สภาฯ รับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ” หลังภาคประชาสังคมผลักดันมานานนับสิบปี

ตั้ง 25 กมธ.วิสามัญพิจารณา “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …” ให้เวลาแปรญัตติ 7 วัน โดยใช้ร่างฯ รัฐบาลเป็นร่างหลัก มีชื่อ “บ.ก.ลายจุด พรเพ็ญ สมชาย อังคณา” ร่วมเป็น กมธ.ฯ ด้วย

วันนี้ (16 ก.ย. 2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …” หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำร่างฯ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา และถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (15 ก.ย.) และได้มีการลงมติช่วงบ่ายวันนี้

เนื่องด้วยกฎหมายดังกล่าว มีร่างฯ ที่มีชื่อและหลักการใกล้เคียงกันอีก 3 ฉบับ รวมเป็น 4 ฉบับ โดยที่ประชุมเห็นชอบทั้ง 4 ฉบับ ด้วยคะแนน 368 ไม่เห็นด้วย ไม่มี, งดออกสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

สำหรับรายชื่อ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …” นั้น ประกอบด้วยตัวแทนคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และเสรีรวมไทย รวม 25 รายชื่อ

รัฐบาล

  1. วิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ
  2. ธนกิจ จิตอารีย์รัตน์
  3. จรวยพร พงศาวสีกุล
  4. สุทัศน์ เงินหมื่น
  5. ธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา

พรรคเพื่อไทย

  1. ชวลิต วิชยสุทธิ์
  2. นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์
  3. ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ  
  4. สมบัติ บุญงามอนงค์
  5. เอกชัย ไชยนุวัติ
  6. กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ

พรรคพลังประชารัฐ

  1. วีระกร คำประกอบ
  2. สิระ เจนจาคะ
  3. อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
  4. สมบัติ อำนาคะ
  5. นายกองตรี อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

พรรคภูมิใจไทย 

  1. เพชรดาว โต๊ะมีนา
  2. ศุภชัย ใจสมุทร
  3. พลโท กฤษณะ บวรรัตนารักษ์

พรรคก้าวไกล

  1. รังสิมันต์ โรม
  2. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

พรรคประชาธิปัตย์

  1. สมชาย หอมลออ
  2. ศิริภา อินทวิเชียร

พรรคชาติไทยพัฒนา

  1. สัมพันธ์ แป้นพัฒน์

พรรคเสรีรวมไทย

  1. อังคณา นีละไพจิตร 

โดยที่ประชุมมีมติให้เวลา กมธ.วิสามัญฯ แปรญัตติ 7 วัน โดยให้ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเป็นร่างหลัก และให้นำหลักการและสาระสำคัญของอีก 3 ร่าง เข้าพิจารณาด้วย

สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …” มีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2557 หลังประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกใน อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (United Nations Convention against Torture: UNCAT) ตั้งแต่ปี 2550 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

โดยนอกจาก ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือที่เรียกกันว่า “ร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ” ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ที่ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ยังมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ รวม 4 ฉบับ `คือ

1) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดย ครม.

2) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดย ส.ส. ที่เป็นคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมายฯ) ซึ่งเดิมทีเป็นร่างที่ประชาชนเสนอ

3) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาชาติ

4) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว