คำต่อคำ คุณตีความ “กาลเทศะ” เป็นแบบไหน ?

“พรรณิการ์ – สามารถ” คู่โชว์ “ไทยแลนด์ ทอล์ค” ปี 2 ถกประเด็นเสรีภาพการแสดงออก เห็นต่างขอบเขตควรเป็นแบบไหน

วันที่ 24 ก.ย. 2565 งาน Thailand Talks 2022 ที่อาคารสยามสเคป กทม. งานที่จับคู่คนเห็นต่างให้มาพูดคุยกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมยอมรับความแตกต่างหลากหลาย พูดคุยได้ โดยไม่ขัดแย้ง ภายในงานยังมีแขกรับเชิญมาร่วมแลกเปลี่ยน และพูดคุยประเด็นทางสังคม อย่าง “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช จากคณะก้าวหน้า และ “จ็อบ” สามารถ เจนชัยจิตรวนิช จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เห็นต่างกันว่า เสรีภาพในการแสดงออก ควรมาพร้อมกาลเทศะ ใช่หรือไม่ ?

สามารถ : ผมตอบ “ใช่” เพราะ ผมเป็นคนยึดมั่นในแนวอนุรักษ์นิยม ประเทศไทยมีรากเหง้า มีวัฒนธรรม ถ้าบอกว่าวันนี้สามารถแสดงออกอะไรก็ได้ โดยไม่มีกาลเทศะ คิดว่าไม่ถูกต้อง ถ้าหากมีคนอยากจะแก้ผ้า ถอดเสื้อ ถอดกางเกงเพราะ อยากประท้วง และไปทำในสถานที่สำคัญ อย่าง รัฐสภา อันเป็นที่ทรงเกียรติ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการไม่คำนึงถึงเรื่อง กาลเทศะ

“รัฐธรรมนูญไทย กำหนดว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องไม่ละเมิดบุคคลอื่นด้วย ที่นี่คือประเทศไทยประเทศเรามีประวัติศาสตร์ เรามีวัฒนธรรม เรามีสถาบัน ควรรู้ว่าอะไรควร หรือไม่ควร และสถานที่นั้นต้องทำตัวอย่างไร…”

พรรณิการ์ : ดิฉันอยากชวนทุกคนพูดคุยเรื่องนี้ผ่าน “FEMEN” เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวรัสเซีย ที่ประท้วงด้วยการเปลือยหน้าอกประท้วง คำถาม คือ คนเหล่านี้คือคนบ้าที่ไม่รู้จักกาลเทศะหรือไม่ ? ซึ่งการประท้วงดังกล่าว เป็นไปเพื่อประท้วงรัฐบาลปูติน ที่ขึ้นชื่อเรื่องอำนาจนิยม เผด็จการ และมีความเป็นชายสูงมาก และใช้อำนาจกดขี่ 

“มันเป็นการแสดงออกเพื่อจะบอกว่า พวกฉัน คือ ผู้ที่ไม่ยอมรับในอำนาจของคุณ ซึ่งเขาก็ใช้ร่างกายของเขาเอง ถามว่าคนเหล่านี้ทำไปโดยไม่มีกาลเทศะหรือไม่ ?”

อีกหนึ่งเรื่อง ทุกท่านจำเรื่องสูท POEM ที่ดิฉันใส่ไปในการประชุมสภาฯ ครั้งแรกได้ไหม ใส่สูทขาว ไล่ดำ แต่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีกาลเทศะ ทำไมใส่ในการประชุมสภาฯ คำถาม คือ กาลเทศะของใคร ใครเป็นคนกำหนด การประพฤติที่ถูกเวลา ถูกสถานที่ ใครเป็นคนกำหนดเรื่องนี้

สามารถ : สังคมเป็นคนกำหนด วันหนึ่งประเทศไทย ในอีกร้อยปีข้างหน้า อาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ อาจจะสามารถแสดงออกในลักษณะนั้นได้ จะทำได้หรือไม่ สังคมจะบอกเอง ว่าสิ่งที่เราทำ ใช่หรือไม่ใช่ การเปลือยอกเดิน วันหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าสังคมยอมรับว่าสามารถทำได้

