แพทย์ชนบท “ปรับแผน-รวมทีม” กู้โควิด-19 กทม. ขยายเป้า ตรวจเชิงรุกมากขึ้น

ปฏิบัติการ แพทย์ชนบทกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพฯ วันที่สี่ ปรับแผน ‘รวมทีม’ ให้คล่องตัว เพิ่มเป้าหมายตรวจเชิงรุกมากขึ้น เตรียมเสนอแผนคุมโรค กทม. ส่วนสถานการณ์จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ยังต้องเลือกว่าจะจ่ายยาให้ใคร พบ บางขุนเทียน คลัสเตอร์โรงงานมีผู้ติดเชื้อสูงกว่าที่อื่น

วันนี้ (7 ส.ค. 2564) เป็นวันที่ 4 ของ ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ที่ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กทม. และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน หลายองค์กร โดยทีมปฏิบัติการจากหลายจังหวัด เหนือสุดจากโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน ใต้สุดจากโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา ตะวันตกจากจากโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ภาคอีสาน จาก จ.ยโสธร ชัยภูมิ เป็นต้น รวมแล้ว 33 ทีมจาก 30 จังหวัด

เตรียมรับศึกหนัก ขยายเป้าหมายวันละ 30,000 คน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท สรุปผลการปฏิบัติงาน รวม 3 วันที่ผ่านมา มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ยอดรวมในการคัดกรอง 56,834 คน ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เลือกใช้ชนิดที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองเพื่อความแม่นยำ เจอผลบวกรักษาได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลยืนยันด้วยวิธี RT-PCR (ใช้เทคนิคการตรวจ nasopharyngeal swab) ผลตรวจเป็นบวกจำนวน 6,079 คน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ได้มีการตรวจซ้ำของคนที่ผล ATK บวก ด้วยเทคนิค RT-PCR จำนวน 5,515 คน คิดเป็นร้อยละ 90.7 ผลยืนยันออกมาตรงกัน ร้อยละ 98.97 และมีบางคนไม่รอตรวจ เนื่องจากหลายพื้นที่ฝนเทลงมาอย่างหนัก ไม่มีที่หลบฝน

ในจำนวนผู้ที่ผลการตรวจเป็นบวกจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเอง เพื่อเข้าระบบการกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isulation) สแกน QRcode เข้าระบบการดูแลของ สปสช. ทุกราย พบเภสัชกรเพื่อจ่ายยา ประเมินระดับอาการของผู้ป่วย พบว่า เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว 4,629 คน คิดเป็นร้อยละ 76.2 ระดับสีเหลือง 1,333 คน คิดเป็นร้อยละ 21.9 และระดับสีแดง 144 คน คิดเป็นร้อยละ 1.9 

นพ.สุภัทร บอกว่า ผู้ป่วยระดับสีแดงทุกรายได้ประสานเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยระดับสีเหลืองทีมปฏิบัติการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทุกราย และในระดับสีเขียว จ่ายเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว สูงอายุ อ้วน ยอดรวมจ่ายยาไป 2,545 คนรายละ 50 เม็ด รวม 127,250 เม็ด คิดเป็นร้อยละ 41.9 และมีบางรายได้ยาฟ้าทะลายโจร โดยเมื่อวานนี้ เป็นวันแรกเริ่มทดลองระบบฉีดวัคซีนที่จุดบริการในรายที่ผลการตรวจเป็นลบ 10 จุดบริการ เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 746 คน ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อนำไปวางแผนควบคุมโรคในกรุงเทพมหานครต่อไป

“เป็นอีกวันที่ชมรมฯ ปรับแผนให้มีการรวมทีม เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ ให้งานวันนี้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น แต่เป้าหมายมากกว่าเดิมในแต่ละทีม ไว้รับศึกหนักในวันพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) ซึ่งจะเปิดพื้นที่ 18 จุดบริการ เป้าหมาย 3 หมื่นราย และเปิดโอกาสให้ประชาชนใกล้เคียงที่มีประวัติเสี่ยงเดินทางมาตรวจได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั้น”

