ก้าวแรก Thailand Talks มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ ร่วมกับองค์กรภาคีสื่อฯ จัดพื้นที่ให้คนเห็นต่างพูดคุยกัน มีผู้เห็นต่าง ตอบรับลงทะเบียนมากกว่า 600 คน ผ่านระบบ ZOOM และพบกันตัวต่อตัว ที่ รร.ศิวาเทล กรุงเทพฯ หวังเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเห็นต่างออกจากโลกของตัวเอง ออกมารับฟังความเห็นต่าง
Thailand Talks ได้รับแรงบันดาลใจจากแพลตฟอร์ม My Country Talks ในยุโรป เมื่อมีแนวคิดที่จะนำแพลตฟอร์มนี้มาใช้ในประเทศไทย จึงเกิดคำถามตามมาว่า วัฒนธรรมแบบไทย ๆ จะสามารถพูดคุยกับคนเห็นต่างสุดขั้วได้แค่ไหน ?
เฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เล่าถึงการใช้แพลตฟอร์มนี้ในยุโรป มีหลายคู่ที่เคยเห็นต่างกันสุดขั้ว แต่หลังจากได้พูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันกลับกลายเป็นมิตรภาพ และความผูกพัน แม้ไทยจะมีบริบทแตกต่างจากยุโรป แต่เขามองว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นถึงความพยายาม และความกล้าหาญของ คนแปลกหน้า ที่ออกมารับฟังอีกฝ่ายที่เห็นต่างสุดขั้ว
พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย และผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talks ย้ำว่า หลักการสำคัญ คือ การให้คนเห็นต่างสุดขั้วมาพูดคุยกัน โดยไม่มีคนกลางมาช่วยคุย แต่เน้นให้คนเห็นต่างพูดคุยกันเอง ผ่านการคัดกรองจากอัลกอริทึมของระบบ My Country Talks โดยคัดกรองจากการตอบคำถาม 7 ข้อ คือ
- รัฐควรแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช่หรือไม่?
- ตำรวจ อัยการ ศาล เป็นอิสระและเที่ยงธรรม ใช่หรือไม่?
- ทหารควรมีบทบาททางการเมือง ใช่หรือไม่?
- คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคู่รักหญิง-ชาย ใช่หรือไม่?
- ศาสนายังจำเป็นกับโลกสมัยใหม่ ใช่หรือไม่?
- ทุกจังหวัดควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพื่อที่จะมีอำนาจจัดการตนเอง ใช่หรือไม่?
- เด็กควรมีสิทธิถกเถียงกับผู้ใหญ่ ใช่หรือไม่?
ก่อนการพูดคุย อิทธิณัฐ สีบุญเรือง วิทยากรกระบวนการ อธิบายหลักการ 10 ข้อ เพื่อสร้างสะพานการพูดคุยที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง โดยหยิบยกเอาหลักการวิพากษ์คนเห็นต่างจากงานวิจัย-วิชาปรัชญาในเยอรมนีที่ระบุว่า “การวิพากษ์สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การพูดคุยหักคอฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องเข้าไปอยู่ในใจ ไม่ใช่การใช้ความคิด โดยสนทนาที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนมุมมองของเรา ไม่ได้เปลี่ยนมุมมองของเขา…“
โดย 10 หลักการ ก่อนจะเริ่มต้นสนทนา ประกอบด้วย
- การใช้คำถามปลายเปิดให้ได้มากสุด
- การคุยกันต้องทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นและความขัดแย้งลดลง
- ทำความเข้าใจสิ่งที่คู่ของเราต้องการจะบอก
- โต้แย้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างละมุนละม่อมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คู่ของเราอาจจะยังไม่มีครบถ้วน
- ไม่หลุดไปจากประเด็นที่กำลังคุยกัน
- อย่าทำสอนคู่ของเราโดยไม่ให้พื้นที่เขาแลกเปลี่ยน
- ทำความเข้าใจเหตุผลของคู่ของเรา
- หาจุดที่เราและคู่ของเรายอมรับร่วมกันได้
- บอกเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญกับเรา
- การคุยกันทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อคู่ของเรา
สำหรับภาพรวมของการพูดคุย พบว่าทุกคู่ไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และบางคู่ที่เคยสนทนากันมาแล้ว มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันบน เวทีเสวนา “ชวนคุยประสบการณ์ในการคุยกับคนคิดต่าง” ซึ่งพวกเขา สะท้อนตรงว่า แม้จะเริ่มพูดคุยด้วยบทสนทนาเห็นต่าง และระหว่างทางจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่สุดท้ายแล้วบทสนทนาจะจบลงด้วยมิตรภาพ
โดยทางผู้จัด มูลนิธิฟรีดิช เนามัน ยังคงย้ำว่าทักษะของการถกเถียงจำเป็นต้องฝึกฝน จากนี้คาดหวังเห็นการให้คนเห็นต่างในสังคมไทยได้ออกมาเปิดใจ-พูดคุยกันได้อย่างเป็นปกติมากขึ้น และ Thailand Talks จะเกิดขึ้นในซีซัน 2 อย่างแน่นอน เพื่อสร้างสังคมแห่งการรับฟังคนเห็นต่างได้อย่างแท้จริง