วลพ. วินิจฉัย “ครูกอล์ฟ” แต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพได้

นักปกป้องสิทธิฯ ย้ำ สำนักนายกรัฐมนตรี คุรุสภา สพฐ. ต้องปฏิบัติตาม ลุยจัดเวทีเสวนาหาทางออกร่วมกัน

วันนี้ (19 ก.ย. 2565) นาดา ไชยจิตต์ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) โพสต์เฟซบุ๊ก Nada Chaiyajit เป็นคำพูดของ ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ หรือ “ครูกอล์ฟ” ครูข้ามเพศ ระบุว่า

“เพราะสิทธิการเป็นข้าราชการครูที่ถูกต้องตามกฎหมายคือสิทธิของคนทุกเพศ… คำวินิจฉัยกรรมการ วลพ. ที่ให้กอล์ฟได้รับสิทธิแต่งกายและใช้รูปถ่ายในบัตรประจำตัวข้าราชการที่เคารพต่ออัตลักษณ์ทางเพศสภาพ จึงไม่ใช่ชัยชนะของกอล์ฟ แต่คือชัยชนะของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน รวมถึงมันคือชัยชนะของสำนักนายกรัฐมนตรี คุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ด้วย กอล์ฟขอให้หน่วยงานรัฐทั้งสามยอมรับคำวิจิฉัยของกรรมการ วลพ เพื่อที่เราจะได้ Win Together for Gender Equality”

ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ (ครูกอล์ฟ)
เพศสภาพ

นาดายังกล่าวถึงรายละเอียดในประเด็นนี้ว่า ก่อนหน้านี้เธอได้รณรงค์ “ขอเรียกร้องให้ข้าราชการข้ามเพศทำบัตรประจำตัว และแต่งกายตามเพศสภาพได้” โดยยกกรณีของ ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ หรือ “ครูกอล์ฟ” ที่ไม่สามารถออกบัตรข้าราชการใหม่ได้เพราะการแต่งกายขัดกับคำนำหน้านาม แม้จะบรรจุในตำแหน่งครูสอนภาษาต่างประเทศมาเป็นเวลากว่า 13 ปี ซึ่งการรณรงค์สำเร็จตามเป้าหมายมีผู้สนับสนุนจำนวน 6,787 คน และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีคำวินิจฉัยส่งตรงไปถึงสำนักนายกรัฐมนตรีตามรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ 72/2564 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2564 และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งเป็นกลไกการร้องเรียนใน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้ออกคำวินิจฉัย 05/2564 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ทั้งสองคณะได้ให้คำวินิจฉัยโดยสรุป

“บุคคลข้ามเพศที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดซึ่งเป็นข้าราชการ มีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพและต้องได้รับคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” 

เพศสภาพ
 นาดา ไชยจิตต์ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

นาดา ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ถือเป็นบทสรุปกว่าหนึ่งปีของการต่อสู้ของครูกอล์ฟ และคุณครูอีกท่านที่ประสบปัญหาเดียวกัน คือที่ผู้มีอำนาจในโรงเรียนบังคับให้แต่งตัวแบบเพศชาย เพื่อให้สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ในเครื่องแบบราชการ โดยความสำเร็จในการยกระดับความเสมอภาคทางเพศในครั้งนี้ไม่ได้มาโดยง่าย แต่เกิดจากการที่ประชาชนไม่ยอมแพ้และช่วยกันส่งเสียง ร่วมผลักดันให้เกิดความคืบหน้าที่ต้องการจะเปลี่ยนชีวิตของคนข้ามเพศทุกคนในประเทศ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวหมายความว่าจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2478 จะต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เพื่อรับรองสิทธิของข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของรัฐให้สามารถใช้สิทธิแต่งกายตามเพศสภาพได้  

“ขอมอบคำวินิจฉัยนี้เป็นรางวัลแก่ครูกอล์ฟ วันนี้ครูกอล์ฟได้รับใบประกอบวิชาชีพครูจากองค์กรวิชาชีพอย่าง คุรุสภา แล้ว ก้าวต่อไปคือการออกบัตรประจำตัวข้าราชการและเอกสารที่เกี่ยวข้องรวมถึงการสวมเครื่องแบบข้าราชการที่เคารพต่ออัตลักษณ์ทางเพศสภาพของเธอและบุคคลที่เป็นข้าราชการพลเรือนพนักงานราชการ เจ้าหน้าทีรัฐ ที่อยู่ในระบบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยต่อไป”

นาดา ไชยจิตต์ 

และเพื่อให้คำวินิจฉัยมีผลในทางปฏิบัติ นาดาได้เดินทางไปพบกับ สมหมาย เอี่ยมสะอาด ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานความร่วมมือ ซึ่งภายหลังได้รับการตอบรับที่ดี ด้วยความเข้าอกเข้าใจถึงความเดือดร้อนจากการที่ไม่มีกฎระเบียบแบบที่เป็นอยู่ และจะมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ภายใต้แนวคิด “แคมเปญนี้ไม่มีผู้แพ้ win together for gender equality” เพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรมทางเพศต่อบุคคลทุกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active