สภาฯ ไฟเขียว ‘ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์’ เดินหน้าคุ้มครองสิทธิ-เสมอภาค

ยกระดับศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศทุกมิติ พร้อมเปิดทางเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม เปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส

วันนี้ ( 28 ก.พ.67 ) สภาผู้แทนราษฎร มีวาระสำคัญเร่งด่วน ในการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์รวม 5 ฉบับประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล , ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดย สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดย พรรคก้าวไกล และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย พรรคเพื่อไทย 

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายฉบับรัฐบาล ว่า เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิเสมอภาคอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างสงบสุข โดยจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริมความเสมอภาคแก่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ตัวแทนผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ชี้แจงว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายเหล่านี้ว่า เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ที่ประเทศไทย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ตั้งถิ่นฐานกระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งพื้นที่สูง เกาะแก่งตามชายฝั่ง อาศัยในป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นราบกลมกลืนกับคนไทยปกติ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ได้รับรองให้บุคคลเสมอกันตามกฎหมาย และประเทศไทยยังลงนามสัญญา และอนุสัญญากับต่างชาติ รวมถึงพันธะสัญญาระหว่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีการเลือกปฏิบัติจากรัฐ และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะบุคคล สิทธิอาศัยในที่ดินที่ทับซ้อนพื้นที่อนุรักษ์ทางราชการ ขาดการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อวีถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครอง

สุริยันต์ ทองหนูเอียด

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์  พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอกฎหมายฉบับพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือของชุมชน และรัฐ ในการคุ้มครองชุมชนและนำไปสู่การแก้ปัญหาการละเมิดกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นในการบริหารจัดการ และพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งสังคมโลกกำลังให้ความสำคัญในการคุ้มครองให้ทุกคนมีวิถีชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนโยบายในสมัยใหม่ ไปกระทบต่อวัฒนธรรม และจารีตท้องถิ่น 

ขณะที่ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอกฎหมายฉบับพรรคเพื่อไทย สวมชุดชาติพันธุ์ลาหู่ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมาย ว่า แม้ที่ผ่านมารัฐจะมีมาตรการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังขาดกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการอันเหมาะสมในการปฏิบัติ ทำให้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ทับซ้อนพื้นที่ราชการที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ตลอดจนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่กระทบต่อวิถีชีวิต จึงควรมีกฎหมายส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมภูมิปัญญา ภาษา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และสังคมทุกระดับ

“พรรคเพื่อไทยขอเสนอกฎหมายนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทุกชาติพันธุ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ  มีกลไกสำคัญในการตั้งกรรมาการคุ้มครองวิถีชิวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่หากพิสูจน์ว่าชาติพันธุ์อยู่มาก่อนกฎหมายนโยบายที่มาทับและส่งผลกระทบ ให้ถือว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ มีสิทธิการดำรงวิถีชีวิต“

ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิการอภิปราย เห็นว่า มี 4 เสาเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตชนเผ่า และชาติพันธุ์ ได้แก่ การให้สิทธิที่ทำกิน การคุ้มครองส่งเสริมวัฒนธรรม การให้สิทธิเด็กรหัสจี และการให้สัญชาติ เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ แต่ในสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยนั้น กลับพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีที่ทำกินของตนเอง วัฒนธรรมสูญหายโดยเฉพาะภาษาสื่อสาร เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการบริการจากรัฐ และถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้, ป่าสงวน, อุทยานฯ, งบประมาณต่อผู้ไร้สัญชาติไม่เพียงพอ, และการบริหรงานของภาครัฐ ที่ยังเข้าใจผิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้นจึงขอให้สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายเหล่านี้

 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

“เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแนวโน้มของโลกพิสูจน์แล้วว่า กลุ่มชาติพันธุ์ มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ป่า และเปลี่ยนวิธีคิด ไม่แยกคนออกจากป่า และให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วม ลดการตัดไม้ทำลายป่าและเศรษฐกิจชาติพันธ์ กำลังป็นที่ส่งเสริมทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนปัญหา ให้กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ“ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 

