‘วีแฟร์’ ตามความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ ฉบับ กมธ.สวัสดิการฯ ย้ำ! หมดเวลายื้อ “บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า” ชงรัฐพิสูจน์ฝีมือ ปรับวงเงินเบี้ยยังชีพที่ไม่ขยับมา 10 ปี สร้างหลักประกันสังคมสูงวัยก่อนโควิดทำลาย
23 ก.ค. 2564 – เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “บำนาญถ้วนหน้าเพื่อผู้สูงอายุ” เข้าพบ ส.ส. สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา กรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองโฆษกคณะกรรมาธิการฯ จากพรรคก้าวไกล แทนการไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบเบี้ยยังชีพเป็นระบบบำนาญประชาชน
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair แสดงความชื่นชมคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับประชาชน ซึ่งมีหลักการสำคัญในการพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า สร้างหลักประกันรายได้แก่ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป และจัดสวัสดิการให้เพียงพอต่อการดำรงชีพไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (ปัจจุบันอยู่ที่ 2,763 บาท/เดือน)
โดยคณะกรรมาธิการฯ มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 ทำให้ต่อมาร่างกฎหมายดังกล่าวได้พัฒนาเป็น ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ตามหลักการของ “การพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “ระบบบำนาญพื้นฐาน” และได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ
ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair กล่าวต่อไปถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบบำนาญต่าง ๆ ในไทย ประกอบด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.), ประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ล้วนมีการสมทบโดยรัฐบาลกับคนทำงาน ยกเว้น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่จัดสรรแบบสงเคราะห์ขั้นบันไดในอัตราเดือนละ 600-1,000 บาท มาตั้งแต่ปี 2554 ขณะที่เงินบำนาญข้าราชการมีการปรับขึ้นอยู่เรื่อย ๆ
“สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน คนจนมากขึ้น เราคิดว่าสวัสดิการสังคมน่าจะขับเคลื่อนได้มากกว่านี้ เราจะเห็นได้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีการปรับลดงบสวัสดิการของประชาชนในหลายเรื่องหลายนโยบาย”
นิติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ย้อนไปในช่วงเวลาการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แทบทุกพรรคการเมืองมีนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่หลังจากจัดตั้งรัฐบาล แม้ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับประชาชน จำนวน 13,264 รายชื่อ ได้ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาวินิจฉัยว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134 ได้ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อให้คำรับรอง จนกระทั่ง 4 ก.พ. 2564 นายกรัฐมนตรีมีความเห็นไม่รับรอง รวมทั้งไม่รับรองร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.เงินบำนาญประชาชน พ.ศ. … พรรคเสรีรวมไทย เสนอโดย ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … พรรคประชาชาติ เสนอโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. … พรรคก้าวไกล เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน ร่าง พ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … เสนอโดย พีระวิทย์ เลื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม
ปัจจุบันเหลือ “ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม” ที่เสนอโดย รังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ และ สมศักดิ์ คุณเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รอพิจารณาอีก 1 ฉบับ เครือข่าย We Fair จึงใช้ช่องทางการเข้าพบครั้งนี้ ยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายสวัสดิการสังคมที่สำคัญในการสร้างหลักประกันทางรายได้แก่ผู้สูงอายุของคณะกรรมาธิการฯ ตามเป้าหมายสร้างสังคมไทยเสมอหน้าสู่รัฐสวัสดิการ
สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา กรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทย และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองโฆษกคณะกรรมาธิการฯ จากพรรคก้าวไกล ได้ระบุถึงความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับคณะกรรมาธิการฯ ว่า มีแนวโน้มถูกปัดตกเหมือนกับร่างกฎหมายบำนาญประชาชนทั้ง 5 ฉบับก่อนหน้า เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายจากการเสนอของ ส.ส. ฉบับใด ผ่านความเห็นชอบ
“เราคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหา เนื่องจากหลักการที่อาจเกี่ยวข้องกับการเงิน เราแก้ไขแล้ว และถ้าเหตุผลเรื่องการจัดสรรเป็นบำนาญเดือนละ 3,000 บาท รัฐบาลไม่พร้อม เราก็ได้เสนอทางออกให้ใช้วิธีขยับเป็นขั้นบันได เรามีความยืดหยุ่นที่เพียงพอ จึงคิดว่านี่เป็น Agenda ทางการเมือง เป็น Mindset ของรัฐบาลนี้ว่า รัฐสวัสดิการแบบนี้เป็นภาระของประเทศ ไม่ยอมให้มีการพิจารณาของสภาฯ แม้แต่วาระที่ 1 การผลักดันร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นไปได้ยากมากตราบใดที่ยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ส.ส. ปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลปี 2561 พบผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนถึงร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบแหล่งรายได้จากเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท กับเส้นความยากจน พบว่าเป็นจำนวนเงินที่ห่างกันกว่า 3 เท่าสะท้อนสถานการณ์สังคมสูงวัย ที่ผู้สูงอายุมีความเปราะบางด้านรายได้ และแม้รายได้จากเบี้ยยังชีพจะเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่ถือเป็นแหล่งรายได้หลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย
หาก ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับคณะกรรมาธิการฯ ถูกปัดตก ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 มีคนวัยแรงงานตกงานจำนานมาก ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนานี้เห็นตรงกันว่า ระยะเร่งด่วนที่สุด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระ 2 ต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนสวัสดิการประชาชนที่ถูกตัดออกไปในวาระแรก