ลุ้น #สมรสเท่าเทียม เข้าสภาฯ วาระสอง 27 มี.ค.นี้

ภาคปชช.จัดเวทีฟังเสียง สว.ก่อนหมดวาระ ชี้ หมวดบุพการี ต้องเร่งสื่อสารข้อมูลวิชาการ เชื่อจะสามารถใช้กม.ฉบับนี้เป็นแม่แบบ ​ เปลี่ยนทัศนคติของสังคมครั้งสำคัญ ก่อนจะขยายไปยังกม.อื่น ๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม

วานนี้ (18 มี.ค.67) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก, เยาวชน, สตรี, ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับคณะผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน และศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเวทีเสวนา “หลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว” เกี่ยวกับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การเรียก “บุพการี” และ เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันทางการแพทย์เพื่อการมีบุตร ตามที่ กมธ.ภาคประชาชน ได้เสนอให้มีแก้ไข

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ตนเองค่อนข้างลุ้น เนื่องจาก สว.ในสมัยนี้กำลังจะหมดวาระในเดือน พ.ค.67 ดังนั้นเพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ต้องล่าช้าออกไป จึงอยากให้ในชั้น สส. ซึ่งมติ กมธ.วิสามัญ มีมติรับรองร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วนั้น ถูกบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร ผ่านวาระสอง และสาม เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 เม.ย.67

“แม้จะหมดวาระแล้ว แต่ สว.ชุดนี้จะยังไม่ไปไหน เรายังดูแลต่อจนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่มา เมื่อเปิดประชุมสมัยที่ 3 เดือน ก.ค. เราก็น่าจะยังอยู่ ทันโหวตรับร่างหลักการในวาระแรก แต่สำคัญคือเราแก้มากหรือแก้น้อย หากแก้มากก็อาจจะไม่ทัน สว. ในชุดนี้ และต้องรอ สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาซึ่งก็ต้องไปลุ้นว่าจะมีท่าทีต่อกฎหมายนี้อย่างไร”

วัลลภ ตังคณานุรักษ์
อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างฯ สมรสเท่าเทียม

อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างฯ สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ขณะนี้ สมรสเท่าเทียมอยู่ในขั้นตอนการบรรจุเข้าสู่วาระสอง และสาม ซึ่งคาดว่าน่าจะบรรจุในวันที่ 27 มี.ค.67 เพื่อให้ทันสู่ขั้นตอนของวุฒิสภา และผ่านโดยไม่มีข้อโต้แย้งเนื่องจากในการประชุมใน กมธ.วิสามัญ สัดส่วนของภาคประชาชน และพรรคการเมือง ค่อนข้างมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจมีในรายมาตราที่ภาคประชาชนอาจจะสงวน เช่น เรื่องบุพการี ซึ่งน่าจะโหวตกันในรายมาตราวันที่ 27 มี.ค.นี้

ขณะที่ในชั้น กมธ.วิสามัญ แม้จะใช้ฉบับของ ครม.จะเป็นหลัก แต่ก็ได้เปลี่ยนแปลงสาระที่สำคัญมากบางส่วนตามความเห็นของภาคประชาชน และบริบทสากล เช่น การกำหนดอายุการจดทะเบียนสมรสที่ 18 ปีบริบูรณ์  โดยเชื่อว่าสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบริบทของกฎหมายฉบับนี้ คือ จะสามารถโอบอุ้มสังคมโดยใช้กฎหมายเป็นแม่แบบ ซึ่งจะเปลี่ยนทัศนคติของสังคมของประเทศไทยครั้งสำคัญ ก่อนจะไปยังกฎหมายอื่น ๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม

“ถึงวันนี้ผมเชื่อว่าการทำหน้าที่ในส่วนของ สส.และภาคประชาชน เราทำเต็มที่แล้วในการออกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ มีเสียง ได้รับความคุ้มครอง หลังจากนี้คงต้องฝากในชั้นของ สว. ให้ช่วยรับเข้าไปและทำให้สำเร็จในสมัยของท่าน เพื่อให้เราได้จดทะเบียนสมรสกันภายในสิ้นปีนี้”

อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์
อนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำ กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา

อนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำ กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า การขับเคลื่อนสมรสเท่าเทียมในปัจจุบันถือว่าเข้าสู่ระดับกลาง ผ่านการต่อสู้ที่น่าเหนื่อยหน่ายของภาคประชาชน และกำลังเข้าสู่ชั้นนิติบัญญัติ แต่อยากจะให้สังคมยกระดับคำถามที่สูงขึ้น เพราะเส้นทางที่ยากที่สุดอาจจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายฉบับนี้อาจกำลังสร้างคำถามให้คนอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องขยายความสำคัญ หัวใจของกฎหมายฉบับนี้ให้ชั้นนิติบัญญัติ และสังคม เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ตระหนักรู้ พร้อมเตรียมการที่จะโอบรับกับสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทย เช่น ต่อไปจะมีครอบครัวเพศเดียวกัน มีสิทธิในครอบครัว สิทธิในมรดก สิทธิในตัวของเด็ก ฯลฯ ที่สังคมจะต้องรับรู้และรับทราบ

อนุพร ยังย้ำว่า ข้อมูลการศึกษา งานวิจัย รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์ ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ต้องถูกนำมาเปิดเผยให้มากขึ้น เพื่อสื่อสารสู่สังคมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ที่สำคัญคือต้องไม่มองว่าคนรุ่นเก่าเป็นคนยึดติด หรือไม่พร้อมปรับเปลี่ยนตามกระแสสังคม

“ผมเชื่อว่าในชั้นของวุฒิสภา เราเปิดกว้างมากโดยเฉพาะท่านที่อาวุโส เวลานี้เขากำลังฟังข้อมูลจากพวกเรา ถ้าเราไปดักข้อกังวลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และตอบข้อกังวลที่อาจจะถาโถมเข้ามา ยิ่งสังคมรับรู้มากขึ้นเท่าไหร่ นั่นคือความแข็งแกร่งที่จะเป็นเหตุ และผลในอนาคต บนพื้นฐานหลักนิติธรรมที่ให้การรับรอง”

อนุพร อรุณรัตน์

จิตแพทย์เด็ก วอน อย่าด้อยค่าครอบครัวเพศหลากหลาย เร่งคลอด กม.ลดอคติ ตีตรา

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยการสำรวจของสมาคมจิตแพทย์เด็ก ในสหรัฐอเมริกา ของกลุ่มครอบครัวที่เป็นหญิงรักหญิง พบว่า เมื่อเทียบกันครอบครัวที่เป็นชายหญิง ดัชนีความสุขไม่แตกต่างกัน และไม่มีจำนวนการเพิ่มขึ้นของเด็กที่เป็น LGBTQIAN+ อย่างที่หลายฝ่ายกังวล อย่างไรก็ตามมีหลักฐานที่ชี้ได้ว่า เด็กเหล่านี้เผชิญกับการถูกกลั่นแกล้ง แต่ทางออกไม่ใช่การไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพราะกังวลว่าจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น แต่เป็นการสนับสนุนสภาพแวดล้อม มีกฎหมายรับรองสิทธิความเป็นมนุษย์ว่าตัวเองไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป

ส่วนการศึกษาในประเทศไทย จากการทำงานของ ผศ.พญ.จิราภรณ์ พบว่า เด็กที่อยู่กับครอบครัวของพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากพ่อแม่ที่เป็นชายหญิงเช่นเดียวกัน และพบว่าการเปิดใจเคารพความแตกต่างหลากหลาย จะช่วยทำให้ครอบครัวเหล่านี้สามารถก้าวข้ามความยากลำบาก เผชิญความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างแสดงชัดเจนว่าการที่มีพ่อแม่มีความหลากหลายทางเพศ เด็กที่เกิดมาสามารถที่จะมีพัฒนาการต่าง ๆ เป็นปกติ ไม่แตกต่างจากพ่อแม่ทั่วไป ที่สำคัญเด็กที่เติบโตไปอย่างมีความสุข จะช่วยสร้างให้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดีกับตัวเอง คนอื่น และสังคมต่อไปในอนาคต

“คำว่าครอบครัวจริง ๆ หมายถึงใครแม้สักคนเดียวที่ตั้งใจจะเลี้ยงเด็กอย่างมีความสุข  คนๆ นั้นถือว่าเป็นครอบครัวของเด็ก ในขณะเดียวกันการที่เรามีกฎหมายที่ทำให้พ่อแม่มีความเข้าใจ ยอมรับว่าความแตกต่างหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ถือเป็นการขยับและการขับเคลื่อนที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้คนเหล่านี้ มีหลักยึด มีหลังพิง มีสิ่งที่ทำให้เขารู้ว่าเส้นทางที่เขาจะต้องเดินต่อไปเป็นเส้นทางที่ไปได้  เป็นเส้นทางที่มีแสงสว่างข้างหน้า ไม่ใช่เส้นทางแห่งความมืดมน”

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
นาดา ไชยจิตต์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ขณะที่ นาดา ไชยจิตต์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้สรุปถึงสาระสำคัญต่อหลักนิติธรรม ในการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว ว่า หลักนิติธรรมหมายถึงการปกครองภายใต้กฎหมาย รวมถึงทุกคน ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนที่รับผิดชอบต่อกฎหมายที่มีอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญที่สุดกฎหมายนั้นต้องยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามวัดความยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร เราพูดถึงการที่คนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายอย่างไร ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับเรื่องของการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ดังนั้นการมีหลักนิติธรรม คือการต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่

ฉะนั้นเมื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมจึงต้องเป็นหลักที่เคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย ซึ่งตามหลักการกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ได้มีการตีความไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า สิทธิในเรื่องของเพศวิถี การแสดงออกทางอัตลักษณ์ เพศสภาพ คุณลักษณะทางเพศ หรือเพศสรีระของตัวเอง ถูกรับรองไว้ในมาตรฐานกลไกสิทธิมนุษยชนแล้ว ฉะนั้นสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องของเพศวิถี แต่คือเรื่องของสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในวิถีทางเพศของตัวเอง ในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

สมรสเท่าเทียม จึงรวมถึงคนที่มีอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างอื่น ๆ คนที่นิยามตัวเองว่าไม่ได้อยู่ในเพศขนบแบบเดิมจะได้รับการคุ้มครองหลักนิติธรรมอย่างไร ซึ่งความผูกพันที่รัฐจะต้องมีต่อประชาชนในทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งเชื่อมโยงไปถึงหลักนิติธรรม มีสิ่งที่จะต้องทำ 3 อย่างคือ

  • การปกป้อง – มาตรการทางกฎหมายที่ทำให้คนทุกคนเข้าถึงความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายได้ รัฐต้องจัดการแก้ไขให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากความเป็นสามีภรรยา ความเป็นบิดามารดา ในรูปแบบการที่การสมรส สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบเดิมเชิงประวัติศาสตร์ ทำอย่างไรที่จะให้หลักกฎหมายที่กำลังจะพิจารณาทำให้เกิดหลักความเสมอภาค
  • การเคารพ – หลักนิติธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องไม่ทำให้บุคคลรู้สึกเสียหาย ด้อยค่า หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การมีกฎหมายที่บังคับให้หญิงข้ามเพศเป็นพ่อ เท่ากับละเมิดหรือด้อยค่าโดยไม่คำนึงถึงหลักการเคารพ
  • การเติมเต็ม – ถ้ากฎหมายยังไม่มีคำที่สะท้อนถึงความเป็นกลางทางเพศ หรือรื้อถอน ระบบเพศแบบสองเพศ เท่ากับกฎหมายไม่ได้เติมเต็มการเป็นตัวตน จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่าบุพการี ที่ทำให้ปราศจากความรู้สึกกดทับเชิงโครงสร้าง ไม่ต้องกระอักกระอ่วนในการพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว

“การเป็นคนหลากหลายทางเพศซึ่งนิยามความหมายเปลี่ยนแปลงไป เราไม่ได้พูดถึงการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน แต่เป็นการแต่งงานอย่างเสมอภาค คำนึงถึงอัตลักษณ์ หลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหลักนิติธรรม สุดท้ายแล้วถ้าหลักนิติธรรมยังไม่สามารถที่จะทำให้รัฐไทย ปกป้อง คุ้มครอง เติมเต็ม รัฐไทยก็จะล้มเหลวในการออกกฎหมายฉบับนี้”

นาดา ไชยจิตต์

ปัจจุบันการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระสอง และสาม ในวันที่ 27 มี.ค.67 ก่อนจะเสนอไปยังวุฒิสภาได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. นี้ สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือบุคคลสามารถหมั้นและสมรสได้โดยมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และมีสถานะทางกฎหมายคือคู่สมรส ซึ่งหมายถึงมีสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่น ๆ ด้วย อาทิ สิทธิสวัสดิการราชการ หักลดหย่อนภาษี รวมถึงบทบัญญัติในกฎหมายอื่นที่หมายถึงสามีภรรยาให้ได้สิทธิตามการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมเรื่องขอสัญชาติ การตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยี และเรื่องคำนำหน้านาม ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นขั้นตอนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active