พรรณิการ์ : การบอกว่าสังคมเป็นคนกำหนด เป็นเหตุผลที่อ่อนแอ (พรรณิการ์ ใช้คำว่า Weak มาก) โดยยกตัวอย่างเช่น กฎ ระเบียบในโรงเรียน ใครเป็นคนกำหนดว่าอะไรถูกเวลา และสถานที่ “ครูเป็นคนกำหนด” ไม่ใช่นักเรียน แต่ถ้าเราพูดว่าสังคม ต้องเอาคนส่วนใหญ่ ทั้งที่นักเรียนมีจำนวนมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่คนกำหนดกฎ ระเบียบนั้น มันจึงไม่ใช่สังคม แต่เป็น ครู คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในโรงเรียน 

สามารถ : โรงเรียน นักเรียนมีมากที่สุด ก็จริง แต่ครูไม่ได้เป็นคนออกกฎ แต่เป็นสังคมภายนอกต่างหาก ที่เป็นผู้ออกกฎ กติการ่วมกัน อย่างเรื่อง ทรงผม โรงเรียนก็มีกฎของเขา บ้านมีกฎบ้าน เมืองมีกฎเมือง ถ้าจะอยู่โรงเรียนนี้ผมต้องสั้นนะ ถ้ารับไม่ได้ ต้องไปเรียนโรงเรียนอื่น เป็นกติกาที่ยังใช้ในโรงเรียน ถ้าวันหนึ่งที่เขารู้สึกว่ามันไม่เวิร์ค แล้วไม่มีคนไปเรียนเลย เพราะทุกคนอยากไว้ผมยาว กฎนั้นมันก็จะถูกเปลี่ยนไปเองตามสถาพ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้มีอำนาจเลย มันเป็นเรื่องกติกาที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งเรื่องในอดีต อาจจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบันแล้ว

พรรณิการ์ : ดิฉันไม่ได้บอกว่าสามารถแสดงออกได้ แบบไม่มีขอบเขต แน่นอน การแสดงออก ต้องมีขอบเขต ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ต้องไม่ถูกกำหนดโดยกาลเทศะ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ถูกกำหนดโดยกาลเทศะ คุณจะไม่มีวันขัดขืนต่อผู้มีอำนาจได้ เพราะ คุณไม่ได้ประท้วงคนที่ต่ำกว่าคุณ แต่คุณประท้วงคนที่สูงกว่าคุณ ถ้าคุณต้องอยู่ภายใต้อำนาจของเขา คุณจะไม่มีวันประท้วงได้ ถ้าคุณปล่อยให้กาลเทศะ ครอบงำการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพ คุณ คือ ผู้ที่ฝักใฝ่เผด็จการ และเรื่องกฎหมาย ต้องตั้งคำถามด้วยว่ากฎนั้นเป็นธรรมหรือไม่

สามารถ : กฎหมาย เป็นกติกาที่ทำให้คนอยู่ร่วมกัน อย่างเรื่องการประท้วงด้วยการแก้ผ้ามีกฎหมายกำหนด เรื่องการกระทำอนาจาร เราจะแสดงออก หรือเรียกร้องสิทธิอะไรก็ตาม ต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่น เลยมีคำว่ากาลเทศะเกิดขึ้น สังคมจะมีคนที่ไม่ชอบ ในสิ่งที่คนอื่นกระทำอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโป๊ เปลือย ก็ถือว่าเป็นการกระทำอนาจาร ถ้าเราไม่ใช้กติกา จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ถ้ายังยืนยันว่าตัวเองเรียกร้องสิทธิ มองว่าถูกกดขี่แล้วสามารถทำแบบนี้ได้ โดยที่ไม่สนใจสังคมโดยรวม ก็จะเกิดปัญหา

พรรณิการ์ : ความชอบ และจริต กับสิทธิ เสรีภาพ เหมือนกันหรือไม่ ? ความชอบ หรือไม่ชอบอะไร เป็นเรื่องของตัวเราเอง เช่น ฉันไม่ชอบโอเลี้ยงเลย อย่ามากินโอเลี้ยงนะ มันกระทบสิทธิของฉัน แบบนี้มันใช่หรอ ? ตั้งสติค่ะ เราจะไปบังคับให้คนคิดเหมือนกับเราไม่ได้ แบบนั้นเรียกว่า “ละเมิดสิทธิเสรีภาพ”