กู้ภัยโควิด-19 ต้องรวดเร็ว ตรงเป้าจัดการได้เบ็ดเสร็จ

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ทีมงานร่วมกันถอดบทเรียนปฏิบัติการในช่วง 3 วันที่ผ่านมา หากมีการตรวจคัดกรองได้เร็วขึ้น และต่อเนื่อง ให้การรักษาเร็วด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ในทันทีที่ตรวจเจอผลบวกด้วย rapid test antigen ที่มีคุณภาพดี ไม่ต้องรอผลยืนยันด้วย RT-PCR จะช่วยลดการทำให้ระดับอาการผู้ป่วยเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง เหลืองเป็นแดง ลดลงและลดการใช้เตียงไปด้วย และลดอัตราการตายลงได้

“ส่วนปฏิบัติการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงสู่ชุมชนแออัดที่มีอัตราการติดเชื้อสูง ด้วยทีม 4RT หรือที่เรียกว่า Rapid response team เป็นทีมที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วปฏิบัติการเบ็ดเสร็จ ทั้งเรื่องการคัดกรอง ติดตามผู้สัมผัส รักษาเร็วและให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงหรือเป้าหมายพื้นที่ติดเชื้อสูงในคนที่ยังไม่ติดเชื้อ ตามข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบทก่อนหน้านี้  การกู้ภัยโควิดต้องรวดเร็ว ตรงเป้าจัดการได้เบ็ดเสร็จ”

และด้วยยุทธศาสตร์หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วกู้ภัยโควิดเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร วันนี้ทีมจาก จ.พิจิตร เดินเท้าไปตามทางรถไฟเพื่อตรวจคัดกรองโควิด-19 ถึงบ้านในชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ คลองเตยเหนือ เขตวัฒนา หรือทีมโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่ลงพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ตรวจคัดกรองโควิดที่วัดกำแพงไปแล้ว 1,972 คน ยังแบ่งทีมเคลื่อนที่เร็วลงชุมชนทั้งคัดกรองโควิดและฉีดวัคซีนผู้สูงอายุผู้ป่วยติดเตียงกว่า 100 คน

หรือ ทีม จ.แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ ที่ลงปฏิบัติการชุมชนบางระมาด วัดมะกอก คลองบ้านไทร พื้นที่เขตตลิ่งชัน ก็แบ่งทีมจำนวนหนึ่งนั่งวินมอเตอร์ไซด์ไปฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่เดินทางเข้ามาที่จุดตรวจลำบากและไม่สามารถรอแถวได้นาน นอกจากนั้น ทีมจาก จ.สุรินทร์เดินเท้าบุกไปตรวจโควิด-19 ผู้สูงอายุติดเตียง ณ ชุมชนเคหะธนบุรี ซึ่งเดินทางมาจุดตรวจได้ยาก ยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อการสัมผัส เมื่อเจอผู้ป่วยผลบวกก็รักษาทันที

สถานการณ์ต้องเลือกว่าจะให้ยาใคร

วันนี้ จุดที่น่าสนใจ คือ การรวมทีมระหว่างโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราชกับทีมโรงพยาบาลกาบเชิง จ.สุรินทร์ ที่ตั้งจุดบริการ ณ วัดกำแพง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ซึ่งลักษณะพื้นที่มีโรงงานขนาดเล็กกระจายจำนวนมาก และแต่ละโรงงานมีแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติและทั้งสองกลุ่มก็อยู่ปนกันในชุมชน ทั้งยังเป็นพื้นที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และมีการระบาดต่อเนื่องยืดเยื้อมาตั้งแต่การระบาดระลอก 2 ปลายปี 2563

