ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน เงื่อนไขสำคัญรัฐใช้ความรุนแรง

‘รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เปิดผลวิจัย ถอดรหัสความรุนแรง ปัญหาของความขัดแย้ง และการใช้อำนาจรัฐ สำรวจการชุมนุมระหว่างปี 2548 – 2565 พบ ไม่มีกลุ่มไหนเริ่มใช้ความรุนแรง ขณะที่ “ล้มเจ้า-ก่อการร้าย” คือวาทกรรมสร้างความชอบธรรมรองรับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ

29 ส.ค. 2566 ที่ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีรายงานผลการวิจัย ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’

ในหัวข้อ “ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย: แบบแผน วิธีคิด และการให้ความชอบธรรม” รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นการสะท้อนว่าสังคมไทยเป็นประเทศที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนบ่อยครั้ง โดยมีเหตุการณ์ปราบปรามครั้งใหญ่ ทั้ง 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภาคม 2535 และพฤษภาคม 2553

แต่ในงานวิจัยนี้จะศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2548 – 2565 เป็นการเปรียบเทียบการชุมนุมของขบวนการ 4 ขบวนการ เพื่อดูว่าในห้วงเวลานั้น รัฐมีวิธีจัดการการชุมนุมอย่างไร ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติกลุ่ม), กลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และม็อบเยาวชน

รศ.ประจักษ์ ระบุว่า หากมองเรื่องการใช้ความรุนแรงโดยรัฐก็อาจคล้ายกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ไม่มีกลุ่มไหนเริ่มใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้น รัฐก็เช่นกัน เพราะรู้ว่าหากใช้ความรุนแรงต้องสูญเสียความชอบธรรม แต่ความเป็นจริงคือต้องหาวิธีการอื่น ๆ ในการรับมือการชุมนุมประท้วงของประชาชน ความรุนแรงจึงเป็นเครื่องมือสุดท้าย เมื่อเครื่องมืออื่น ๆ ล้มเหลว หรือถูกทำให้ล้มเหลว โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เครื่องมือต่าง ๆ นั้นถูกจำกัดให้ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา หรือเครื่องมือทางกฎหมาย เพราะไม่สามารถควบคุมกลไกรัฐได้ทั้งหมด

เมื่อดูว่าอะไรคือเหตุผล เบื้องหลัง และตรรกะการตัดสินใจของรัฐ ว่าสุดท้ายต้องใช้ความรุนแรง จะพบว่าปัจจัยที่กำหนดให้เกิดความรุนแรงโดยรัฐในประเทศไทย ปัจจัยหลัก คือ ระบอบการเมืองในขณะนั้น และมุมมองของรัฐที่มีต่อผู้ชุมนุม ส่วนปัจจัยรองคือ วิธีคิด และอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ แต่ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายรัฐ

การที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน ถือว่ามีความบกพร่องต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐกึ่งเผด็จการ การมีนโยบายปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ เช่น รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ เช่น รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในประเด็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐ มักเกิดขึ้นเช่นนั้นเสมอ เช่น การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง โดยสร้างวาทกรรมล้มเจ้าและเป็นการก่อการร้าย

“แต่ละครั้งที่มีการสลายการชุมนุม ด้วยความรุนแรง รัฐจะต้องสร้างวาทกรรมขึ้นมาให้ความชอบธรรมเสมอ”

รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ด้าน รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อผลงานวิจัยนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการอธิบายว่า ‘รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม เป็นรัฐกึ่งเผด็จการ’ คิดว่าควรจะต้องขยายคำถามไปเพิ่มอีกว่ารัฐแบบใดที่มีวิธีคิดและมีแนวนโยบายในการใช้ความรุนแรงแบบนี้ ซึ่งคิดว่ารัฐไทยเข้ากับกรอบคิดเรื่อง praetorian state  ที่แปลว่ารัฐทหารหรือ “รัฐเสนานุภาพ” ซึ่งเป็นกรอบคิดแบบชาตินิยม 

รศ.พวงทอง ยังชี้ว่าการจะเข้าใจการกลับมาของทหารได้ไม่ใช่เพียงแค่ดูตัวบุคคลที่เป็นผู้นำทหาร แต่ต้องดูโครงสร้างที่มีอยู่ทั้งศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ศาลอาญา สว. และกฎหมายต่าง ๆ ที่กองทัพได้สร้างอำนาจไว้ในระบบ แล้วบ่อนเซาะอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ตรงข้ามกับกองทัพได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active