เช่นเดียวกับการอภิปรายของ สส.คนอื่น ๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยต่างสนับสนุนหลักการในร่างกฎหมายชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับสวัสดิการ รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับมากขึ้นเท่าเทียมกับคนทั่วไปในเมือง โดยเฉพาะด้านสาธารณะสุข การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมถึงยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการส่งเสริมทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่แต่ละกลุ่มจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เช่น การนับวันปีใหม่ ที่ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม สร้างรายได้ให้กับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้ 

นอกจากนี้ ก็มี สส.บางส่วนที่อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ แต่ขอให้ระมัดระวังการจัดตั้งสภาชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะอาจนำไปสู่การแตกแยกได้ ดังนั้นก็จะต้องคำนึงถึงมิติด้านความมั่นคงด้วย ซึ่งประเด็นนี้ก็มี สส.อีกจำนวนหนึ่ง ที่เห็นต่าง และมองว่า ควรให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ

โดย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีสมาชิกหรือตัวแทนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและให้มีการเสนอแนะสะท้อนปัญหาและความต้องการต่อหน่วยงานของรัฐและสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตและคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติ เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมแยกการลงมติรายฉบับ แทนการลงมติในคราวเดียวทั้งหมด แต่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งหากไม่เห็นด้วยในประเด็นใด ก็ขอให้ไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 254 ต่อ 156 เสียง ให้ลงมติแยกรายฉบับ

โดยที่ประชุม มีมติเอกฉันท์ 414 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์วาระแรก ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 

มีมติเสียงข้างมากรับหลักการร่างกฎหมายฯ ที่คณะ ศักดา แสนมี่ เป็นผู้เสนอ ด้วยมติ 386 ต่อ 25 เสียง 

รับหลักการร่างกฎหมายฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชน คณะของ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ด้วยมติ 385 ต่อ 25 เสียง 

รับหลักการร่างกฎหมายฯ ที่พรรรคเพื่อไทยเสนอ ด้วยมติ 412 เสียง 

และมีมติรับหลักการร่างกฎหมายฯ ที่ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล ด้วยมติ 389 ต่อ 25 เสียง 

พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 42 คน เพื่อปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการฯ โดยใช้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นร่างกฎหมายหลักในการพิจารณา ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ทั้ง 5 ฉบับ มีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด เนื้อหา และกลไก โดยร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เน้นเรื่องกลไก โครงสร้าง กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาชนเผ่าฯ ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ องค์กรต่าง ๆ จัดทำรายงานข้อเสนอที่เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนอีก 4 ฉบับ เน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ยึดหลักการสำคัญในทิศทางเดียวกัน 3 ประการ

  1. หลักการ “คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม” มุ่งให้ความคุ้มครอง กลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตน โดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติจากความไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ

  2. หลักการ “ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์” โดยปรับกระบวนทัศน์ในการมองกลุ่มชาติพันธุ์จากเดิมที่พิจารณากลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะผู้ด้อยโอกาส มาเป็นการมองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยทัศนะที่มองเห็นและเข้าใจถึงศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และปรับแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทาง “เสริมศักยภาพ” ให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วม ในการวางแผน และกำหนดแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

  3. หลักการ “สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากอคติทางวัฒนธรรมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, รัฐมนตรีว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ 

รวมถึงการประกาศกำหนดกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ พร้อมกำหนดให้มีสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยที่มาจากสมาชิกผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มละไม่เกิน 5 คน มีการเลือกประธาน และรองประธานสมัชชา และเลขานุการสมัชชา โดยจัดให้มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กับสังคม เสนอแนะโยบายและมาตรการในการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการฯ

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญ เพื่อประกอบการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมายในการรับรองสถานะบุคคล หรือในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนดเพื่อการอนุรักษ์ หรือใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการอื่นของรัฐที่กระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active