เปิดมาตรการเข้ม คุมโควิด-19 สถานศึกษารับเปิดเรียน

สธ. ร่วม ศธ. เตรียมขยายมาตรการ Sandbox Safety Zone in School สู่โรงเรียนแบบไปกลับ พื้นที่สีแดงเข้มตรวจ ATK 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เรียนห้องละ 25 คน

นอกจากการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12 – 17 ปีแล้วมาตรการควบคุมโรคเป็นอีกสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันเพื่อกลับมาเปิดเรียนอย่างปลอดภัย ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนประจำได้ผลดี และเตรียมร่วมกระทรวงศึกษาธิการขยายสู่โรงเรียนแบบไปกลับ โดยคาดว่าหลายโรงเรียนจะกลับมาพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ที่โรงเรียน วันที่ 1 พ.ย.​2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า มีมาตรการและการดำเนินการของโรงเรียนที่ต้องเข้มขึ้นตามระดับพื้นที่ระบาดดังนี้ 

พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว)
– ครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% 
– ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ 

พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 
– ครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% 
– ประเมินความเสี่ยงบุคคล 1 วันต่อสัปดาห์ 
– ตรวจ ATK 1 ครั้งใน 2 สัปดาห์

พื้นที่ควบคุม(สีส้ม) 
– ครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% 
– ตรวจ ATK 1 ครั้งใน 2 สัปดาห์
– ประเมินความเสี่ยงบุคคล 2 วันต่อสัปดาห์

พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 
– ครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% 
– ประเมินความเสี่ยงบุคคล 3 วันต่อสัปดาห์
– ตรวจ ATK  1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
– สถานประกอบกิจการรอบสถานศึกษา 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และ COVID Free Setting 
– จัดทำ School Pass และจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน 

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 
– ครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% 
– ประเมินความเสี่ยงบุคคลทุกวัน
– ตรวจ ATK  2 ครั้งต่อสัปดาห์
– สถานประกอบกิจการรอบสถานศึกษา 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และ COVID Free Setting 
– จัดทำ School Pass และจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน 

 7 มาตรการเข้มสถานศึกษา 

  1.  สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และประเมินผลผ่าน MOECOVID 
  2. การทำกิจกรรมร่วมกันต้องเป็นกลุ่มย่อยและไม่ข้ามกลุ่ม  
  3. จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ 
  4. จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการระบายอากาศ  
  5. จัดเตรียม School isolation และ แผนเผชิญเหตุรองรับ ผู้ติดเชื้อโดยมีการซักซ้อม 
  6. ควบคุมดูแล การเดินไปกลับให้มีความปลอดภัย (Seal Route)  และ
  7. จัดทำ School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ซึ่งจะมีข้อมูลผลประเมินความเสี่ยง ผลตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน หรือประวัติติดเชื้อช่วง 1-3 เดือน

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุน ATK มี 2 ส่วน คือ 1. สปสช.จัดชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด กระจายลงไปยังจังหวัดผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ สามารถประเมินความเสี่ยงและรับชุดตรวจได้ตามเงื่อนไขที่สปสช.กำหนด และ 2. การจัดหาในพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น คณะกรรมการโรงเรียนหรือกองทุนสุขภาพตำบล สามารถมาสนับสนุน การดำเนินการของโรงเรียนซึ่งเชื่อว่าจากนี้ ATK จะมีจำนวนมากขึ้นและราคาถูกลง

ข้อมูลระบาดวิทยาในเด็กอายุ 6-18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 11 กันยายน 2564

  • ติดเชื้อโควิด 19 สะสม 129,165 ราย 
  • เสียชีวิตสะสม 15 ราย 

ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีการเปิดเรียน ส่วนหนึ่งติดเชื้อในครอบครัวหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน 

การฉีดวัคซีนในครู บุคลากรทางการศึกษา และเด็ก

  • ครูได้รับวัคซีนแล้ว 88.3% (ข้อมูลวันที่ 5 ก.ย. 2564) 
  • เด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัว 
    – วัคซีนไฟเซอร์เข็ม 1 จำนวน 74,932 คน 
    – วัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 จำนวน 3,241 คน 
    (ข้อมูลถึงวันที่ 11 ก.ย. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS