ภาคประชาสังคม ชี้ ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น จี้เปลี่ยนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ รมว.พม.

เวทีเสวนาออนไลน์ “ ตีแผ่ปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำ บนความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ ” ที่จัดขึ้นโดยองค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมจาก 5 ภูมิภาค เมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวว่า เป็นระยะเวลายาวนานในการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  โจทย์การฉายภาพเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมในครั้งนี้ จึงหมายรวมตั้งแต่ช่วงยึดอำนาจยุค คสช. จนถึงในยุคการเลือกตั้ง เพื่อตีแผ่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นให้คลอบคลุมแต่ละมิติ แต่ละประเด็น เช่น ปัญหาด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย เกษตรแรงงาน และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนที่ดำเนินการในพื้นที่ตนเองในแต่ละมิติ เพื่อให้เห็นว่า 7-8 ที่ผ่านมาเกิดปัญหาอะไรขึ้นและจะต้องแก้ไขอย่างไร

ภาคประชาชนต่อคิว ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์  จี้ปลด “จุติ” จาก ครม.”

นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค วิพากษ์การทำงานของนาย จุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญ ที่นอกจากเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นเรื่องสวัสดิการ และที่เป็นประเด็นขณะนี้ คือเรื่องปัญหาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันที่ข้าราชการเกษียณอายุ ได้รับเงินบำนาญ  แต่กลับมีประชาชนจำนวนมากไม่มีรายได้ ที่อายุ 60 ปีแล้ว ยังต้องทำงานอยู่ แต่พอเครือข่ายภาคประชาชน เสนอให้ผลักดันเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญ 3,000 บาท เพราะเบี้ยยังชีพประมาณ 600 บาท ไม่เพียงพอ  

แต่แนวคิด ของ รมว.พม. กลับบอกกับคณะกรรมการผู้สูงอายุ ว่างบฯผู้สูงอายุเป็นปัญหาหนักทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสูง เพราะฉะนั้นต้องเลือกที่จะให้  และล่าสุดเมื่อภาคประชาชนไปคัดค้านกรณีนี้ และเรียกร้องบำนาญถ้วนหน้า แต่ท่าทีของ รมต. กลับไม่ตอบรับอะไรเลย บอกว่าไม่มีใครมีอำนาจตัดสินใจ แต่ต้องตัดสินใจด้วยระบบที่มีอยู่ แต่ในความจริงระบบที่ว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นผู้เดือดร้อน อนุกรรมการผู้สูงอายุ ก็มาจากราชการ ซึ่งไม่เคยลำบาก

“ท่าทีคือ ไม่ตอบรับไม่พอ ข้อมูลที่เราได้มา คือรัฐมนตรีท่านนี้ยังต่อว่า พอช.ว่าสนับสนุนให้เครือข่ายสลัมสี่ภาคมาชุมนุมหรือไม่ ดังนั้นด้วยท่าทีแบบนี้ เราคิดว่ากระทรวงนี้ จึงไม่เหมาะสมกับรัฐมนตรีท่านนี้ ”

เรื่องที่ 2 คือเรื่องสถานการณ์โควิด- 19 ที่ผ่านมาภาคประชาชนต้องลุกมาดำเนินการก่อนที่รัฐจะทำ เพราะเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ แต่สุดท้ายกลับโยนความผิดให้คนสลัม ว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ โดยไม่มองถึงต้นปัญหาว่าไม่มีที่รองรับ บ้านหลังเล็กอยู่กันแออัดถึง 10 คน กักตัวรวมเกือบเดือน ปิดกิจการต่างๆ กระทบลูกจ้าง แต่ไม่มีการเยียวยาแบบถ้วนหน้า สะท้อนชัดว่าปัญหาสำคัญ คือ มาตรการรัฐไม่มีความพร้อมในการรับมือ

สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สะท้อนมุมปัญหาต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ คือกลุ่มคนที่ใช้แรงงานในการหาเลี้ยงชีพ อยู่นอกระบบการจ้างงานหรือเศรษฐกิจที่เป็นทางการ  เช่น คนขับแทคซี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย คนเย็บเสื้อโหลที่บ้าน โดยคนเหล่านี้มีทั้งที่มีนายจ้าง และประกอบอาชีพอิสระผลิตสินค้าขายด้วยตัวเอง แต่ที่เหมือนกัน คือมีฐานะยากจน ค่าจ้างน้อย ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ดังนั้นสวัสดิการของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ  ต้องมีที่เรียนฟรีรักษาพยาบาลฟรี มีบำนาญเลี้ยงในช่วงแก่ตัวไม่มีเรี่ยวแรง แรงงานนอกระบบจึงต้องใช้สวัสดิการสังคม

แต่รัฐบาลชุดนี้ กลับไม่เข้าใจสวัสดิการสังคม เพราะตอนที่ตนนั่งเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตอนนั้นช่วงแรกๆของยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีแนวคิดจะยกเลิกหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือยกเลิกการรักษาฟรีถ้วนหน้า รักษาเฉพาะคนจน จึงชัดว่าเป็นแนวคิดเดียวกับที่จะทำเบี้ยผู้สูงอายุ เฉพาะคนจน

“ อันที่จริงเงินที่มาจัดสวัสดิการ ไม่ใช่เงินนายกรัฐมนตรี หรือ รมต.พม.แต่เป็นเงินภาษีประชาชน   ชัดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เข้าใจ ว่าสวัสดิการถ้วนหน้า คือเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ คิดแต่ว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายสูงของรัฐ ซึ่งเห็นความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรัฐบาลชุดนี้ ที่จะให้เฉพาะเจาะจง ”

สังคม เจริญทรัพย์  คณะกรรมการประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ.)  กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่า พอช.ออกมาสนับสนุนภาคประชาชนให้เคลื่อนไหวคัดค้าน รมว.พม.โดยยืนยันไม่เป็นความจริง  และ คปอ.ซึ่งจะมีตัวแทนมาจากประเด็นต่างๆในระดับพื้นที่ หรือชาวบ้าน ไม่ได้อยู่ในอันเดอร์ พอช. และจะคิดว่าต้องสั่งได้ กำกับได้ เป็นเรื่องที่คิดผิดอย่างมาก เพราะพวกเราไม่ได้มีนายเป็นรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานราชการ หรือ ไม่มีนายเป็น พอช. 

เราจึงไม่ต้องการรัฐมนตรีที่ไม่เข้าใจ ว่าพวกเราจะพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งได้อย่างไร มองแค่ได้รับเงินจากรัฐบาลมาเท่าไหร่ ก็สงเคราะห์ไป คนชราได้กี่คน เด็กได้กี่คน เป็นวิธีการแบบประชาสงเคราะห์

“ เราเสียดายเวลา 7 ปีของท่าน ขณะที่รัฐมนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล อย่าง รมว.พม.เมื่อไม่สนับสนุนการทำงานของชาวบ้าน และยังจะทำลายองค์กรที่สนับสนุนชาวบ้านด้วย เราไม่อยากทำงานกับรัฐมนตรีคนนี้ ขอปลดรัฐมนตรีคนนี้ และขอชี้แจงว่า พอช.ไม่ได้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้  ”

ภาคประชาชน ชี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมศูนย์จัดสรรทรัพยากร สร้างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า 7 ปีของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและการมีอยู่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันภายใต้การนำของพรรคชาติไทยพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา ไม่มีวิสัยทัศน์ในการจัดการพื้นที่ป่า และเป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ

ไล่เลียงตั้งแต่ช่วงยุครัฐบาล คสช. หลังการทำรัฐประหาร  ก็มีการออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 /2557 เป็นคำสั่ง คสช. ฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินป่าไม้ ที่น่าสงสัยแล้วก็น่าตั้งคำถามว่า ทำไมเรื่องพื้นที่ป่าจึงกลายเป็นวาระแรก ๆ ที่รัฐบาลทหารตั้งใจที่จะขยายอำนาจเข้าไป และแม้สุดท้ายคำสั่งนี้จะถูกยกเลิกไป  แต่เหมือนว่าสิ่งนี้ยังไม่ถูกยกเลิก เพราะวันที่ 6 สิงหาคม เมื่อปี 2557 มีแผนแม่บท แก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่ดินของรัฐ การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน หรือว่าเรียกสั้นๆว่าแผนแม่บทป่าไม้ขึ้นมา แต่จริงแล้วๆหากดูรายละเอียดของแผนแม่บทป่าไม้นี้ กลับเป็นการเข้ายึดพื้นที่ห้ามประชาชนทำกิน

“ ที่น่าตั้งข้อสังเกต จะเห็นว่าคดีบุกรุกป่าทั้งหมด คือประมาณ 13,713 คดี แต่ที่แปลก คือ คดีมีตัวผู้กระทำความผิดก็คือจับคนได้ซึ่งหน้า จับคนเข้าคุกได้ เข้ากระบวนการยุติธรรมได้ 1,484 คดี เท่านั้นเอง ประมาณไม่ถึง 10% ของตัวเลขทั้งหมด แล้วที่จับตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ก็คือ 12,229 คดี เป็นตัวเลขที่สูงมาก นั่นหมายความว่าปฏิบัติการกฎหมายแล้วก็แผนแม่บททั้งหมด มันสะท้อนให้เห็นว่า จริงๆแล้วปฏิบัติการของกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ใช่การจับคนผิด แต่คือการยึดที่ดิน”

ทั้งนี้ยังพบว่าในช่วงการบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบันมีอีกหลายคดี หลายกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ป่า แต่ที่ชัดเจนอย่างมากคือกรณีบางกลอย ที่ชาวบ้านเพียงแค่กลับไปทำกินตามวิถีที่ดินทำกินเดิมของพวกเขา เพราะที่รัฐจัดสรรให้ทำกินไม่ได้ และพวกเขาได้รับผลกระทบหนักจากโควิด แต่สุดท้ายกลับโดนคดี  ซึ่งตรงข้ามและย้อนแย้งกับข้อมูล 5 ตระกูลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศไทย บางตระกูลมีที่ดินในมือเท่ากับจังหวัดทั้งจังหวัด นี่คือความเหลื่อมล้ำชัดเจน เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำชัดเจนมาก

วิศรุต ศรีจันทร์ เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่าความล้มเหลวภายใต้รัฐบาล 7 ปี ของพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ปัญหาเกิดขึ้นหลังมีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2560 ซึ่งเขาเห็นว่า ตัดตอนและริดรอนสิทธิของภาคประชาชน ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญ  รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ส่งผลต่อการจำกัดสิทธิของภาคประชาชน อีกส่วนคือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่กำลังพยายามรวมศูนย์ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรทุกมิติ และออกกฎหมายนโยบายที่จำกัดสิทธิกดทับประชาชน สะท้อน 3 ปัญหาหลัก คือรวมศูนย์ผูกขาด,ครอบครอง กระจุก , จนนำมาสู่ปัญหาการจนกระจาย จึงมี 3 ข้อเสนอ คือการทำโฉนดชุมชน การมีภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า  และการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่สอดคล้องกับบริบท  และอีกส่วนที่สำคัญมาก คือการบัญญัติเรื่องจัดการที่ดินและทรัพยากรไว้ในรัฐธรรมนูญ

ภาคประชาชน ตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเท่าเทียมทุกมิติ ลดเหลื่อมล้ำด้วยสวัสดิการประชาชน ตั้งแต่เกิดจนตาย

ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ประกาศว่าจะลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่เท่าที่ฟังหลายคนกลับเห็นว่า เป็นรัฐบาลที่สร้างความยากจน ขยายความเหลื่อมล้ำ ทิ้งคนจนและอุ้มคนรวย และที่สำคัญคือการควบคุมองค์กรชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมด้วย  ให้โอกาสนายทุนที่มีที่ดินมหาศาล ให้ผูกขาดระบบเศรษฐกิจ ระบบกินรวบได้ทั้งระบบ และเมื่อรัฐนี้เป็นรัฐราชการที่สืบทอด คสช.เพราะฉะนั้นการรวมศูนย์อำนาจ การกระชับอำนาจ การปกป้องโครงสร้างอำนาจเดิมจึงมีการกระชับและทำเข้มข้นมาก และสิ่งสำคัญที่สุดคือการไปกำหนดทิศทางพัฒนา อันนี้แหละที่สร้างความไม่เป็นธรรมสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น 

“ และในสถานการณ์โควิด และสถานการณ์ใหม่ที่จะเกิดข้างหน้า เชื่อว่าจะทำให้สังคมเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยากจนหลายๆเรื่อง มันสะท้อนว่า ปัญหาเก่าไม่แก้ไข ปัญหาใหม่วิกฤต เราเห็นภาพวิกฤตสุขภาพ ทั้งโควิด มลพิษธรรมชาติ มีวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม วิกฤตทรัพยากรเสื่อมโทรม เศรษฐกิจพังชาวบ้านยากจน ขยายจำนวนมาก  ”

ชัชวาล ระบุด้วยว่า ที่สำคัญคือวิกฤตทางการเมือง เพราะดูแล้วไม่สามารถพาสังคมไปสู่สังคมสันติสุขได้ หลังเกิดวิกฤตเศรษฐิกิจ แรงงานต้องกลับบ้าน คนรุ่นใหม่กลับบ้าน แต่ต้องไปเจอกับการล๊อคทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ เขตป่าสงวน คิดเป็น 40%  หรือ 8 ล้านไร่ หรือเกือบครึ่งของประเทศ ประชาชนที่ถูกล๊อคในพื้นที่เหล่านี้ คือชุมชนที่ถูกประกาศทับที่ทำกินที่อยู่อาศัย  ถูกละเมิดสิทธิชุมชน ถูกจำกัดสิทธิการพัฒนาเพราะทุกกระทรวงไม่สามารถเข้าไปพัฒนาได้เลย นี่คือการสร้างความเหลื่อมล้ำชัดเจน ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

“ ผมคิดว่า คงต้องถึงเวลาแล้ว ที่ขบวนองค์กรชุมชน พี่น้องชุมชนต่างๆ องค์กรพัฒนาทุกข่ายคงต้องเชื่อมเครือข่ายพลังสังคมต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น ผนึกกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ เพื่อไปสู่สังคมเป็นธรรม เท่าเทียม ”

ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการทรัพยากรใหม่ ต้องกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงในเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัยต้องเป็นธงสำคัญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เป็นระบบเศรษฐกิจที่แบ่งปัน ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น การผลิตยั่งยืน ลดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม 

ที่สำคัญทางด้านสังคม ต้องมีระบบสวัสดิการชัดเจนตั้งแต่เกิดจนตาย การเคารพความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เริ่มจากประชาธิปไตยที่ชัดเจนก่อน มีการกระจายอำนาจสิทธิชุมชนชัดเจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