‘กฎหมายอุ้มหาย’ มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ!

หลัง ตุลาการศาล รธน. มีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ 4 มาตรา ขัด รธน. ส่งผลให้บังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 22 ก.พ. 66 ‘นักสิทธิฯ’ ชี้ การออกกฎหมายควรเป็นไปตามหลักการ ไม่ใช่เกมการเมือง หวังเห็นผู้เสียหายในอดีตจะได้รับการเยียวยาจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้เช่นกัน

วันนี้ (18 พ.ค. 2566) ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) พ.ศ. 2566 ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่

ซึ่งกรณีนี้ ครม. เคยมีมติเลื่อนบังคับใช้ 4 มาตรา จากเดิมจะต้องมีผลบังคับใช้ทั้งฉบับตั้งแต่ 22 ก.พ. 2566 โดยให้เลื่อนเป็น 1 ต.ค. 2566 โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว

โดยศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8:1 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมฯ ฉบับดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมฯ ฉบับดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น (22 ก.พ. 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ประกาศดังกล่าว อธิบายให้เข้าใจง่าย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่าจากการที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติ เลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย บางมาตราออกไปนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้กฎหมายทั้งฉบับเต็มมีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 ก.พ. 2566  ซึ่งเดิมทีมีผลเลื่อนบังคับใช้อีก 4 มาตรา ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 

พรเพ็ญ ยังระบุอีกว่า หากรัฐบาลใหม่เป็นไปตามการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล เชื่อมั่นว่าผู้เสียหายในอดีตอาจจะได้รับการยอมรับและเคารพ รวมถึงการเยียวยาในเรื่องความสูญเสียที่เขาเผชิญมาตลอดได้ จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้  ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการออกกฎหมายฉบับนี้เหมือนกัน นั่นคือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอดีตได้ด้วย เนื่องจากว่าการอุ้มหายถูกตีความเป็นมาตรฐานสากลว่าคือความผิดต่อเนื่อง

“ขอชื่นชมศาลรัฐธรรมนูญ 8 ใน 9 ที่ยืนยันหลักการและเคารพระบบรัฐสภา ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ที่รัฐสภาไทย ทั้งส่วนของ ส.ว. และ ส.ส. จะเคารพหลัการนี้ด้วย และหวังว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะประกาศใช้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งฉบับ” 

สำหรับ 4 มาตราที่มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปก่อนหน้านี้ คือ

  • มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ด้าน สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กระบวนการทางกฎหมายมีความชัดเจนที่จะต้องออกกฎหมายที่จำเป็นอยู่แล้ว แต่กรณี การประกาศ พ.ร.ก. ขอเลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจการออกกฎหมายเป็นของนิติบัญญัติ รัฐบาลอยู่ในส่วนของการบริหารเสนอ ยกร่าง และผลักดัน แต่ที่ผ่านมามีการเล่นเกมการเมืองจนทำให้กฏหมายล่าช้า ซึ่งสุดท้าย สะท้อนกลับไปที่ตัวของรัฐบาลเอง 

“รัฐบาลเองจะต้องไม่มองเป็นกฎหมายของพรรคใด พรรคหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แล้วจะทำอย่างไรที่จะออกกฎหมายเผื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน”

กรณีที่มีการอ้างเรื่องของความไม่พร้อมอุปกรณ์ ระบุว่า ในกฎหมายไม่ได้มีการระบุคุณภาพว่าจะต้องดีเท่าไร หรือจะต้องเชื่อมกับระบบคอมพิวเตอร์ได้แม้กระทั่งกล้องโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้ได้ เรื่องเหล่านี้แต่ละสถานีตำรวจสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้น ซึ่งสามารถทำก่อนได้ไม่ใช่ปัญหา

แต่ปัญหาที่สำคัญอาจจะเป็นเรื่องของนโยบายรัฐ นโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับสูง จะต้องกำชับลงมาและสั่งการลงมาอย่างเร่งด่วนให้เรื่องเหล่านี้จะต้องปฏิบัติในทันที ถ้ามีนโยบายลงมาอย่างชัดเจนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active