และการที่บอกว่า กฎในโรงเรียน ครูไม่ได้กำหนด สังคมเป็นคนกำหนด นั้นไม่จริง เรื่องหนึ่งที่ WTF มาก คือ เรื่อง ทรงผมนักเรียน เป็นเรื่องสูงสุดของอำนาจนิยมไทย เราเพิ่งรู้ว่า ไม่มีกฎของกระทรวงศึกษาธิการฉบับใด เขียนไว้เลยว่าให้เด็กนักเรียนหญิงตัดผมสั้นติ่งหู และผู้ชายตัดผมเกรียน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ครูใช้อำนาจในการสถาปนาขึ้นมาเอง ว่าอะไร คือ กาลเทศะ หรือ ควร ไม่ควรในโรงเรียน

สามารถ : การอ้างเสรีภาพ ที่ไม่กระทบคนอื่น แล้วยกตัวอย่างว่า ถ้าฉันจะแก้ผ้า เธอก็อย่ามาดู ให้ปิดตาไว้ มันร่างกายของฉัน ถ้าเป็นแบบนั้น อีกฝ่ายก็สามารถพูดได้ว่า นี่ก็ตาฉัน ถ้าปิดตาแล้วมันเดินไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น จะนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงเกิดกฎหมายขึ้นมา และถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรมก็ต้องไปแก้ไข แต่ต้องเป็นเรื่องที่สังคมตกผลึกร่วมกันว่ามันจะเป็นแบบไหน

พรรณิการ์ : ข้อเท็จจริง คือ กฎหมายไทยมีกำหนดเรื่องอนาจาร และก่อความเดือดร้อนรำคาญจริง แต่เมื่อเกิดการประท้วงในประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประท้วงยอมถูกลงโทษตามกฎหมาย เพื่อให้ได้แสดงออกในสิ่งที่ต้องการเรากำลังพูดกันบนคนละฐานคิด เพราะ เรามองว่ากฎหมายมี และศักดิ์สิทธิ์ แต่เรายอมรับในผลของความผิดนั้นเพราะมันคือราคาที่เราต้องจ่าย สำหรับการประท้วง แต่เราเชื่อมั่นว่านี่คือสิทธิ เสรีภาพของเราในการประท้วง หรือที่เรียกว่าอารยะขัดขืน

สามารถ : ผมยกตัวอย่างว่าในสมัยโบราณ เห็นแล้วว่าเราเคยแก้ผ้าเดิน ก็ไม่เกิดปัญหา แต่เมื่อผ่านมาคนมองว่าไม่เหมาะสมแล้ว เมื่อเกิดเป็นกติกา เราก็ต้องยอมรับ เริ่มจากคำว่ากาลเทศะ การแสดงออกผมเห็นด้วยว่าทำได้ แต่เราต้องเคารพสิทธิผู้อื่น จะทำอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องการฟัง แต่มันคือการมองด้วย สาระสำคัญที่สุด คือ วันหนึ่งถ้าเกิดการตกผลึกร่วมกัน ถ้าเรามองที่ปัญหาของเขาเป็นหลัก ทุกคนมีปัญหา ทุกความมีความขัดแย้งทั้งหมดอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะขจัดปัญหานั้นอย่างไร เอาแต่สิทธิตัวเองไม่ได้ ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย และที่สำคัญ คือ หน้าที่ต้องตามมา

เมื่อถามว่า “ทักษะ” ใดที่ทั้งคู่ใช้มากที่สุด สำหรับการพูดคุยกัน ในเรื่องที่เห็นต่างกันครั้งนี้ พรรณิการ์ กล่าวว่า การพยายามทำความเข้าใจ ว่าทำไมอีกฝ่ายจึงคิดแบบนี้ ? เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่หงุดหงิดกับเรื่องที่ไม่ตรงกับที่เราคิด เราต้องพยายามเข้าใจว่าเขาผ่านอะไรมา มีประสบการณ์แบบใด เรียนที่ไหน อะไรที่ส่งผลให้เขามีความคิดแบบนี้ อย่างน้อยจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น

ในขณะที่ สามารถ มองว่าสิ่งที่ใช้มากที่สุด คือ การรับฟัง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วย แต่ฟังว่ามีหลายเรื่องที่ตรงกันการรับฟัง จะทำให้เราคุยกับคนเห็นต่างได้ ไม่ได้ตั้งใจมาพูดอย่างเดียว และไม่อยากเปลี่ยนความคิดใคร ผมว่าการถกเถียงกันด้วยเหตุผล และมีการรับฟัง เป็นสิ่งที่ดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active