อรัญญา คงสวัสดิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสิชล เล่าให้ฟังว่า แม้ว่าจะทีมจะมาจากนครศรีธรรมราช พอมาถึงพื้นที่แสมดำ พบว่าที่นี่เป็นเขตเศรษฐกิจ มีคนจากหลายจังหวัดอพยพมาทำงานที่นี่ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ ภารกิจนี้ ยิ่งเชื่อมั่นว่าทางช่วยให้กรุงเทพฯ รอดประเทศไทยก็จะรอดไปด้วยกัน และยังพบว่า ผู้นำชุมชนที่นี่เข็มแข็งสามารถประสานงานกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มคนเปราะบางมาตรวจได้จำนวนมาก และยังช่วยจัดระบบบริการให้ทีมงานทำงานได้อย่างเป็นระบบ 

เธอบอกอีกว่า มีชาวบ้านในพื้นที่ลงทะเบียนมาล่วงหน้าเพื่อขอตรวจวันนี้ 2,600 กว่าคน ก็สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว และวันนี้พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจด้วย ATK มากถึง 337 คน จากคนที่มาตรวจจริง 1,972 คน ถือว่ามีการติดเชื้อ 17.09% ซึ่งนับว่ามีการติดเชื้อสูงกว่าที่อื่น

“ทีมเรารู้สึกภูมิใจที่สามารถช่วยให้คนติดเชื้อรู้ตัวเร็ว และเข้าถึงการรักษาได้เร็ว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้มาก และคุมการระบาดไม่ให้ขยายวงมากกว่านี้ คาดหวังว่าโมเดลการลงทำงานในชุมชนเช่นนี้ จะขยายไปทั่วประเทศ”

นิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า โรงงานเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์การระบาดที่สำคัญ แรงงานทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นี้ ถ้าโรงงานไม่พาแรงงานไปตรวจคัดกรอง คนเหล่านี้จะไม่มีโอกาสเข้าถึงการตรวจเชื้อ และแม้ว่ามีการตรวจเชื้อคนกลุ่มนี้ก็ยังไม่เข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้มีการระบาดขยายกันเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องเร่งตัดวงจรการระบาดให้เร็ว โดยไม่ปล่อยให้พวกเขาเผชิญชีวิตโดยลำพัง 

นิมิตร์ ระบุอีกว่า โชคดีว่า คนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มสาววัยแรงงานที่ยังไม่แสดงอาการ กลุ่มสีเขียวที่ไม่มีโรคประจำตัว เราไม่ได้ให้ยาเขา แต่กลุ่มสีเหลืองให้ยาทุกราย แต่การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา เราไม่รู้ว่าอาการเขาจะพัฒนาเร็วอย่างไร แม้ สธ. จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์มาสนับสนุนมากขึ้นก็จริง 

“วันนี้ ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกว่าเราจะจ่ายยาให้ใคร… เขาเล่าถึงความกังวล ช่วงเช้ามีคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อมาเยอะ เราก็ให้ยาเขาเพื่อป้องกันการป่วย แต่พอช่วงบ่าย เราพบคนสูงอายุ คนท้อง เด็กเล็กมาก ๆ มีตั้งแต่ 1 เดือน เด็กอายุ 2-3 ขวบ เด็กเล็กมาก ๆ ติดเชื้อ จนต้องขอให้ทีมกลางส่งยามาเพิ่ม แต่กลุ่มเด็กเล็กมาก ๆ ไม่รู้จริง ๆ ว่าจะจัดการอย่างไร คิดถึงยาน้ำฟาวิพิราเวียร์เด็กเหล่านี้จะเข้าถึงได้อย่างไร”

สปสช. สรุปภาพรวมการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home Isolation (HI) พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 3,603 คน จำนวนผู้ป่วยเข้าสู่บริการ HI สะสมจำนวน 71,235 คน อยู่ระหว่างรับบริการ HI จำนวน 42,600 คน และหายป่วย 13,464 คน ดูรายละเอียดได้ที่ ภาพรวมการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home Isolation พื้นที่กรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง