“เครือข่ายคนไร้บ้าน” ขอเข้าถึงวัคซีน – เสนอตั้งศูนย์ดูแล ลดเสี่ยงติดเชื้อ

เปิดผลสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ พบปัญหาไร้อุปกรณ์ป้องกันโรค ส่วนใหญ่รอรับบริจาคหน้ากากอนามัย ใช้ซ้ำหลายวัน เข้าไม่ถึงสิทธิเยียวยา ไม่ได้รับตรวจคัดกรองโรค ขาดแคลนอาหาร


ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพ คนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ หรือ “บ้านเตื่อมฝัน” ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย แถลงการณ์ผลสำรวจปัญหาผลกระทบโควิด-19 ต่อคนไร้บ้านในจังหวัดต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีตัวแทนคนไร้บ้านทั่วประเทศร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม : รัฐฯ คุมระบาดโควิด-19 เชิงรุกกับคนไร้บ้านที่ถูกลืม


ตัวแทนเครือข่ายศูนย์คนไร้บ้าน จ.ระยอง ระบุว่า พบปัญหาการเข้าถึงสิทธิการเยียวยา การรับมอบของ เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 และพบความเสี่ยงในชีวิตของคนไร้บ้าน จากวิถีชีวิตที่ต้องเดินทาง เร่ร่อน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การเข้าไม่ถึงสิทธิการคัดกรองโรค และโควต้าการได้รับวัคซีน ทั้งยังไม่ทราบถึงนโยบายการฉีดวัคซีนในวงกว้าง เพราะขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บางคนไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิ์การเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ


ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี สะท้อนถึงปัญหา การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันโรค บางคนกลัวการฉีดวัคซีน มีความเข้าใจว่าอันตราย จึงเสนอให้มีจุดประสานงาน โดยการรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั้งนี้ในบางคนไม่มีรายได้ ตกงาน จึงมีความต้องการหาแหล่งงาน และยังพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ไร้การเยียวยา พร้อมแจ้งว่าพบคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย 


ขณะที่ ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.กาญจนบุรี ได้สรุปภาพรวมว่า การระบาดในระลอกนี้คนไร้บ้าน ถูกมองข้ามมากขึ้น ขาดการช่วยเหลือดูแล จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือตรวจคัดกรองโรคให้กับคนไร้บ้าน รวมถึงสนับสนุนอาหารที่กำลังขาดแคลน


ส่วน ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ก็ยอมรับว่า มีคนไร้บ้านว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปกติรับจ้างทั่วไปรายวัน แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ดี จึงไม่สามารถหางาน หาเงินได้ และการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐไม่ทั่วถึงเพียงพอ จึงขอให้มีการช่วยเหลือดูแลคนไร้บ้านในส่วนนี้ด้วย


ภาวัต เป็งวันผูก คณะทำงานคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยผลสำรวจข้อมูลคนไร้บ้าน วันที่ 3 – 8 พ.ค.ที่ผ่านมา รวม 330 คนจากทั่วประเทศ พบว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานตอนปลาย อายุ 36 – 60 ปี แม้ว่าจะเป็นคนไทย แต่ไม่มีบัตรประชาชน เพราะบัตรหมดอายุ สูญหาย ไม่ได้ทำบัตรใหม่

คนไร้บ้านส่วนใหญ่รับรู้ว่าเกิดโรคระบาดขึ้น แต่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากากอนามัย พบว่า ร้อยละ 74 ต้องรอคอยให้คนมาบริจาค ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เฉลี่ย 1 ชิ้น ต่อการใช้งาน 3 วัน ทั้งยังพบว่า คนไร้บ้าน ร้อยละ 59 ไม่เคยเข้าถึงนโยบายของรัฐ​ จึงมองว่า “คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่คือผลลัพธ์ของปัญหาในสังคม”


ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพ คนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ และเครือข่าย จึงร่วมกันออกแถลงการณ์ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา ผลกระทบต่อคนไร้บ้าน จากวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

  1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดประสานงานในพื้นที่สาธารณะในแต่ละจังหวัด ที่ใกล้กับพื้นที่การใช้ชีวิตของคนไร้บ้าน กระจายตามจุดต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยง และความแออัดจากการรวมตัวกัน  โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นเจ้าภาพหลัก และประสานการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่  เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจุดประสานงานทำหน้าที่

  • ให้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ข้อมูลการป้องกันตัวเอง และการเข้าถึงวัคซีนในระยะต่อไป
  • ให้บริการอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สำหรับคนไร้บ้าน
  • ประสานบ้านพักฉุกเฉินของรัฐ หรือส่งต่อสถานพยาบาล กรณีพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดโรคระบาด หรือ เมื่อพบการติดเชื้อโควิด-19
  • ประสานงานการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐด้านต่าง ๆ เช่น บัตรประชาชน, เข้าถึงการรักษาพยาบาล, การช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐ
  • บริการจัดหางานระยะสั้น กรณีที่คนไร้บ้านต้องการเข้าถึงการจ้างงาน เพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน

2. ต้องไม่ขับไล่ กวาดต้อนให้คนไร้บ้านออกจากที่สาธารณะ เพราะจะเกิดการเคลื่อนย้าย และไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ ดูแล เมื่อมีความเสี่ยงที่จะติดโรค เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงการช่วยเหลือได้ทันท่วงที 

3. รัฐบาลต้องมีนโยบายให้คนไร้บ้านได้รับการฉีดวัคซีน  ในสถานที่ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้ง่าย   

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้