนสมรส สะท้อนว่ามีคนที่ไม่ได้นิยามว่าตัวเองว่าเป็นเพศชายหรือหญิง อย่างน้อยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความต้องการ จำเป็น ที่จะได้สิทธิและสวัสดิการในฐานะคู่สมรส อาจะสะท้อนว่า กทม. ต้องการบันทึกข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ในการสื่อสารต่อสาธารณะ หรือตราออกมาเป็นกฎหมาย

“เราจะเห็นว่าการอภิปรายล่าสุดเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ก็มีข้อถกเถียงในรัฐสภาอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ จำนวนหรือประชากรที่ต้องการกฏหมายนี้มีเท่าไหร่ แต่หัวใจสำคัญของการได้มาซึ่งสมรสเท่าเทียมแม้คนมีจำนวนน้อย แต่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไม่กี่แสนคู่สามารถเข้าสู่สิทธิ-สวัสดิการ ก็เป็นสิ่งรัฐสภา รัฐบาล จะต้องลงทุน”

ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์

ส่วนการที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือสมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล สภาฯ อนุมัติให้ ครม. นำไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน  ผศ.รณภูมิ กล่าวว่า นี่เป็นหมุดหมายสำคัญที่ที่ปรึกษาของรัฐบาลด้านกฎหมาย คือ สำนักงานกฤษฎีกา ควรเป็นเหมือนเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลที่ ส.ส. หรือประชาชนสงสัย ว่าคนที่จะได้ประโยชน์จาก “สมรสเท่าเทียม” มีกี่คน รวมถึงเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีตัวเลขบางส่วนเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTIQN+ หรือสิทธิสวัสดิการ ที่จะได้มาจากการสมรส, สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เป็นองค์กรภาครัฐ ที่สามารถสะท้อนตัวเลขที่เทียบเคียงได้, กลุ่มนักวิชาการ มหาวิทยาลัย จำนวนมากที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ LGBTIQN+ ที่จะสามารถพยากรณ์กลุ่มประชากรได้ หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เป็นองค์กรกลาง รวมถึงดึงผู้ที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้เข้ามาพูดคุย เพื่อจะทำให้ข้อมูลมีความสมเหตุ สมผล ในการอภิปรายครั้งถัดไป

สมรสเท่าเทียม

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ สมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน ผ่าน www.support1448.org มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 2.9 แสนชื่อ ใกล้ถึงเป้าหมาย 3 แสนรายชื่อ เพื่อเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภา

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน