ทำไมเราต้องมีกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย?

คลิปหลักฐานการทรมานผู้ต้องหายาเสพติดในจังหวัดนครสวรรค์ ได้เปลี่ยนให้ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลายเป็น ผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม เหตุการณ์นี้ ทำให้การพูดเรื่อง “กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” เป็นเรื่องจำเป็นและใกล้ตัวผู้คนมากยิ่งขึ้น

ในกลุ่มผู้ร่วมผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ใช้เวลานานเกือบ 10 ปี บอกตรงกันว่า ความคืบหน้าทางกฎหมายที่จะทำให้สามารถระบุฐานความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรทำ หลังลงนามและให้สัตยาบันใน อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (United Nations Convention against Torture: UNCAT) ตั้งแต่ปี 2550 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากกรณี “ผู้กำกับโจ้” ได้ทำให้ประชาชนไทยหลายคนย้อนนึกถึงเหตุการณ์ซ้อมทรมานและอุ้มหายหลายครั้งก่อนหน้า ที่แม้แต่ อดีตรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล ได้กล่าวถึงความรุนแรงและการซ้อมทรมานเช่นนี้ว่า เป็น “เทคนิค” ในการสอบสวน เพียงแต่ไม่ควรทำให้ “เสียชีวิต”

เมื่อคนที่เคยอยู่ในฝ่ายความมั่นคงออกมา “ยอมรับ” ว่าการซ้อมทรมานเป็นเรื่องปกติและกระทำได้ ทำให้หลายคำถามสำคัญดังขึ้น หลังเกิดกรณีล่าสุดที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการซ้อมทรมานอย่างชัดเจน

The Active รวบรวมข้อมูลสำคัญ นับตั้งแต่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ เมื่อปี 2550 และตัวชี้วัดที่น่าสนใจของนานาชาติถึงความเปลี่ยนแปลงหลังเข้าร่วมในอนุสัญญานี้ ที่มีผลสำคัญต่อสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของแต่ละประเทศ


สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ให้นิยามของ “การทรมาน” หรือ “ซ้อมทรมาน” ว่าหมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์อย่างสาหัส ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ อย่างจงใจแก่บุคคล โดยมีเป้าหมาย เช่น เพื่อได้รับข้อมูล เพื่อได้รับคำสารภาพ เพื่อลงโทษ หรือเพื่อขู่ให้กลัวหรือบังคับบุคคลนั้นหรือบุคคลที่ 3 รวมถึงเหตุผลอื่นที่มีพื้นฐานอยู่บนการเลือกปฏิบัติ เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ดังกล่าว ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยหรือภายใต้การยุยง หรือภายใต้ความเห็นชอบ หรือความยินยอมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่ใช้อำนาจรัฐ

แต่การทรมานในที่นี้ ไม่รวมความเจ็บปวดหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากที่เป็นธรรมชาติ หรือเป็นผลข้างเคียงของการลงโทษตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่รัฐทำทรมาน โทษต้องหนักกว่าปกติ

เหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องได้รับโทษมากกว่าการกระทำทรมานของประชาชนทั่วไป เพราะเจ้าหน้าที่รัฐได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ถืออำนาจรัฐ และสามารถจำกัดสิทธิของประชาชนในบางประการได้ ทั้ง การจับกุม สืบสวน สอบสวน หรือกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทรมานเสียเอง ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ จึงเป็นเหตุผลที่อนุสัญญาฯ เรียกร้อง ให้สมาชิกต้องมีกฎหมายกำหนดฐานความผิด และเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับโทษมากกว่าปกติ


จากการลงนามและให้สัตยาบันใน อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ทำให้หนึ่งในพันธกรณีที่ไทยมี คือ การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมและภาคประชาสังคมไทย มีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2557 และเคยเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว

และเมื่อ 17 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้นำ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เข้าพิจารณาในสภา ซึ่งมีการบรรจุเป็นวาระการพิจารณาในวันที่ 15 กันยายน 2564

นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยควรทำเมื่อลงนามและให้สัตยาบันกับประชาคมโลก มีอย่างน้อย 10 ข้อ

  1. การออกมาตรการทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ หรืออื่น ๆ เพื่อป้องกันการทรมานในพื้นที่ใดก็ตามที่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ต้องกำหนดฐานความผิดของการซ้อมทรมาน โดยการกำหนดฐานความผิดตามมูลเหตุใน 4 กรณี ได้แก่ ทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล หรือเพื่อให้รับสารภาพ, ทรมานเพื่อข่มขู่ให้กระทำหรือไม่กระทำการบางอย่าง, ทรมานเพราะเหตุผลแห่งการเลือกปฏิบัติ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา หรือสีผิว เป็นต้น และมูลเหตุสุดท้ายคือ ทรมานเพื่อเป็นการลงโทษผู้อื่น หมายถึงไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
  2. ไม่มีสถานการณ์พิเศษใด ไม่ว่าจะเป็นสภาวะสงครามหรือความเสี่ยงจากสงคราม ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ที่จะใช้เป็นเหตุผลของการทรมานได้
  3. คำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลของการทรมานได้ หรือหากอธิบายในบริบทสอดคล้องกับประเทศไทยคือ “นายสั่งให้ทำ” เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดนั้น ไม่สามารถทำได้ แต่อาจได้รับโทษหนักเบาต่างกัน หรือลดหลั่นไปตามกระบวนการ
  4. ไม่สามารถขับไล่ ผลักดันกลับ หรือส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่มีหลักฐานมากเพียงพอว่า บุคคลนั้นจะตกอยู่ในอันตรายจากการทรมาน เช่น การส่งชาวโรฮิงญา หรือชาวอุยกูร์ กลับประเทศ
  5. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องพิจารณาในทุกแง่มุม รวมถึงการมีอยู่ของรูปแบบที่คงเส้นคงวาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน โจ่งแจ้ง หรือกระทำกับมวลชน ภายในรัฐนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้ หากอธิบายอย่างง่าย คือ การห้ามรับฟังพยานที่ได้จากการทรมาน เพราะหากศาลรับฟัง ย่อมเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ไปทรมานผู้อื่น
  6. ต้องทำให้การทรมานทั้งหมดเป็นความผิดภายใต้กฎหมายอาญาของตน เช่นเดียวกับความพยายามที่จะทรมาน และการกระทำของบุคคลใดที่ถือเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือร่วมในการทรมานนั้น
  7. ต้องทำให้ความผิดเหล่านี้สามารถถูกลงโทษได้ โดยมีบทลงโทษที่เหมาะสมตามความร้ายแรงของความผิดนั้น
  8. ต้องออกมาตรการเท่าที่จำเป็นในการสถาปนาเขตอำนาจศาล (Jurisdiction) เหนือการกระทำความผิด ในกรณีดังต่อไปนี้
    1. เมื่อความผิดถูกกระทำในพื้นที่ใดก็ตาม ที่อยู่ภายใต้เขตอำนาตศาลของตนหรือบนเรือหรือบนอากาศยานที่ลงทะเบียนกับตน
    2. เมื่อผู้ต้องหาเป็นพลเมืองของตน
    3. เมื่อเหยื่อเป็นพลเมืองของตน หากตนพิจารณาว่าสมควร
  9. ต้องออกมาตรการเท่าที่จำเป็นในการสถาปนาเขตอำนาจศาลเหนือการกระทำความผิดในกรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ในพื้นที่ใดก็ตามภายใต้เขตอำนาจศาลของตนและตนไม่ส่งตัวบุคคลนั้น
  10. อนุสัญญานี้ไม่กีดกันอำนาจทางกฎหมายอาญาใดที่สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2528 ที่ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ได้รับความเห็นชอบจากสหประชาชาติ จนถึง เวลานี้ มีประเทศที่ร่วมลงนามและให้สัตยาบันแล้ว 177 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่เข้าร่วมเมื่อปี 2550 สมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

เมื่อศึกษาดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law Index ของ The World Justice Project (WJP) พบว่าตัวชี้วัดที่มีคำอธิบายที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการซ้อมทรมานโดยตรง คือ The right to life and security of person is effectively guaranteed (Fundamental Rights) หรือ สิทธิในการมีชีวิตและความมั่นคงบุคคล และ Due process of law and rights of the accused (Criminal Justice) หรือ สิทธิของผู้ต้องหาและกระบวนการอันชอบธรรม ซึ่งข้อมูลที่ถูกตีพิมพ์ในระบบดิจิทัลที่สามารถสืบค้นย้อนหลังไปได้ถึงปี 2012 หรือ พ.ศ. 2555

จากการเปรียบเทียบข้อมูลใน 5 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศไทย โดย 4 ประเทศแรก ได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่ามีคะแนนอยู่ในระดับ 0.6 – 0.9 และหลายประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณารายประเทศจะเห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดการผันแปรของคะแนน

กล่าวคือ ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ดีขึ้นทั้งสองตัวชี้วัดช่วงปี 2016 แต่ก็ค่อย ๆ ลดลงหลังจากนั้น และเริ่มตกต่ำตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบารัก โอบามา และ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงต้นปี 2017 สอดคล้องกับสิ่งที่ทรัมป์มักแสดงบทบาทและถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายทางการเมืองและความเป็นธรรมภายในประเทศ

ขณะที่เกาหลีใต้ หากดูจากคะแนนที่เพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2016-2017 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พัค กึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ในความผิดฐานทุจริตและลุแก่อำนาจ จนเกิดการประท้วงใหญ่ในประเทศ จนถึงปัจจุบัน เกาหลีใต้มีอดีตประธานาธิบดีถึง 4 คน ที่มีความผิดจนถึงขั้นถูกตัดสินให้จำคุก

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการจัดอันดับคะแนนต่ำกว่าอีก 4 ประเทศ แต่ก็ไม่ทิ้งห่างมากนัก กระทั่งปี 2557 ที่คะแนนตกต่ำลงจาก ราว 0.6 ลงมาอยู่ที่ 0.3 ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของ คสช.

นอกจากการไม่มีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่แยกออกจากคดีอาญาปกติ อาจมีผลทำให้คะแนนของไทยน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ยังมีการวิเคราะห์ว่าการใช้กฎหมายพิเศษหลังการรัฐประหารเป็นตัวแปรที่ทำให้สิทธิในการมีชีวิตและความมั่นคงบุคคล และสิทธิของผู้ต้องหาและกระบวนการอันชอบธรรมในประเทศตกต่ำ

นอกจากนี้ยังมีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป็นนโยบายโดยรัฐ เช่น นโยบายการปราบปรามยาเสพติด นโยบายด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องโหว่ให้เกิดการทรมานและการบังคับให้สูญหายเพิ่มมากขึ้น

ส่วนอีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 คือ เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และมีผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่อาจมีผลให้คะแนนลดต่ำลง

สอดคล้องกับสิ่งที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า คดีอาญาที่มีความเสี่ยงว่าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการทรมานหรือบังคับให้สูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ คือ คดีในอย่างน้อย 3-4 ประเภท คือ 1) คดีที่เป็นผลจากนโยบาย เช่น คดียาเสพติด ที่เพิ่มกระบวนการพิเศษในชั้นการสืบสวนสอบสวน หรือคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ กฎอัยการศึก 2) คดีฆาตกรรมอันโด่งดัง หรือคดีที่มีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นชาวต่างชาติ และ 3) คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ซึ่งเธอระบุว่า การทรมานในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะการทรมานหรือทารุณกรรมด้านร่างกาย แต่ยังหมายถึงการทรมานต่อภาวะทางจิตใจด้วย


นอกจากการมีกฎหมายกำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะ และมีกลไกเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่สิ่งสำคัญที่ควรกระทำในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ คือการตัดตอนช่องโหว่ที่เอื้อให้เกิดการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในการบวนการยุติธรรมชั้นต้น ระหว่างกระบวนการสืบสวน สอบสวน

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท นักวิชาการด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม หนึ่งในผู้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ บอกว่า การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต้องนำเข้ากระบวนการยุติธรรมอย่าง “รวดเร็ว และเป็นธรรม” ด้วย

หมายความว่า หากใครก็ตามที่กระทำความผิด ต้องถูกดำเนินการอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิผล โดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้นอีกในอนาคต และจำเป็นต้องดำเนินคดีอย่างรวดเร็วเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน โดยอาจลดระยะเวลาในการนำตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเข้ามาอยู่ในกระบวนการสืบสวนให้น้อยลง

ในที่นี้ หากดูตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้กำหนดระยะเวลาขังโดยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ใช่ศาลเอาไว้ โดยเฉพาะในคดียาเสพติดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเพื่อสืบสวนสอบสวนได้นานถึง 3 วัน

นอกจากนี้ รศ.ปกป้อง ยังระบุถึง “ความเป็นธรรม” หมายถึง เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทรมาน จะเป็นฝ่ายผิดเสมอไป แต่กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏได้ หากผู้ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้บริสุทธ์” ก็ต้องคืนความบริสุทธ์ให้แก่ผู้นั้นด้วย

ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดการตั้งคำถามว่า “สิทธิมนุษยชน” เช่นนี้จะไปขัดขวางการดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำความผิดในสังคมหรือไม่ รศ.ปกป้อง กล่าวว่าสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ขัดขวางการลงโทษ หรือดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด เพียงแต่การลงโทษ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้น้ำหนักของหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เห็นว่า “คนทุกคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

“ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับความไว้ใจจากประชาชนให้ใช้อำนาจรัฐ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แล้วไปทำทรมานผิดกฎหมายเสียเอง จึงเป็นการทำลายความไว้ใจ แล้วประชาชนที่ถูกทำทรมานจะไปพึ่งใคร”

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active