จัดสรรที่ดินใหม่การรถไฟฯ ยังไม่ลงตัว ห่วง พื้นที่รองรับย่านมักกะสันไม่เพียงพอ

ส่องพิกัดที่ดินจัดสรรใหม่ให้ชุมชนคนจนเมือง “ชาวชุมชนหมอเหล็ง และชุมชนริมคลองสามเสน” รับข้อเสนอ ด้าน ตัวแทนชุมชนบุญร่มไทร ห่วง พื้นที่รองรับย่านมักกะสันไม่เพียงพอ เหตุ ต้องอยู่ร่วมหลายชุมชน

18 ก.ย. 2564 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ตัวแทน เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) สลัม 4 ภาค และตัวแทนชาวบ้านจาก 15 ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ TOD ที่สถานีมักกะสัน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้าเจ้าพระยา และโครงการพัฒนานิคม กม.11 เขตบางซื่อ ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการจัดสรรที่ดินใหม่เพื่อที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ณ สวนราชเทวีภิรมย์ เขตมักกะสัน กรุงเทพฯ หลังจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับข้อเรียกข้องของชาวบ้านในการขอที่อาศัยในที่ดินการรถไฟ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา

โดยตัวแทนการรถไฟฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ชี้พิกัดพื้นที่ริมบึงมักกะสัน จุดเชื่อมต่อสวนราชเทวีภิรมย์ เป็นพื้นที่ต่อเนื่อง ขนาดประมาณ 4-7 ไร่ เสนอให้เป็นพื้นที่อาศัยใหม่สำหรับชุมชนริมคลองสามเสน และชุมชนหมอเหล็ง ซึ่งชาวบ้านให้การตอบรับ และยินดีที่จะย้ายจากที่อยู่เดิมมาอาศัยยังที่จัดสรรใหม่

ตอนแรกชาวบ้าน เสนอขอที่ดิน 13 ไร่ แต่ถูกปรับลดลงเหลือ 7 ไร่ รอบบึงมักกะสัน ให้สำหรับชุมชนหมอเหล็งและชุมชนคลองสามเสน ที่มีพี่น้องรวมกว่า 200 ครัวเรือน ซึ่งเราก็ยินดี เพราะเป็นพื้นที่ไม่ไกลจากที่อาศัยเดิม สามารถทำมาหากินได้ และก่อนหน้านี้เองชาวบ้านได้ทำบัญชีออมทรัพย์ กับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เพื่อเตรียมพร้อมสร้างบ้านใหม่หากได้รับการจัดสรร คิดว่าไม่มีปัญหาจะเดินหน้าต่อไป

รำพึง เอ้มะราช ประธานชุมชนหมอเหล็ง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ในฐานะผู้ลงพื้นที่สำรวจแปลงที่ดินครั้งนี้ ได้แจ้งกับตัวแทนชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ว่าเห็นควรที่จะใช้สมาชิกในชุมชนย้ายมาอยู่ในที่ดินเดียวกันนี้ เพื่อความสะดวกต่อการบริหารจัดการ และมองว่าตรงกับเงื่อนไขที่ชาวบ้านเรียกร้อง เช่น ขออยู่ในเขตพื้นที่ไม่ไกลจากเดิม แต่ตัวแทนชาวบ้านยังไม่รับหลักการเพราะมองว่า ผิดจากข้อตกลงและคำให้การของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เคยระบุไว้ในที่ประชุมวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะให้อาศัยในเขตพื้นที่หัวมุม ของแปลงที่ดินโรงงานมักกะสัน

ชาวบ้านยังไม่รับข้อตกลงเนื่องจากที่ประชุม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และท่านได้กล่าวกับชาวบ้านเองว่าจะให้อยู่ในพื้นที่แปลง B แต่วันนี้มาบอกว่าจะให้อยู่รวมกับชุมชนคลองสามเสน และชุมชนหมอเหล็ง ซึ่งคิดว่าน่าจะไม่เพียงพอต่อการพักอาศัยของผู้คน เมื่อมีหลายชุมชนมารวมกัน จึงขอให้เจ้าหน้าที่การรถไฟกลับไปทบทวนและนัดหารือประชุม 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐมนตรีอีกครั้ง

เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่การรถไฟ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่หัวมุมแปลง B มีขนาดประมาณ 3 ไร่ ติดสัญญาเช่าป้ายโฆษณา 2 จุด คิดเป็นรายได้ค่าเช่า 5.5 ล้านบาทต่อปี และมีการวางท่อส่งน้ำมัน ท่อแก๊สธรรมชาติอยู่ด้วย คิดเป็นรายได้ค่าเช่า 39.5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2575 จึงมองว่าหากต้องเปลี่ยนเป็นพื้นที่อาศัยของชาวบ้าน อาจทำให้หน่วงานของรัฐต้องศูนย์เสียรายได้ และชาวบ้านอาจได้รับการจัดสรรพื้นที่ล่าช้ากว่า เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการจัดการที่ดินอีกหลายขั้นตอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้