ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ไร้ข้อสรุปนิยาม “ผู้เสียหาย” กมธ.เห็นแย้ง ส่อลงมติ “อายุความ”

พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ครั้งที่ 5-7  เพิ่มฐานความผิดครอบคลุมการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ เสนอให้อัยการ-ฝ่ายปกครองร่วมสอบคดีด้วย กมธ.เห็นแย้งควรมีอายุความหรือไม่ ขณะที่ยังไร้ข้อสรุปนิยาม “ผู้เสียหาย” ครอบคลุมคู่รักเพศเดียวกัน

เมื่อวันที่ 25-27 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ได้จัดการประชุมครั้งที่ 5-7 เพื่อเร่งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของรัฐบาล ในรายมาตราให้แล้วเสร็จ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดสมัยประชุม ในวันที่ 3 พ.ย.นี้

โดยความคืบหน้าของการประชุมที่ผ่านมานั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็น ทั้ง ผู้แทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ผู้แทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ผู้แทนผู้พิพากษาสำนักประธานศาลฎีกา และผู้แทนอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญคนใหม่ คือ กฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมในทุกมิติ

นิยาม “ผู้เสียหาย” ยังไม่ครอบคลุมเพศเดียวกัน

สาระสำคัญของการพิจารณาในครั้งนี้ ได้แก่เรื่องนิยามคำศัพท์ภายในร่างกฎหมาย ในส่วนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้คือคำว่า “ผู้เสียหาย” ที่ต้องการให้หมายรวมถึง “คู่ชีวิต” เพื่อให้ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกันสามารถดำเนินคดีแทนได้ ไม่จำกัดเฉพาะสามี ภรรยาเท่านั้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ได้ถูกยกไว้เพื่อรอการพิจารณาต่อในสัปดาห์หน้า

ในส่วนของ นิยามการกระทำความผิด โดยยึดตามข้อบทของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) ได้มีการปรับแก้ในมาตรา 5(4) โดยเพิ่มคำว่า “เหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด” เพื่อให้ครอบคลุมทุกการกระทำอันมีพื้นฐานมาจากการเลือกปฏิบัติ แทนคำว่า “การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม” นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีความเห็นให้ถือว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นความผิดอาญา แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของรัฐบาลไม่มีการระบุฐานความผิดนี้ จึงต้องมีการหารือถึงขอบเขตความหมายของการกระทำความผิดฐานนี้ในมาตราที่มีบทกำหนดโทษต่อไป

เห็นแย้ง “อายุความ” ญาติผู้เสียหายยืนยันไม่ควรกำหนดเวลา

“อายุความ” ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ ในที่ประชุมมีการพิจารณาว่าให้ความผิดตามกฎหมายนี้ “ไม่มีอายุความ” หมายถึงเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดผู้เสียหายยังมีสิทธิดำเนินคดีได้ แต่ก็ยังมีความเห็นแย้งจากกรรมาธิการบางส่วนว่า ปัจจุบันฐานกระทำความผิดในคดีอาญาทุกฐานความผิดมีอายุความ ฐานความผิดตามกฎหมายนี้ จึงควรกำหนดอายุความด้วย ซึ่งในที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้มีตัวแทนญาติของผู้เสียหายจากการกระทำให้บุคคลสูญหาย ยืนยันว่า ให้ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายไม่มีอายุความ จึงมีแนวโน้มว่าจะต้องมีการลงมติในประเด็นดังกล่าวต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในกรณีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายที่ประชุมเห็นตรงกันว่าอาจให้เริ่มนับอายุความภายหลังพบหรือทราบชะตากรรมของผู้เสียหายแล้ว ไม่ใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่สูญหายนั่นเอง

สำหรับประเด็นเรื่องอายุความนั้น หากพิจารณาจากกฎหมายของแต่ละประเทศจะเห็นได้ว่ามีทั้งกำหนดอายุความ และไม่กำหนดอายุความ ซึ่งตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) ไม่ได้กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ว่าควรเป็นเช่นไร เพียงแต่ควรเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ไม่น้อยจนเกินไป และไม่ส่งผลต่อกระบวนการค้นหาความจริง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ 20 – 30 ปีเป็นต้น

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ

ในขณะที่ รังสิมันต์ โรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วการกำหนดอายุความนั้นมีขึ้นด้วยเหตุผลด้านการบริหารงานยุติธรรมของภาครัฐเป็นหลัก และความผิดตามกฎหมายนี้ เป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลายครั้งต้องสงสัยว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล การจะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาดำเนินคดีนั้นบางครั้งอาจต้องรอระยะเวลายาวนานกว่าที่บุคคลเหล่านั้นจะหมดอำนาจลง จนอาจทำให้หมดอายุความไปก่อนได้ การที่กำหนดให้ไม่มีอายุความนั้นจะทำให้ครอบครัวของผู้ถูกกระทำยังมีความหวังที่จะทวงคืนความยุติธรรมได้เสมอในอนาคตข้างหน้าหากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่หรือสถานการณ์เอื้ออำนวย ในขณะที่ผู้กระทำผิดก็ไม่อาจอาศัยช่องทางว่าจะปกปิดความจริงจนพ้นกำหนดอายุความแล้วลอยนวลไปได้ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังมีความเห็นต่างกันมากในหมู่กรรมาธิการ จึงต้องเป็นที่ถกเถียงและหาทางออกกันต่อไป

อำนาจสอบสวน เสนอเพิ่มอัยการ-ปกครอง ตำรวจค้าน

ประเด็นสุดท้ายคือ “อำนาจในการสอบสวน” ร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลนั้นระบุให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการสอบสวน ตรวจสอบ และควบคุมการสอบสวน เว้นแต่คดีที่เจ้าหน้าที่ DSI ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เสนอให้มีการแก้ไข โดยเสนอว่า ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจสอบสวนคดีด้วย เนื่องจากกังวลเรื่องการตรวจสอบและคานอำนาจจากพนักงานสอบสวนอื่น

เมื่อมีการเสนอให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนด้วยนั้น แม้ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดจะยืนยันว่า อัยการมีความพร้อมในการสอบสวนคดีตาม พ.ร.บ.นี้ ก็ตาม แต่กรรมาธิการบางส่วนก็ยังคงมีความเห็นว่า อำนาจในการสอบสวนควรเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น เป็นผลให้อาจต้องมีการลงมติในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนด้วย

สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้จะประชุมกันอีกครั้ง ในวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ โดยหวังเร่งให้เสร็จทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นวาระที่ต้องจับตามองว่าการลงมติจะออกมาเป็นอย่างไร และจะสามารถได้มาซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนทุกกลุ่ม หรือเป็นเพียงกฎหมายที่ออกมาดับกระแสการเรียกร้องของสังคมเท่านั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้