สภาฯ ถอน ร่าง พ.ร.บ. สภานักศึกษาฯ หลังมีเสียงคัดค้าน

ภาคประชาชน ขอถอนร่าง พ.ร.บ.สภานักศึกษา หลังมีเสียงค้านจาก องค์กรนิสิตนักศึกษารวม 21 สถาบัน กังวลรัฐแทรกแซง เพื่อไทยขอกลับไปฟังความคิดเห็นเพิ่ม ป้องกันสร้างความเหลื่อมล้ำ กระทบสิทธิ เสรีภาพ

วันนี้ (30 สิงหาคม 2566) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถอนร่าง พ.ร.บ.สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….  ทั้ง ฉบับภาคประชาชน และฉบับของพรรคเพื่อไทย ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 61 โดยระบุว่าจะนำไปหารือและพัฒนาให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ หลังจากที่มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนและองค์กรนิสิตนักศึกษารวม 21 สถาบัน ที่กังวลว่า พ.ร.บ. นี้จะเอื้อให้เกิดการแทรกแซงอำนาจองค์กรนักศึกษาโดยภาครัฐ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอที่ประชุมนำระเบียบวาระที่ 7 เรื่องอื่น ๆ เข้าปรึกษาหารือกับทางที่ประชุม ซึ่งเป็นวาระการขอถอนร่าง พ.ร.บ. สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาฯ ฉบับที่เสนอโดย รุจิภา ภีระ และประชาชนอีกร่วมหมื่นคน ซึ่งขณะนี้ ผู้เสนอ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้ขอถอนตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 61 ทางประธานรัฐสภาชี้แจงว่า หากที่ประชุมไม่มีความเห็นแย้งเป็นอื่นจะถือว่าที่ประชุมได้อนุญาตถอนออกจากวาระการประชุม ซึ่งผลปรากฎว่าไม่มีผู้ใดเห็นแย้งต่อการถอดถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว


ขณะที่ เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขึ้นชี้แจงเหตุผลในการถอน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวต่อที่ประชุมว่า อาจมีข้อกฎหมายบางประการที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน ตลอดจนต้องการรับฟังเสียงเพิ่มเติมจากพี่น้องนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศกว่า 150 สถาบัน ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฎ และภาคเอกชน เพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายนี้สร้างความเหลื่อมล้ำ และเป็นผลเสียต่อสิทธิ เสรีภาพของนิสิต นักศึกษา จึงต้องการขอถอนร่างกฎหมายนี้ไปก่อน โดยจะนำประเด็นไปปรึกษาหารือ และพัฒนาต่อไปอีกระยะหนึ่ง


ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายตัวแทนจากองค์กรนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศร่วม 32 องค์กรจาก 21 สถาบัน เข้ายื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ. สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยระบุข้อกังวล 3 ประการด้วยกันคือ


1. ร่าง พ.ร.บ. ไม่ได้มีการผ่านความเห็น และไม่ได้เป็นความต้องการของตัวแทนนิสิตนักศึกษา

2. เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. เปิดช่องทางให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของนิสิตนักศึกษา

3. ร่าง พ.ร.บ. จะนำมาซึ่งการรวมศูนย์การบริหารงานขององค์กรนิสิต นักศึกษา ซึ่งทำให้องค์กรนิสิต นักศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยจะขาดอิสระในการจัดการตนเอง

คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพนักศึกษาสามารถทำได้หลายวิธีโดยไม่จำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ. สภาผู้แทนนี้ขึ้น เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มี พ.ร.บ. ประจำมหาวิทยาลัยที่เอื้อให้สิทธิและเสรีภาพในองค์กรอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ตนต้องการให้รัฐสภาเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ตลอดจนเปิดพื้นที่ในการเรียกร้องทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยจะเป็นการส่งเสริมหลักการเสรีประชาธิปไตยได้มากกว่าและเป็นรูปธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active