‘Youth Pride’ รับฟังเยาวชน เปิดพื้นที่ความเท่าเทียมทางเพศ

ต้อนรับ Pride Month ผลักดันเยาวชน LGBTIQN+ สู่แกนนำขับเคลื่อนสังคม เดินหน้าปรับโครงสร้างอำนาจ สร้างพื้นที่ปลอดภัย

วันนี้ (3 มิ.ย.66) ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ จัดงาน Youth Pride ไพรด์เยาวชน 2023 เปิดพื้นที่ให้เยาวชนผู้สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรม workshop “ร่วมสร้าง ร่วมส่งเสียง ร่วมลงมือทำ” แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำป้ายรณรงค์ กิจกรรมนี้มุ่งเน้นให้เยาวชน LGBTIQN+ เป็นศูนย์กลาง และเป็นแกนนำขับเคลื่อนงาน โดยเฉพาะประเด็นรณรงค์ที่เป็นความสนใจของเยาวชนในบริบทปัจจุบัน

สำหรับรูปแบบของการจัดงานไพรด์เยาวชนในครั้งนี้ จัดภายใต้ความร่วมมือของ Tomorrow’s Leader และบางกอกไพรด์ โดยกิจกรรมไพรด์เยาวชน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบางกอกไพรด์ 2023 เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และรณรงค์ประเด็นที่เยาวชนผู้มีความหลากหลายให้ความสำคัญ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และพันธมิตรของชุมชน LGBTIQN+ ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหนุนเสริมการทำงานผลักดันเชิงนโยบายที่ส่งเสริมความเสมอภาค และลดปัญหาการเลือกปฏิบัติ และตีตราเยาวชน LGBTIQN+ ให้เกิดขึ้น

ณชเล บุญญาภิสมภาร

ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้จัดและผู้ประสานงานกิจกรรมไพรด์เยาวชน 2023 บอกว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นปีที่ 2 ของงานไพรด์เยาวชน เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเยาวชนในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ และคิดว่าหากได้จัดกิจกรรมนี้ทุกปี พื้นที่สำหรับเยาวชนจะขยายใหญ่ขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นต้องทำต่อไปอีกเรื่อย ๆ

จากคำกล่าวที่ว่า “มันไม่มีอะไรที่เป็นของเยาวชน ถ้ามันไม่มีเสียงเยาวชนอยู่ในนั้น” ทำให้ ณชเล มองว่า หลายครั้งนโยบายที่ออกแบบเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเยาวชนนั้นถูกคิดโดยผู้ใหญ่ ทำให้บางครั้งเยาวชนไม่ได้ซื้อนโยบายเหล่านั้น เพราะว่าพวกเขาไม่ได้คิด ถ้าอยากให้เยาวชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของนโยบาย แล้วก็ปฏิบัติตามนโยบายหรือรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบก็ต้องดึงเยาวชนเข้ามาพูดแสดงความคิดเห็นด้วย และผู้ใหญ่ที่จะมาเป็นคนกำหนดนโยบายก็ต้องฟังเสียงเยาวชน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเรื่องนี้ในสังคมไทย เพราะว่าหลายครั้งในสังคมไทย คนที่เป็นพ่อแม่ คนที่เป็นครูบาจารย์ เขาจะมีเสียงดังมากกว่าเยาวชน มากกว่าเด็ก มากกว่าลูก มากกว่านักเรียน มันทำให้โครงอำนาจนี้เป็นโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อเยาวชนมีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่เขาจะพูดในสิ่งที่เขาคิด”

ณชเล บุญญาภิสมภาร

กิจกรรมไพรด์เยาวชน ยังเน้นย้ำให้ประชาชน และสังคมในภาคส่วนต่าง ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นเยาวชน ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงสิทธิการสมรสเท่าเทียม เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในทุกมิติ, การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ/เพศสภาพ, การเข้าถึงบริการสุขภาพของเยาวชนเพศหลากหลายและบริการสุขภาพจิต ไปจนถึงการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่เกิดขึ้นกับเยาวชน LGBTIQN+ ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา และในชุมชนของพวกเขา

สำหรับกิจกรรมเมื่อช่วงเช้า ได้ระดมความคิดเห็นจากเยาวชนผู้เข้าร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็นทางสังคมที่กระทบกับเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยการนำกระบวนการโดยแกนนำเยาวชนจากหลากหลายชุมชน เพื่อหาประเด็นทางสังคมในการสื่อสารสังคมที่จะนำมาสื่อสารในขบวนพาเหรดบางกอกไพรด์ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่ได้ร่วมออกแบบป้ายรณรงค์ที่เยาวชนผู้เข้าร่วมงานสามารถนำไปใช้ในการเดินขบวนพาเหรดบางกอกไพรด์ได้ โดยจะเน้นประเด็นหลัก 5 – 6 เรื่องที่สำคัญต่อเยาวชน  LGBTIQN+ เพื่อสื่อสารสาธารณะกับสังคมในวงกว้าง ทั้งประเด็น ครอบครัว การเลือกปฏิบัติ การถูกกลั่นแกล้ง ระบบเพศแบบ 2 เพศ กฎหมาย และนโยบายสำหรับเยาวชน LGBTIQNA+ และสุขภาพองค์รวม

“ปฏิทินสีรุ้ง” รับเดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active