“เอาตามที่พี่น้องเสนอมา” รมว.ศักดิ์สยาม เคาะแนวทางแก้ปัญหาที่ดินริมทางรถไฟ

รมว.กระทรวงคมนาคม ตอบรับข้อเรียกร้องจัดสรรที่อยู่ใหม่บนที่ดินการรถไฟฯ 16 ไร่ ย่านมักกะสัน ให้อยู่อาศัย-ทำอาชีพ ไม่ไกลจากที่เดิม พร้อมร่วมพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ร่วมกัน

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) สลัม 4 ภาค และตัวแทนชาวบ้านจาก 15 ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ TOD ที่สถานีมักกะสัน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้าเจ้าพระยา และโครงการพัฒนานิคม กม.11 เขตบางซื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการขอคืนพื้นที่จากชาวบ้านเกิดเป็นคดีความฟ้องร้อง และข้อพิพาทยืดยื้อนานหลายปี เดินทางไปยื่นคำร้องแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยุ่อาศัย ณ กระทรวงคมนาคม

ต่อมา ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับข้อเรียกข้องของชาวบ้านเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมการประชุม

คมสันต์ จันทร์อ่อน กองเลขาฯ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุภายหลังการประชุมว่า เบื้องต้นที่ประชุมมีข้อเสนอให้พื้นที่การรถไฟฯ 4 ไร่ ในตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี แต่ชาวบ้านเห็นว่าไกลจากพื้นที่อาศัยและที่ทำกินเดิม จึงได้เจรจาขออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ในย่านมักกะสัน 16 ไร่ และได้รับความเห็นชอบจากประธานในที่ประชุม

ท่านศักดิ์สยาม สรุปความสั้น ๆ ว่าเอาตามที่พี่น้องเสนอมา แต่จำนวนเนื้อที่ ให้คุยกันระหว่าง กระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และชุมชน ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะรับการจัดสรรที่ดินมากกว่า หรือน้อยกว่า 16 ไร่จากข้อเสนอก็ได้ คาดว่าจะมีการนัดหมายภายในเดือนกันยายนนี้ โดยปลัดกระทรวงคมนาคมรับเป็นที่ปรึกษาให้

สำหรับชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการย้ายไปอยู่พื้นที่จัดสรรใหม่ย่ายมักกะสันคือ ชุมชนริมทางรถไฟราชเทวี แดงบุหงา บุญร่มไทร ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ชุมชนนิคมมักกะสัน ชุมชนโรงเจมักกะสัน ชุมชนหลังวัดมักกะสัน ชุมชนริมทางรถไฟหลัง RCA รวมประมาณ 500 ครัวเรือน

ส่วน กรณีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อ กม.11 และชุมชนในพื้นที่โครงการก่อสร้างแก้มลิงฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่าให้ใช้หลักการเดียวกันในการแก้ปัญหา คือหารือร่วมกับทุกฝ่ายได้แก่ ชุมชน การรถไฟฯ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อหาทางออกว่าจะหาพื้นที่จัดสรรใหม่ให้ชุมชนได้อย่างไร

ของชุมชน กม.11 ท่านก็ว่าให้ใช้หลักการเดียวกัน คือย้ายไปอยู่ตรงไหนได้บ้างที่ไม่ไกลจากที่เดิม อยู่ได้ทำมาหากินได้ มีความเหมาะสม ไม่ขัดขวางพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น และยังคงสามารถพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นย่านเศรษฐกิจได้… กรณีชุมชนในพื้นที่โครงการก่อสร้างแก้มลิงฯ ชุมชนริมคลองสามเสน ชุมชนหมอเหล็ง มีข้อสรุปให้จัดสรรพื้นที่รองรับ 13.5 ไร่ ใกล้ที่อยู่เดิม ซึ่งผู้ว่าการรถไฟฯ ขอนัดคุยอีกรอบว่า ว่าจะอยู่ตรงไหนยังไง

คมสันต์ จันทร์อ่อน ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อพิพาทระหว่างการรถไฟฯ และชุมชนริมทางรถไฟเป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการแก้ปัญหามาตั้งแต่ปี 2562 และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม หากว่ามติในที่ประชุมนำไปสู่ข้อสั่งการ ก็น่าจะเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาระหว่างรัฐและประชาชน

สำหรับมติในครั้งนี้คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงจะเกิดขึ้นจริง เพราะเป็นการประชุมที่มีความเป็นทางการ ผู้ว่าการรถไฟฯ ก็อยู่ด้วย ข้าราชการประจำอยู่ครบ… ถ้าเป็นไปตามข้อสั่งการ น่าจะเป็นโมเดลที่หน่วยราชการอื่น ๆ นำไปปฏิบัติตาม เช่น กรมทางหลวง หรือแม้แต่ สปก. เมื่อไหร่ที่ประชาชนคุยกับรัฐได้ ก็จะแก้ปัญหาต่างๆได้

ในส่วนคดีความที่ก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ เป็นโจทย์ยื่นฟ้องชาวบ้านกรณีบุกรุกที่ดิน กองเลขาฯ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า ชาวบ้านคลายความกังวล เพราะหากสามารถดำเนินการจัดสรรพื้นที่เช่าใหม่ให้ได้ภายในเดือนกันยายนก็จะสามารถนำเรื่องชี้แจงต่อศาลได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้